ชื่อ | เขียวหอม |
สูตรตำรับ | ในผงยา 90 กรัม ประกอบด้วย ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย ใบสันพร้าหอม รากแฝกหอม หัวเปราะหอม แก่นจันทน์ขาวหรือจันทน์ชะมด แก่นจันทน์แดง ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง เนระพูสี พิษนาศน์ มหาสดำ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง หนักสิ่งละ 5 กรัม |
ข้อบ่งใช้ | 1. บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้า 2. แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและอีสุกอีใส) |
ขนาดและวิธีใช้ | • ชนิดผง ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ เด็ก อายุ 6 – 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ละลายน้ำกระสายยาทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ น้ำกระสายยาที่ใช้ กรณีบรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ ใช้น้าสุก หรือน้ำดอกมะลิ เป็นน้ำกระสายยา กรณีแก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส ละลายน้ำรากผักชีต้ม เป็นน้ำกระสายยา ทั้งรับประทาน และชโลม หมายเหตุ การชโลมใช้ยาผงละลายน้ำ 1 ต่อ 3 แล้วชโลม (ประพรม) ทั่วตามตัวบริเวณที่ตุ่มใสยังไม่แตก • ชนิดเม็ด ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ เด็ก อายุ 6 - 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ |
ข้อห้ามใช้ | - |
ข้อควรระวัง | • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ • ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก • หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ |
อาการไม่พึงประสงค์ | - |
ข้อมูลเพิ่มเติม | • ทางการแพทย์แผนไทย แนะนำให้ผู้ป่วยหัด อีสุกอีใส ห้ามรับประทานอาหารทะเล ไข่ และน้ำเย็น เนื่องจากผิดสำแดง • ในสูตรตำรับได้ตัดไคร้เครือออก เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยบ่งชี้ว่าไคร้เครือที่ใช้ และมีการจำหน่ายในท้องตลาด เป็นพืชในสกุล Aristolochia ซึ่งพืชในสกุล Aristolochia มีรายงานพบว่าก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อไต (nephrotoxicity) และเมื่อปี ค.ศ. 2002 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้พืชสกุล Aristolochia เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ |
องค์ประกอบทางเคมี | - |
การศึกษาทางเภสัชวิทยา | ฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัส Varicella zoster (VZV) ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส และงูสวัด โดยเลือกยาเขียว 3 ยี่ห้อในตลาดของไทย มาสกัดด้วย 20% ethanol ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดความเข้มข้น 250 ug/dL สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่าที่ความเข้มข้น 250 ug/dL คือความเข้มข้นสูงสุดที่ไม่ก่อให้เกิดพิษต่อเซลล์ วิธีการทดสอบสารสกัดยาเขียวหอม โดยนำมาบ่มกับไวรัส ก่อนที่จะให้ infect เข้าเซลล์เพื่อดูว่าสารสกัดมีฤทธิ์ neutralize ไวรัสหรือไม่ (pre-treatment) พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อ VZV อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ virus control ทั้งนี้น่าจะเนื่องจาก interaction ของสารสกัดยาเขียวหอมกับ VZV particle ทำให้ไวรัสถูก inactive และเสียความสามารถในการทำให้เซลล์ติดเชื้อ โดยที่ความเข้มข้นนี้ยังเป็นความเข้มข้นที่ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ IMR-90 แต่ในขณะที่การทดสอบการทำ post-treatment เพื่อดูการยับยั้งการเพิ่มจำนวน (replication) ของไวรัส พบว่าสารสกัดยาเขียวหอมทุกยี่ห้อไม่สามารถยับยั้งการติดเชื้อไวรัสได้ในทุกๆ ความเข้มข้น สำหรับสารสกัดยาเขียวที่ใช้สำหรับการทดสอบ pre-treatment แสดงเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัส ของยาเขียวหอมยี่ห้อ A, B และ C ลดลง 10%, 15.1% และ 10.65% ตามลำดับ ดังนั้นในยาเขียวหอมน่าจะมีสารบางชนิดจากพืชสมุนไพรที่เป็นองค์ประกอบที่ทำหน้าที่ยับยั้งไวรัส VZV ได้ การศึกษาในขั้นต่อไปควรจะมีการทดสอบสมุนไพรเดี่ยวของยาเขียว ซึ่งอาจจะทำให้เห็นผลของสมุนไพรเดี่ยวได้ดียิ่งขึ้น และลดความเป็นพิษของสมุนไพรบางตัวลง อย่างไรก็ตามผลของการใช้ยาเขียวหอมในการลดอาการของโรคอาจเนื่องจากฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ได้ (ดลฤดี และคณะ, 2548) ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในโรคอีสุกอีใส การศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียของตำรับยาเขียวหอม และพืชที่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งใช้ในการรักษาอาการไข้, หัด, อีสุกอีใส และการติดเชื้อที่ผิวหนัง การศึกษานี้ได้นำเอาตำรับยาเขียวหอม และพืชที่เป็นองค์ประกอบมาทำการสกัดด้วยวิธีการหมัก ใน 95% เอทานอล และการต้มในน้ำ จะได้สารสกัดเอทานอล และสารสกัดน้ำออกมาตามลำดับ จากนั้นนำมาหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (Minimum Inhibitory Concentration:MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อ (Minimum Microbicidal Concentration:MMC) ได้ โดยใช้เทคนิค microtiter plate-based assay โดยทดสอบกับเชื้อ Staphylococcus aureus (ATCC 25923), Methicillin-resistant Staphylococcus aureus (DMST 20651) (MRSA), Staphylococcus epidermidis (ATCC 12228) และเชื้อรา Candida albicans (ATCC 90028) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอล ของตำรับยาเขียวหอมมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus, MRSA และ S. epidermidis ด้วยค่า MIC เท่ากับ 0.625, 0.625 และ 1.25 mg/ml ตามลำดับ ค่า MMC เท่ากับ 1.25, 0.625 และ 2.5 mg/ml ตามลำดับ ส่วนสารสกัด ของพืชแต่ละชนิดที่เป็นส่วนประกอบในตำรับ พบว่าสารสกัดเอทานอลของสารภี มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อทั้ง 3 ชนิดนี้ได้ดีที่สุด โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.005, 0.005 และ 0.039 mg/ml ตามลำดับ และค่า MMC เท่ากับ 0.005, 0.005 และ 0.039 mg/ml ตามลำดับ ส่วนสารสกัดน้ำของสมุนไพรเดี่ยวบางชนิดในตำรับ มีฤทธิ์อ่อนในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดเอทานอล และสารสกัดน้ำของตำรับยาเขียวหอม รวมทั้งสารสกัดน้ำของสมุนไพรเดี่ยวในตำรับไม่สามารถยับยั้งเชื้อ C. albicans ในขณะที่สารสกัดเอทานอลของพิษนาศน์ มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราชนิดนี้ได้ดีที่สุดโดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.625 mg/ml และค่า MMC เท่ากับ 0.625 mg/ml จากการศึกษานี้แสดงว่าสารสกัดเอทานอลของตำรับยาเขียวหอม มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus, methicillin-resistant S. aureus (MRSA) และ S. epidermidis ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ผิวหนังแทรกซ้อนในโรคอีสุกอีใสได้ และเป็นข้อมูลสนับสนุนการใช้ตำรับยาเขียวหอมในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในโรคอีสุกอีใสได้ (Sukkasem, et al., 2016) ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของตำรับยาเขียวหอมต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 7 ชนิด และแบคทีเรียแกรมลบที่ดื้อยาหลายชนิด (multidrug-resistant bacteria:MDRO) โดยนำสารสกัดเอทานอลของตำรับมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียด้วยวิธี broth microdilution method ผลการทดลองพบว่า ตำรับยาเขียวหอมมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก ได้แก่ Staphylococcus aureus ATCC 25923, Methicillin resistant S. aureus (MRSA) สายพันธุ์ NPRC R004 และ S. epidermidis ATCC 35984 โดยมีค่า MIC เท่ากับ 31 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งแสดงว่าตำรับยาเขียวหอมมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย (Chusri, et al., 2014) |
การศึกษาทางคลินิก | - |
การศึกษาทางพิษวิทยา | การศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ การศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ของตำรับยาเขียวหอม โดยนำสารสกัดเอทานอลของตำรับมาศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ เพื่อทดสอบความปลอดภัยของตำรับ โดยทดสอบในหลอดทดลอง ศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยงชนิด Vero cells โดยใช้เทคนิค green fluorescent protein–based assay การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของตำรับยาเขียวหอม มีค่า IC50 มากกว่า 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (ความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารมาตรฐาน ellipticine มีค่า IC50 เท่ากับ 0.8 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) ซึ่งแสดงว่าตำรับยาเขียวหอมไม่ทำให้เกิดพิษ (Chusri, et al., 2014) |
เอกสารอ้างอิง | 1. ดลฤดี สงวนเสริมศร, สุภาภรณ์ ล้ำเลิศธน, สุธาทิพย์ พงษ์เจริญ, กัลยา ปรีชานุกูล, สุภาพร ภูมิอมร, เดือนถนอม พรหมขัติแก้ว. ฤทธิ์การต้านเชื้อไวรัส Varicella zoster ของตำรับยาเขียว (Anti-Varicella zoster virus of Ya-keaw remedies). โครงการวิจัยภายใต้ทุนสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 2548. 2. Chusri S, Sinvaraphan N, Chaipak P, Luxsananuwong A, Voravuthikunchai SP. Evaluation of antibacterial activity, phytochemical constituents, and cytotoxicity effects of Thai household ancient remedies. Journal Of Alternative And Complementary Medicine. 2014;20(12):909-918. 3. Sukkasem K, Panthong S, Itharat A. Antimicrobial Activities of Thai Traditional Remedy “Kheaw-Hom” and Its Plant Ingredients for Skin Infection Treatment in Chickenpox. J Med Assoc Thai. 2016;99(Supply 4.):S116-S123. |
ดูรายละเอียดของเครื่องยาในตำรับ |