กะเพราแดง

ชื่อเครื่องยา

กะเพราแดง

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ใบ และยอด, ราก

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

กะเพราแดง

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

กอมก้อ กอมก้อดง (เชียงใหม่) กะเพรา กะเพราขน กะเพราขาว กะเพราแดง (ภาคกลาง) ห่อกวอซู ห่อตูปลู (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) อิ่มคิมหลำ (ฉาน แม่ฮ่องสอน) อีตู่ไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Ocimum tenuiflorum L.

ชื่อพ้อง

Geniosporum tenuiflorum (L.) Merr., Lumnitzera tenuiflora (L.) Spreng., Moschosma tenuiflorum (L.) Heynh., Ocimum anisodorum F.Muell., Ocimum caryophyllinum F.Muell., Ocimum hirsutum Benth., Ocimum inodorum Burm.f., Ocimum monachorum L.,,Ocimum sanctum L., Ocimum scutellarioides Willd. ex Benth., Ocimum subserratum B.Heyne ex Hook.f., Ocimum tomentosum Lam., Plectranthus monachorum

ชื่อวงศ์

Labiatae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ใบและลำต้นมีสีเขียวอมม่วงแดง ใบทั้งสองด้านมีขนมากโดยเฉพาะส่วนยอด เนื้อใบบาง ใบรูปร่างรีหรือรีขอบขนาน กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 2-4.5 เซนติเมตร ปลายใบและโคนใบอาจแหลมหรือมน ขอบใบค่อนข้างหยัก ใบและยอดรสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม

 

 

เครื่องยาใบกะเพราแดง

 

เครื่องยารากกะเพราแดง

 

 

เครื่องยาใบ และรากกะเพราแดง

 

เครื่องยาใบกะเพราขาว

 

เครื่องยากะเพราขาว

 

กะเพราขาว

 

กะเพราแดง

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณน้ำไม่เกิน 14% v/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2.0% w/w  ปริมาณเถ้าซัลเฟต ไม่เกิน 20.0% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 5% w/w  ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำ ไม่น้อยกว่า 20% w/w  ปริมาณสารสกัดด้วยคลอโรฟอร์ม ไม่น้อยกว่า 5% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 1% v/w 

สรรพคุณ:                                                                                                                                    

           ตำรายาไทย: ใช้ใบและยอดกะเพราะ ลดอาการท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับผายลม แก้อาการจุกเสียดในท้อง ทำให้เรอ แก้ท้องร่วง แก้คลื่นไส้อาเจียน ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ใช้ทาภายนอกแก้โรคผิวหนัง แก้อาการปวดท้องในเด็กทารก ใช้ใบสดตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำนำมาผสมกับน้ำยามหาหิงคุ์ แล้วใช้ทาบริเวณ รอบๆสะดือ และทาที่ฝ่าเท้าแก้อาการปวดท้องของเด็กได้ ใช้เป็นยาเพิ่มน้ำนมสตรีหลังคลอด ขับน้ำนม บรรเทาอาการไข้เรื้อรัง แก้ปวดฟัน
           ตำรายาไทยระบุว่า “กะเพราะทั้ง 2” (กะเพราะขาว-กะเพราแดง) ใช้ทั้ง 5 ส่วน มีรสเผ็ดร้อน เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แต่ในทางยานิยมใช้กระเพราะแดงมากกว่ากระเพราะขาว เพราะมีฤทธิ์ทางยามากกว่า
           โบราณใช้น้ำคั้นใบกะเพรา กินเพื่อขับเหงื่อ แก้ไข้ ขับเสมหะ ขับลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย ทาผิวหนังแก้กลากเกลื้อนและโรคผิวหนังอื่นๆ ใช้หยอดหู แก้อาการปวดหู ใบกะเพราะทำเป็นยาชง ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ และขับลมในเด็กอ่อน คนไทยสมัยก่อนนิยมกินแกงเลียงใบกะเพราหลังคลอดบุตร เพื่อขับลมและบำรุงธาตุให้เป็นปกติ
          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ใบกะเพรา ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในกลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ตำรับ “ยาประสะมะแว้ง”  มีสรรพคุณใช้บรรเทาอาการ ไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของรากและใบกะเพราร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

          ยาพื้นบ้านของอินเดีย: ใช้น้ำคั้นจากใบกินขับเหงื่อ แก้ไข้ ขับเสมหะ ทาที่ผิวหนังแก้กลาก หยอดหูแก้ปวดหู ชงกินเป็นยาบำรุงธาตุ ขับลม ในชวาใช้ใบปรุงอาหาร รับประทานเพื่อขับน้ำนม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           1. ลดอาการท้องอืดเฟ้อ ขับลม ปวดท้อง ใช้ใบสด  1  กำมือ  (น้ำหนักสดประมาณ  25 กรัม  หรือใบแห้ง  4  กรัม  ต้มให้เดือด เอาแต่น้ำดื่ม หรือจะใช้ใบกะเพราะแห้ง ชงกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม ถ้าป่นเป็นผงให้ชงกับน้ำรับประทาน ในเด็กอ่อนใช้ใบสด ใส่เกลือเล็กน้อยบดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งหยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยด เป็นเวลา 2-3 วัน จะช่วยขับลมและถ่ายขี้เทา
           2. แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ) ใช้ใบและยอดสด  1  กำมือ (ประมาณ 25 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม

องค์ประกอบทางเคมี:                                                                                                                             
           ใบมีน้ำมันระเหยง่าย 1.7% ประกอบด้วย methyl eugenol (37.7%), caryophylllene, methyl chavicol, linalool , ocimol, pinene, camphor, camphene, sabinene, limonene, cineol, borneol, terpinolene, terpinene, cymene สารกลุ่มอื่นๆ ที่พบเช่น apigenin, luteolin

           การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีเพื่อวิเคราะห์สารสำคัญของใบกะเพราขาว และกะเพราแดงโดยสกัดน้ำมันหอมระเหยด้วยวิธีกลั่นด้วยน้ำ (water distillation) แล้วนำไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยเครื่อง gas chromatography mass spectrometry (GC-MS) พบว่าองค์ประกอบหลักของน้ำมันหอมระเหยกะเพราขาว และกะเพราแดงคือ methyl eugenolพบร้อยละ 54.29 และ 51.21 ตามลำดับ รองลงมาคือสาร caryophyllene (จิราภรณ์และคณะ, 2558)



การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดอาการปวด

          การศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบของน้ำมันระเหยยากจากกะเพรา พบว่าสามารถลดการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อทดสอบด้วยวิธีใช้คาราจีแนนเหนี่ยวนำการอักเสบที่อุ้งเท้าหนู และมีนัยสำคัญในการยับยั้งอาการท้องเสีย ในการทดสอบโดยเหนี่ยวนำหนูแรทให้ท้องเสียด้วยน้ำมันละหุ่ง กลไกการลดการอักเสบ โดยการยับยั้งสารที่เกี่ยวข้องกับขบวนการอักเสบได้แก่ arachidonic metabolism,cyclooxygenase และ lypoxygenase โดยสารสกัดกะเพราขนาด 3.0 ml/kg สามารถลดการบวมของอุ้งเท้าหนูแรทที่ถูกตัดต่อม adrenal และหนูปกติ พบว่าสามารถลดการบวมได้ไม่แตกต่างกันที่ 66.66% และ 68.34% ตามลำดับ โดยใช้ phenylbutazone 100 mg/kg เป็นสารมาตรฐาน พบว่าสามารถลดการบวมได้ ไม่แตกต่างกันกับน้ำมันกะเพรา (สารมาตรฐานลดการบวมได้ 72.22% และ 69.34% ตามลำดับ) แสดงว่าฤทธิ์ลดการอักเสบไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อม adrenal ที่พิทูอิตารี (Singh, et al., 1996)

         การทดสอบฤทธิ์ลดอาการปวดของสารสกัดกะเพรา ที่สกัดด้วยตัวทำละลาย 2 ชนิด ได้แก่ เมทานอล และน้ำ เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน sodium salicylate โดยสารสกัดกะเพราะสามารถลดการอักเสบได้ทั้งในระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง เมื่อใช้คาราจีแนนเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูแรทบวม และใช้น้ำมันละหุ่งเหนี่ยวนำให้เกิด granuloma (เป็นการอักเสบเรื้อรัง ชนิดหนึ่ง บริเวณที่อักเสบพบเซลล์ชนิด epitheloid cells หรือ histiocytes และ macrophages ร่วมกับ fibroblastic tissue และ เซลล์อักเสบ lymphocytes เซลล์เหล่านี้ มักอยู่ รวมกัน เป็นกลุ่มก้อน เรียกว่า granuloma) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอล และน้ำ ของกะเพราะในขนาด ขนาด 500 mg/kg ออกฤทธิ์ได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน sodium salicylate ขนาด 300 mg/kg สารสกัดทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ลดปวด เมื่อทดสอบในหนูเม้าส์ ด้วยวิธีทดสอบ hot-plate สารสกัดทั้งสองชนิดสามารถลดไข้ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน typhoid-paratyphoid A/B ได้แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า sodium salicylate ขนาด 300 mg/kg และสารสกัดทั้งสองชนิดสามารถเพิ่มระยะเวลาก่อนที่จะเกิดอาการท้องเสียในหนูแรท ที่ถูกเหนี่ยวนำให้ท้องเสียด้วยน้ำมันละหุ่งได้ (Godhwani, et al., 1987)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

        ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมีของสารสกัดกะเพราขาว และกะเพราแดง โดยวิธี FRAP (Ferric reducing ability of plasma), ABTS (2,2-azino-bis[3-ethylbenz-thiazoline-6-sulphonate]) และ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) พบว่ากะเพราแดงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่ากะเพราขาว รายงานการทดสอบสารสกัดเมทานอลจากกะเพรา พบว่ามีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ได้แก่อนุมูลซุปเปอร์ออกไซด์แอนไอออน อนุมูลไฮดรอกซิล อนุมูลเปอร์ออกไซด์ และจับกับโลหะเหล็ก (เนื่องจากเหล็กอิสระที่มีอยู่ทั่วร่างกายสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะ oxidative stress ตามมา) ซึ่งส่วนใบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่ากิ่ง และช่อดอก การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดเมทานอลของกะเพรามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง น้ำมันกะเพราแดงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่ากะเพราขาว ในน้ำมันหอมระเหยมีสาร eugenol เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งเป็นสารที่มีสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งปฏิกิริยาลิพิดเปอร์ออกซิเดชัน (การเกิดออกซิเดชันของไขมัน) พบสารฟลาโวนอยด์ 2 ชนิด ได้แก่ orientin และ vicenin ในใบกะเพรา ซึ่งสามารถยับยั้งปฏิกิริยาลิพิดเปอร์ออกซิเดชันในตับหนูด้วยความเข้มข้นต่ำประมาณ 10-500 ไมโครโมลาร์ โดยยับยั้งการเกิดอนุมูลไฮดรอกซิลที่เกิดจากปฏิกิริยาเฟนตัน มีรายงานสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารฟีนอลิกในใบกะเพรา 6 ชนิด ได้แก่ cirsilineol, cirsimaritin, isothymusin, isothymonin, apigenin และ rosmarinic acid และพบว่าสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารบริสุทธิ์ urolic acid จากกะเพรา พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงถึง 60% และสามารถลดปฏิกิริยาลิพิดเปอร์ออกซิเดชันในตับ และไมโครโซมของหัวใจสัตว์ทดลอง ที่ได้รับยา Adriamycinจากองค์ประกอบทางเคมีที่พบในกะเพรา พบสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น วิตามินซี เบต้าแคโรทีน สารฟลาโวนอยด์ และสารฟีนอลิกหลายชนิด (สุกัญญา, 2555)

       การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง และทำการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของนํ้ามันหอมระเหย จากใบกะเพรา ด้วยเทคนิค Gas Chromatography/Mass spectroscopy (GC/MS) ผลการทดสอบพบว่าองค์ประกอบหลักในนํ้ามันหอมระเหยจากใบกะเพรา ได้แก่ methyl eugenol 43.44%, caryophyllene 22.30%, eugenol 13.89 % เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี คือ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) radical scavenging assay พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบกะเพราในขนาดความเข้มข้น 10 µl/ml สามารถกำจัดอนุมูลอิสระได้ร้อยละ 90.84±1.79 โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐานทั้งสองชนิด ค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (IC50) ของน้ำมันหอมระเหย, สารมาตรฐาน BHT และวิตามินอีอะซิเตต เท่ากับ 0.037±0.003, 0.076±0.012 และ 42.500±7.280 mg/ml ตามลำดับ ผลการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชันด้วยวิธี thiobarbituric acid reactive substances (TBARs) พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบกะเพรา ในขนาดความเข้มข้น 0.95 µl/ml สามารถยับยั้งการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชันได้ร้อยละ 68.10±6.79 โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐานวิตามินอีอะซิเตต ค่า IC50 ของน้ำมันหอมระเหย, สารมาตรฐาน BHT และวิตามินอีอะซิเตต เท่ากับ 0.073±0.003, 0.005±0.001 และ 18.153±1.471 mg/ml ตามลำดับ โดยสรุปน้ำมันหอมระเหยจากใบกะเพราะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH และยับยั้งการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน สูงกว่าสารมาตรฐานวิตามินอีอะซิเตต ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) (ประภัสสร และวัชรี, 2554)

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุ

       การศึกษาฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียของน้ำมันหอมระเหยจากกะเพรา ต่อเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ เอทีซีซี 25175 และสเตร็ปโตคอคคัส มิวแทนส์ เคพีเอสเคทู ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้ฟันผุโดยใช้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากใบของกะเพราโดยการกลั่นด้วยไอน้ำ ทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อด้วยวิธีอาการ์ดิสค์ดิฟฟิวชัน และไมโครบรอธไดลูชั่น ผลการศึกษาพบว่าน้ำมันหอมระเหยกระเพรา มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวงใสในการยับยั้งเชื้อได้ตั้งแต่ 7–25.95 มิลลิเมตร และฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ เคพีเอสเคทู ของน้ำมันหอมระเหยกะเพรามีศักยภาพสูงกว่าการต้านเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ เอทีซีซี 25175 โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุด (MIC) ของน้ำมันหอมระเหยที่สามารถยับยั้งเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ สายพันธุ์เอทีซีซี 25175 และสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ สายพันธุ์เคพีเอสเคทู เท่ากับ 0.188 และ 0.047 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ส่วนค่าความเข้มข้นต่ำสุดของน้ำมันหอมระเหยใบกะเพราที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC) สเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ สายพันธุ์เอทีซีซี 25175 และสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ สายพันธุ์เคพีเอสเคทู เท่ากับ 0.377 และ 0.095 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ผลการศึกษานี้อาจเป็นแนวทางในการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อการนำน้ำมันหอมระเหยกะเพรา ไปพัฒนาใช้ประโยชน์ในการป้องกันหรือรักษาโรคฟันผุต่อไป (รัตติพร และคณะ, 2558)

ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในช่องปาก

      การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในช่องปากในหลอดทดลอง ของน้ำมันหอมระเหย จากกะเพราขาว และกะเพราแดง ต่อเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus mutans, Streptococcus pyogenes, Staphylococcus aureus และเชื้อรา Candida albicans ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคฟันผุ, โรคเหงือกอักเสบ, เกิดหนอง, โรคคออักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และโรคติดเชื้อราในช่องปาก เป็นต้น ทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราด้วยวิธี agar disc diffusion และทดสอบหาค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดที่สามารถยับยั้งและฆ่าเชื้อจุลชีพ (MIC และ MBC ตามลำดับ) และค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดที่ฆ่าเชื้อรา (MFC) ด้วยวิธี Broth dilution method จากการศึกษาพบว่า กะเพราขาว มีค่า MIC และ MFC ต่อเชื้อ C. albicans  ดีที่สุด ที่ขนาดความเข้มข้น 1.56 mg/mL ส่วนกะเพราแดง มีค่า MIC และ MBC ต่อเชื้อ S. pyogenes ดีที่สุด ที่ขนาดความเข้มข้น 0.78 mg/mL  สรุปผลการศึกษาได้ว่า น้ำมันหอมระเหยจากกะเพราขาว และกะเพราแดง สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในช่องปาก ได้แก่ เชื้อ S. pyogenes และเชื้อรา C. albicans ได้ดีที่สุด และมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ S. mutans ในระดับปานกลาง และยับยั้งเชื้อ S. aureus ได้น้อยที่สุด (จิราภรณ์ และคณะ, 2558)

ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP2D6

      ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP2D6 ของสารสกัดน้ำจากใบกะเพรา  CYP2D6 เป็นเอนไซม์ที่พบในตับ ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงยาหลายชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกาย (การยับยั้งการทำงานของ CYP2D6 จะทำให้ระดับยาในเลือดสูงกว่าปกติ และอาจทำให้เกิดพิษจากยาได้ แต่ถ้ามีการกระตุ้นการทำงานของ CYP2D6 ให้สูงกว่าปกติจะทำให้ระดับยาในเลือดต่ำ จนไม่ถึงขนาดที่ใช้รักษาโรคได้) ทำการทดสอบในหลอดทดลอง ในการเกิดปฏิกิริยาทางชีวเคมีจากการเปลี่ยนยา dextromethorphan ไปเป็น dexthorphan ซึ่งอาศัยเอนไซม์ CYP2D6 ที่มีอยู่ในไมโครโชมที่เตรียมจากตับหนู ทำการทดลองทั้งในสภาวะที่เติม และไม่เติมส่วนสกัดน้ำของพืช และวิเคราะห์หาปริมาณ dexthorphan ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาโดยเทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) ผลการศึกษาพบว่าส่วนสกัดน้ำของใบกะเพรา มีปริมาณ dexthorphan ที่เกิดจากปฏิกิริยา เท่ากับ 5.06 (±0.82) x10-3 mM คิดเป็นร้อยละ 45.75 และมีผลยับยั้งการทำงานของ CYP2D6  คิดเป็นร้อยละ 54.25 ซึ่งถือว่ายับยั้งได้ในระดับปานกลาง ดังนั้นการใช้สารสกัดน้ำจากใบกะเพราะร่วมกับยาที่มีเมตาบอลิซึมผ่าน CYP2D6 อาจทำให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้นได้  (Sethabouppha, et al., 2015)

 

 

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล


การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดใบด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 35,714 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

           การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเฉียบพลัน ของสารสกัด 50% เอทานอลของใบกะเพรา โดยการศึกษาพิษเฉียบพลัน ให้หนูได้รับสารสกัดกะเพราขนาด 200, 600 และ 2000 mg/kg เพียงครั้งเดียว แล้วประเมินพฤติกรรม ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ และอัตราการตาย ดูผลเป็นเวลานาน 14 วัน  การศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลัน หนูได้รับสารสกัดกะเพราขนาด 200, 400 และ 800 mg/kg เป็นเวลา 28 วัน ประเมินค่าชีวเคมีของเลือด เนื้อเยื่อของตับ ไต ม้าม หัวใจ และระบบสืบพันธุ์ ผลการศึกษาที่ได้ พบว่าไม่เกิดพิษใดๆ  (Gautamn and Goel, 2014)

           การศึกษาความเป็นพิษเรื้อรัง (chronic toxicity) ทำการทดลองในหนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ ให้สารสกัดน้ำจากใบกะเพราขนาด 100, 500 และ 1000 mg/kg เพียงครั้งเดียว และติดตามผลต่ออีก 30 วัน  บันทึกผลด้วยการวัดน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนไป  วัดระดับของ Protein, Urea, Creatinine, Uric acid, Lactate Dehydrogenase [LDH] วัดระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ Aspartate Transaminase [AST], Alanine Transaminase [ALT] ซึ่งพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงอยู่ในระดับปกติ (Uma, et al., 2013)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2. จิราภรณ์ โสดาจันทร์, บันลือ สังข์ทอง, สกุลรัตน์ รัตนาเกียรติ์. องค์ประกอบหลักทางเคมี และฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลชีพก่อโรคในช่องปากของน้ำมันหอมระเหยจากพืชสกุล Ocimum spp. วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน. 2558;11(ฉบับพิเศษ):304-310.

3. ประภัสสร วีระพันธ์, วัชรี คุณกิตติ. คุณสมบัติการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหยในหลอดทดลอง. วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน. 2554;7(3):30-38.

4. รัตติพร กายเพชร, ธนิยา หมวดเชียงคะ, ไพรินทร์ ต้นพุฒ.ฤทธิ์การต้านเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ของน้ำมันหอมระเหยกะเพรา. วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์มหิดล. 2558;35(3):311-319.

5. สุกัญญา เขียวสะอาด.กะเพรากับการต้านอนุมูลอิสระ. วารสารวิทยาศาสตร์ลาดกระบัง. 2555;21(2):54-65.

6. Gautamn MK, Goel RK. Toxicological Study of Ocimum sanctum L. Leaves:Hematological, Biochemical, and Histopathological Studies. Journal of Toxicology. 2014;2014:1-9.

7. Godhwani S, Godhwanim JL, Vyas DS. Ocimum sanctum: An experimental study evaluating its anti-inflammatory, analgesic and antipyretic activity in animals. J Ethnopharmacology.1987;21(2):153-163.

8. Sethabouppha B, Chanluang S, Lam LH, Suwannakul S. Screening of Thai plants for Inhibition of CYP2D6 enzyme activity. Journal of Science and Technology, Ubon Ratchathani University. 2015;17(3): 28-32.

9. Singh S, Majumdar DK, Rehan HMS. Evaluation of anti-inflammatory potential of fixed oil of Ocimum sanctum (Holybasil) and its possible mechanism of action. J Ethnopharmacology .1996; 54 :19-26.

10. Uma M, Suresh M, Thulasiraman K, Lakshmidevi E, Kalaiselvia P. Chronic toxicity studies of aqueous leaf extract of Indian traditional medicinal plant Ocimum tenuiflorum (L.) in rats. European Journal of Experimental Biology. 2013; 3(5):240-247.

 

ข้อมูลตำรับยาประสะมะแว้ง : www.thai-remedy.com

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม      www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting