เทียนขาว

ชื่อเครื่องยา

เทียนขาว

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ยี่หร่า

ได้จาก

ผลแก่แห้ง

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

เทียนขาว

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ยี่หร่า

ชื่อวิทยาศาสตร์

Cuminum cyminum L.

ชื่อพ้อง

Cuminia cyminum J.F.Gmel., Cuminum aegyptiacum Mérat ex DC., Cuminum hispanicum Mérat ex DC., Cuminum odorum Salisb., Cuminum sativum J.Sm., Cyminon longeinvolucellatum St.-Lag.

ชื่อวงศ์

Apiaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ผลแห้ง รูปยาวรี สีน้ำตาล กว้าง 1.3-2.0 มิลลิเมตร ยาว 4.5-6.7 มิลลิเมตร เมื่อแก่แตก แบ่งเป็น 2 ซีก แต่ละซีกมี 1 เมล็ด ซีกผลมีลักษณะด้านนอกนูน ด้านในที่ประกบกันหรือด้านแนวเชื่อม มีลักษณะเว้า ด้านที่นูนมีสันตามแนวยาวของผล ลักษณะคล้ายเส้นด้ายจำนวน 3 เส้น ด้านแนวเชื่อม 2 เส้น สันนูน พบขนแข็งสั้นๆ หักง่ายปกคลุมอยู่ที่สัน ระหว่างสันมีลักษณะเป็นเนินเล็กๆ มีขนแข็ง เมล็ดมีกลิ่นหอม น้ำมันจากเมล็ดมีรสชาติเผ็ดร้อน ขม

 

เครื่องยา เทียนขาว

 

เครื่องยา เทียนขาว

 

เครื่องยา เทียนขาว

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณน้ำไม่เกิน 10% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 3% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 9% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ไม่น้อยกว่า 2.5% v/w  (THP III)

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: มีฤทธิ์กระตุ้น ขับลม ใช้ขับผายลมในเด็ก ปรุงเป็นยาหอมขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ ขับเสมหะ แก้นิ่ว ขับระดูขาว ผสมกับยาระบายแก้ปวดมวน ไซร้ท้อง ใช้เป็นยาฝาดสมานแก้ท้องเสีย
           ในตำรายาไทย: มีการใช้ผลเทียนขาว ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ปรากฏการใช้ในบัญชียาจากสมุนไพร ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ในการรักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่
                1. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนขาว อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
                2. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนขาว เทียนดำ เทียนแดง เทียนสัตตบุษย์ และเทียนเยาวพาณี ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของเทียนขาว และเทียนดำ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
           ถึงแม้ว่าเทียนขาวเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ แต่เทียนขาว เป็นสมุนไพรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากมีแหล่งกำเนิดแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมีปลูกกันอยู่ทั่วๆไปทางยุโรปตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกาเหนือ แต่ได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า พิกัดเทียน
           เครื่องยาพิกัดเทียน เทียนขาวจัดอยู่ใน “พิกัดเทียน”  ที่ประกอบด้วย“พิกัดเทียนทั้ง 5” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน “พิกัดเทียนทั้ง 7” (มีเทียนเยาวพาณี และเทียนสัตตบุษย์ เพิ่มเข้ามา) “พิกัดเทียนทั้ง 9” (มีเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดเทียน คือ ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ยาผง ขนาด 0.5-2 กรัม

องค์ประกอบทางเคมี:
           ในน้ำมันยี่หร่า (cumin oil) ประกอบด้วยน้ำมันระเหยง่าย ซึ่งมี cuminaldehyde 25-35% เป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากนี้ยังพบสารเทอร์ปีนชนิดอื่น ๆ ได้แก่ pinene dipentine cumene cuminic-alcohol cuminic aldehyde, cuminal, safranal, p-cymene, dipentine, cumene, cuminic alcohol, alpha-phellandrene, beta-phellandrene, alpha และ beta-pinene, delta-3-carene, 1,8-cineole, limonene, alpha และ gamma-terpinene, alpha-terpineol, terpinene-4-ol cuminyl alcohol, trans-dihydrocarvone, myrcene, linalool, beta-caryophyllene, beta-farnesene, beta-elemene
           สารกลุ่ม glycosides: monoterpenoid glucosides (p-menthane glucoside, hydroxycuminyl glucoside), sesquiterpenoid glucosides (cuminosides A และ B), alkyl glycosides (1S,5S,6S,10S)-10-hydroxyguaia-3,7(11)-dien-12,6-olide beta-D-glucopyranoside, (1R,5R,6S,7S,9S,10R,11R)-1,9-dihydroxyeudesm-3-en-12,6-olide  9-O-beta-D-glucopyranoside, methyl beta-D-apiofuranosyl-(1 to 6) -beta-D- glucopyranoside, ethane-1,2-diol 1-O-beta-D-apiofuranosyl-(1 to 6)-beta-D-glucopyranoside และสาร 2-C-methyl-D-erythritol glycosides
           สารกลุ่ม flavonoids: (อนุพันธ์ 7-O-beta-D-glucopyranosides ของ apigenin และ luteolin), flavonoid glycoside (3’-5,dihydroxyflavone 7-O-beta-D-galacturonide 4’-O-beta-D-glucopyranoside)
           สารสกัดเมทานอลจากผล พบ Sesquiterpenoid glucoside คือ Cuminoside A, B

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

           ฤทธิ์เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร
          
การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดชนิดต่างๆจากเมล็ดเทียนขาว ในการเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหาร โดยการสกัดสารสำคัญจากเทียนขาว ได้สารสกัดทั้งสิ้น 4 ชนิด ได้แก่ saline extract (0.5N HCl), hot aqueous extract (สารสกัดด้วยน้ำร้อน), oleoresin (สกัดด้วยอะซิโตน) และ น้ำมันหอมระเหยทำการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ amylase, protease, lipase และ phytase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยแป้ง, โปรตีน, ไขมัน และไฟเตต ตามลำดับ (ไฟเตตพบในพืชผัก ร่างกายต้องใช้ไฟเตสย่อยให้กลายเป็นฟอสเฟตก่อนดูดซึม) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดในส่วน saline extractsและ hot aqueous extracts แสดงฤทธิ์สูงสุดในการเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ทั้ง 4 ชนิด โดย hot aqueous extracts สามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ amylase, protease, lipase และ phytase ได้เท่ากับ 300± 63, 7250±331, 37.15±5,196± 20 U/mg protein/g cumin/min ตามลำดับ saline extracts สามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ amylase, protease, lipase และ phytase ได้เท่ากับ 269±32, 8450± 380, 36.98 ±5, 150±15U/mg protein/g cumin/min ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ ได้เท่ากับ 4.0±0.1,  183.6±1.2, 2.94±0.5, 1.66± 0.5U/mg protein/g cumin/min ตามลำดับ ดังนั้นสารสกัดเทียนขาวอาจนำมาใช้ในสูตรอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มการย่อยอาหารได้ (Milan, et al., 2008)

          ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

          การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori  ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่พบที่กระเพาะอาหาร เป็นเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการท้องอืดเฟ้อ แผลในกระเพาะอาหาร ทดสอบโดยใช้สารสกัดเอทานอล หรือสารสกัดน้ำของเทียนขาว ใช้เทคนิค disc diffusion test และวัดค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลของเทียนขาวมีค่า MIC90เท่ากับ 0.075 mg/mLซึ่งแสดงว่าสารสกัดมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ H. pylori ในหลอดทดลอง (Nostro, et al., 2005) 

         การศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Vibrio sp. ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ หรือทางเดินอาหารอักเสบ ทดสอบน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาว และทำการศึกษาปริมาณสารสำคัญโดยใช้เทคนิค GC-MS พบองค์ประกอบหลักคือ cuminlaldehyde (39.48%), gamma-terpinene (15.21%), O-cymene (11.82%), beta-pinene (11.13%), 2-caren-10-al (7.93%), trans-carveol (4.49%) และ myrtenal (3.5%) และทำการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียโดยใช้ เทคนิค micro-well พบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาวมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มVibrio spp.โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 0.078–0.31 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC)  เท่ากับ 0.31–1.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (Hajlaoui, et al., 2010) 

 ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ        

         การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองของน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาว ในการจับอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้อนุมูลอิสระ DPPH เปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน BHT ซึ่งเป็นสารกันเสียสังเคราะห์ ผลการทดลองพบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเทียนขาว และ BHT สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 31และ 11.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ความสามารถในการจับอนุมูล superoxide (อนุมูลอิสระของออกซิเจน ที่เกิดจากขบวนการต่างๆ ในร่างกาย) ของเทียนขาว และ BHT มีค่า IC50 เท่ากับ 16 และ 1.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ความสามารถในการรีดิวส์ (Reducing power) ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ ของเทียนขาว และ BHT มีค่า EC50 เท่ากับ 11 และ 75 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ นอกจากนี้ยังทำการทดสอบฤทธิ์ป้องกันการเกิดออกซิเดชันของไขมัน โดยใช้เทคนิค beta-carotene bleaching พบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาว และสารมาตรฐาน BHT สามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของกรดไขมัน  โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 20 และ 75 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (Hajlaoui, et al., 2010) 

 

การศึกษาทางคลินิก:
           -
การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษของผลเทียนขาว จากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าการให้หนูถีบจักรกิน หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็น 5,000 เท่า เมื่อเทียบกับขนาดการรักษาในคน ไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

           การให้เทียนขาว 2% ในอาหารไม่ก่อให้เกิดพิษในหนู แต่ในปริมาณ 10% จะทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ และมีผลต่อตับและไต
           การทดลองในหลอดทดลองพบว่าเทียนขาวไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์
           น้ำมันหอมระเหยเทียนขาวอาจทำให้ผิวหนังเกิดการไวต่อแสง

 

เอกสารอ้างอิง:

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2. Hajlaoui H, Mighri H, Noumi E, Snoussi M, Trabelsi N, Ksouri R, et al. Chemical composition and biological activities of Tunisian Cuminum cyminum L. essential oil: A high effectiveness against Vibrio spp. strains. Food and Chemical Toxicology. 2010;48:2186-2192.

3. Milan KSM, Dholakia H, Tiku PK, Vishveshwaraiah P. Enhancement of digestive enzymatic activity by cumin (Cuminum cyminum L.) and role of spent cumin as a bionutrient. Food Chemistry. 2008;110:678-683.

4. Nostro A, Cellini L, Bartolomeo SD, Campli ED, Grande R, Cannatelli MA, et al. Antibacterial effect of plant extracts against Helicobacter pylori. Phytother Res. 2005;19(3):198-202.

 

ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting