เถาวัลย์เปรียง

ชื่อเครื่องยา

เถาวัลย์เปรียง

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

เถาวัลย์เปรียงขาว

ได้จาก

เถา

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

เถาวัลย์เปรียง

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

เครือเขาหนัง เถาตาปลา เครือตาปลา(นครราชสีมา) ย่านเหมาะ(นครศรีธรรมราช) พานไสน(ชุมพร) เครือตับปลา

ชื่อวิทยาศาสตร์

Derris scandens (Roxb.) Benth

ชื่อพ้อง

Brachypterum scandens (Roxb.) Wight, Brachypterum scandens Benth., Brachypterum timorense Benth., Dalbergia scandens Roxb., Dalbergia timoriensis DC., Deguelia timoriensis (DC.) Taub., Derris timoriensis (DC.) Pittier, Galedupa frutescens Blanco, Millettia litoralis

ชื่อวงศ์

Papilionaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
        เถาแก่เป็นไม้เนื้อแข็ง เปลือกนอกสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลแกมสีเทา เปลือกเถาอาจมีร่องหรือคลื่นตามยาว มีช่องอากาศกระจายอยู่ทั่วไป เถาเหนียว เถาใหญ่มักจะบิด เนื้อไม้สีออกน้ำตาลอ่อนๆ เห็นรอยวงปีไม่ชัดเจน เนื้อไม้มีรูพรุนตรงกลาง รสเฝื่อน เอียน

 

เครื่องยา เถาวัลย์เปรียง

 

เครื่องยา เถาวัลย์เปรียง

 

เครื่องยา เถาวัลย์เปรียง

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 8%, ปริมาณเถ้าที่ละลายในกรด ไม่เกิน 1%, ปริมาณความชื้น ไม่เกิน 7%, ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำ ไม่ต่ำกว่า 14%, ปริมาณสารสกัดด้วย 50% เอทานอล ไม่ต่ำกว่า 14%, ปริมาณสารสกัดด้วย 95% เอทานอล ไม่ต่ำกว่า 6%, ดัชนีการเกิดฟองไม่น้อยกว่า 200

 
สรรพคุณ:
           ตำรายาพื้นบ้าน: ใช้เถา ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้หวัด ใช้เถาคั่วไฟให้หอมชงน้ำกินแก้ปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้เมื่อยขบในร่างกาย แก้กระษัยเหน็บชา ต้มรับประทานถ่ายเส้น ถ่ายกระษัย แก้เส้นเอ็นขอด ถ่ายเสมหะ ไม่ถ่ายอุจจาระ เหมาะที่จะใช้ในโรคบิด ไอ หวัด ใช้ในเด็กได้ดี แก้ปวด แก้ไข้ ทำให้เส้นเอ็นอ่อนลง ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ บางตำรากล่าวว่าทำให้มีกำลังดีแข็งแรงสู้ไม่ถอย
           เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยใช้เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมจากสูตรยาอบสมุนไพรหลัก เมื่อต้องการอบเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว เป็นต้น
           บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้เถาวัลย์เปรียงในตำรับ “ยาผสมเถาวัลย์เปรียง” มีส่วนประกอบของเถาวัลย์เปรียงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เถาวัลย์เปรียงจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ระบุรูปแบบและขนาดวิธีใช้ยาดังนี้

1. บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ

ผงจากเถาของเถาวัลย์เปรียง รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ถึง 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที

2. บรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง และอาการปวดจากข้อเข้าเสื่อม

สารสกัดจากเถาด้วย 50%เอทานอล รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารทันที

 

ข้อห้ามใช้:

ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์

คำเตือน:

ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยแผลเพปติก เนื่องจากเถาวัลย์เปรียงออกฤทธิ์คล้ายยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  จึงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารได้

อาการไม่พึงประสงค์ :        

ปวดท้อง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง ใจสั่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อุจจาระเหลว


องค์ประกอบทางเคมี:
          สารกลุ่ม isoflavone glycoside ได้แก่ eturunagarone, 4,4’-di-O-methylscandenin, lupinisol A, 5,7,4’-trihydroxy-6,8-diprenylisoflavone, 5,7,4’-trihydroxy-6,3’-diprenylisoflavone, erysenegalensein E, derrisisoflavone A-F, scandinone, lupiniisoflavone G, lupalbigenin, derrisscandenoside A-E, 7,8-dihydroxy-4’-methoxy isoflavone, 8-hydroxy-4’,7-dimethoxy isoflavone-8-O-b-glucopyranoside, 7-hydroxy-4’,8-dimethoxy isoflavone-7-O-beta-glucopyranoside, formononetin-7-O-beta-glucopyranoside, diadzein-7-O-[α-rhamnopyranosyl-(1,6)]-beta-glucopyranoside, formononetin-7-O-α- rhamnopyranosyl-(1,6)]-beta-glucopyranoside, derrisscanosides A-B, genistein-7-O-[α- rhamnopyranosyl-(1,6)]-beta-glucopyranoside

          สารกลุ่มคูมาริน ได้แก่ 3-aryl-4-hydroxycoumarins  สารกลุ่มสเตียรอยด์ได้แก่ lupeol, taraxerol, b-sitosterol  สารอื่นๆ เช่น 4-hydroxy-3-methoxy benzoic acid, 4-hydroxy-3,5-dimethoxy benzoic acid


การศึกษาทางเภสัชวิทยา:         

ฤทธิ์ต้านอักเสบ

      สารสกัดลำต้นเถาวัลย์เปรียงด้วยน้ำ นำมาทดสอบฤทธิ์ลดการอักเสบในหลอดทดลองโดยวัดการลดลงของเอนไซม์ myeloperoxidase(MPO) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบในแกรนูลซึ่งอยู่ภายในเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล ในระหว่างที่มีการอักเสบ MPO จะเคลื่อนที่ออกมา ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำลดการหลั่ง myeloperoxidase ได้ 88% โดยใช้ peritoneal leukocytes ของหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ ที่ถูกกระตุ้นให้อักเสบด้วย calcium ionophore และสารสกัดน้ำมีผลยับยั้งการสังเคราะห์สารอิโคซานอยด์ (eicosanoid) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ leukotriene B4  สารสกัดน้ำยังลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูขาว สายพันธุ์ Sprague–Dawley เมื่อใช้คาราจีแนนเหนี่ยวนำการบวม โดยพบว่าสารสกัดน้ำขนาด 100 และ 500 mg/kg เมื่อให้โดยการฉีดเข้าช่องท้องหนู สามารถลดการบวมได้ 82 และ 91% ตามลำดับ (Laupattarakasem, et al., 2003)

ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX-1

       สกัดลำต้นเถาวัลย์เปรียงด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ ได้แก่ 50% เอทานอล,เฮกเซน, คลอโรฟอร์ม, บิวทานอล และน้ำ และแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดน้ำ 2 ชนิด คือ piscidic acid และ genistein 7-O-α-rhamnosyl (1→6)-β-glucopyranoside นำมาศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบ ผลการศึกษาพบว่าสารสกัด 50% เอทานอล, สารสกัดน้ำ, สาร genistein 7-O-α-rhamnosyl (1→6)-β-glucopyranoside และยามาตรฐาน aspirin  สามารถยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-1 (COX-1) ทำให้การสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้แก่ พรอสตาแกลนดินลดลง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 4.11, 4.15, 4.0 และ 4-5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ โดยสารสกัดน้ำ และเอทานอลของลำต้นเถาวัลย์เปรียงไม่มีผลยับยั้งเอนไซม์ COX-2 แต่ aspirin ยับยั้งเอนไซม์ COX-2 โดยมีค่า IC50 = 9-10 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากสารสกัดน้ำ สองชนิดคือ สารกลุ่มกรดฟีนอลิค คือ สาร piscidic acid ซึ่งจากรายงานการวิจัยพบว่ามีฤทธิ์ทำให้หลับ กล่อมประสาท และระงับอาการไอ สารอีกชนิดเป็นสารกลุ่มไอโซฟลาโวนกลัยโคไซด์คือ genistein 7-O-α-rhamnosyl (1→6)-β-glucopyranoside ซึ่งมีรายงานว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สารทั้งสองชนิดยังเป็นองค์ประกอบหลักในสารสกัด 50%เอทานอล (ประไพ และคณะ, 2556)

ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

       การทดสอบในหลอดทดลอง ของสารสกัด 50 % เอทานอลจากลำต้นเถาวัลย์เปรียง โดยใช้เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนนิวเคลียส (peripheral blood mononuclear cells, PBMC) ที่ได้จากอาสาสมัครปกติ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี พบว่าใน PBMC ที่ได้จากอาสาสมัครปกติ สารสกัดมีผลเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte ที่ความเข้มข้น 10 นาโนกรัม/มล. ถึง 5 ไมโครกรัม/มล. และผลนี้ลดลงเมื่อความเข้มข้นเพิ่มเป็น 100 ไมโครกรัม/มล. สารสกัดเพิ่มการทำงานของ natural killer (NK) cells ในคนปกติ ที่ความเข้มข้น 10 นาโนกรัม/มล. ถึง 10 ไมโครกรัม/มล. เมื่อทดสอบในผู้ติดเชื้อเอชไอวี สารสกัดเพิ่มการทำงานของ natural killer (NK) cells ที่ความเข้มข้น 10 ไมโครกรัม/มล (NK cell จัดเป็นเม็ดเลือดขาวกลุ่มลิมโฟไซต์ มีหน้าที่ทำลายเซลล์อื่นๆทั้งหมดที่มันไม่รู้จักว่าเป็นเซลล์ปกติของร่างกาย) นอกจากนั้นยังมีผลกระตุ้นการหลั่ง interleukin-2 (IL-2) จาก PBMC ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นจากระบบภูมิคุ้มกัน (Sriwanthana and Chavalittumrong, 2001)


การศึกษาทางคลินิก:

ฤทธิ์บรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง

      การศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงเปรียบเทียบกับยามาตรฐานไดโคลฟีแนค (diclofenac)  ในการรักษาผู้ป่วยอาการปวดหลังส่วนล่าง  2  กลุ่ม  ที่โรงพยาบาลวังน้ำเย็น  จังหวัดสระแก้ว  กลุ่มหนึ่งจำนวน  37 ราย  รับประทานสารสกัดเถาวัลย์เปรียงบรรจุแคปซูล  ขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง  เป็นเวลา 7 วัน  และอีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 33 ราย  รับประทานยาไดโคลฟีแนคชนิดเม็ด  ขนาด 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง  เป็นเวลา 7 วัน ผลการศึกษาแสดงว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีจำนวนเม็ดเลือดขาวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 7  ของการรักษา  แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ  และไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีรวมทั้งผลข้างเคียงใด ๆ ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับยาไดโคลฟีแนคนั้นตรวจไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ  ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม มีระดับอาการปวดลดลงอย่างชัดเจนในวันที่ 3 และวันที่ 7  ผลการศึกษานี้บ่งชี้ชัดว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงที่ให้รับประทานในขนาดวันละ 600  มิลลิกรัม นาน 7 วัน  สามารถลดอาการปวดหลังส่วนล่างได้ไม่แตกต่างจากการใช้ยายาไดโคลฟีแนค ขนาดวันละ 75  มิลลิกรัม (ยุทธพงษ์ และคณะ, 2550)

ฤทธิ์ลดอาการข้อเข่าอักเสบ

      ในการศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยาที่เตรียมได้จากเถาวัลย์เปรียงที่ใช้ยืนยันการรักษาโรคข้อเข่าอักเสบ และเป็นการศึกษาไปข้างหน้า ใช้รูปแบบ double blind randomized control trial study ดำเนินการที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ในผู้ป่วย 178 คนที่มาตรวจรักษาด้วยอาการปวดเข่าของโรคข้อเข่าอักเสบ ผู้ป่วยถูกสุ่มให้รับยามาตรฐานไอบิวโพรเฟน (Ibuprofen) ขนาด 400 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร หรือยาจากสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง ขนาด 250 มิลลิกรัม ต่อแคปซูล รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลานาน 7 วัน ผู้ป่วยได้รับการประเมินผลการรักษาภายหลังการรักษา 3 วัน และ 8 วัน โดยประเมินอาการทั้งหมดด้วย Visual Analogue Scale (VAS) ความสม่ำเสมอของการรับประทานยาที่ได้รับ ผลข้างเคียงของการรักษา การเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยา และผลต่อเคมีในเลือด และความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการรักษาที่ได้รับ ข้อมูลนำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติพรรณนา Two way repeated measure ANOVA, student’s t-test และ non-parametric test ที่เหมาะสม ผู้ป่วย 88 คน ถูกสุ่มให้ได้รับยาไอบิวโพรเฟน และ 90 คนถูกสุ่มให้ได้รับยาแคบซูลเถาวัลย์เปรียง ลักษณะโดยทั่วไปของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยร้อยละ 77.3 ในกลุ่มไอบิวโพรเฟน และร้อยละ 73.3 ในกลุ่มยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง กินยาอย่างสม่ำเสมอ อาการของผู้ป่วยและความรุนแรงเฉลี่ยของการปวด การรักษาด้วยไอบิวโพรเฟนหรือยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จำนวนผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นหรืออาการหายไปภายหลังการรักษาด้วยไอบิวโพรเฟนหรือยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลข้างเคียงของการรักษาพบร้อยละ 39.77 ในกลุ่มไอบิวโพรเฟน และร้อยละ 35.55 ในกลุ่มยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยา และเคมีในเลือดหลังการรักษาในทั้งสองกลุ่ม และความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ได้รับยาไอบิวโพรเฟนหรือยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จึงสรุปได้ว่าการรับประทานยาจากสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง ติดต่อกัน 7 วันมีประสิทธิผลและความปลอดภัยในการรักษาอาการปวดเข่าจากโรคข้อเข่าอักเสบ ไม่แตกต่างจากการรักษาด้วยยาไอบิวโพรเฟน (ศิษฎิคม และคณะ, 2555)

ฤทธิ์แก้ปวด

       การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเถาวัลย์เปรียงในการลดอาการปวด ผลการวิจัยพบงานวิจัย3 ฉบับที่สอดคล้องกับเกณฑ์คัดเข้าทั้งหมด และทั้งหมดใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่มีคุณภาพสูง โดยได้คะแนนตั้งแต่ 3 คะแนนขึ้นไป เมื่อประเมินตามเกณฑ์ของ Jadad และคณะ แต่ละการศึกษามีขนาดตัวอย่างตั้งแต่ 70-178 คน การศึกษาทั้งหมดเป็นการศึกษาในประเทศไทย โดยศึกษาในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมและปวดหลังส่วนล่าง ผลการวิจัยพบว่า เถาวัลย์เปรียงมีประสิทธิภาพ ในด้านการลดอาการปวดไม่แตกต่างจากยากลุ่ม NSAIDs (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย = 0.01; 95%CI=-0.13, 0.14) ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า ทั้งสองกลุ่มมีค่าทางห้องปฏิบัติการไม่แตกต่างกัน ในด้านการเกิดอาการไม่พึงประสงค์พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสาคัญทางสถิติ (RR= -0.84; 95%CI=0.63,1.11) อาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากที่สุดในทั้งสองกลุ่ม คือการระคายเคืองทางเดินอาหาร รองลงมาคือ อาการมึนงง และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากทั้งสามการศึกษา การศึกษานี้เป็นข้อมูลสนับสนุนว่าเถาวัลย์เปรียงมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากยากลุ่ม NSAIDs ในการลดอาการปวด ซึ่งสามารถนาไปพิจารณาเป็นทางเลือกในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยได้ (วิระพล และคณะ, 2558)

     การศึกษาแบบ meta analysis เพื่อประเมินผลด้านความปลอดภัย และผลทางด้านคลินิกของการใช้สารสกัดจากเถาวัลย์เปรียง ในการบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเทียบกับยาในกลุ่ม NSAIDs ผลการศึกษาพบว่าจากงานวิจัยที่รวบรวมมาทั้งหมด  42 ฉบับ คัดเลือกมา 4 การศึกษา  มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด  414 ราย จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียง เมื่อให้โดยการรับประทานสามารถลดอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อได้ไม่ต่างจากยาในกลุ่ม NSAID ที่ระยะเวลาใดๆ  (3, 7, 14 วัน และอื่นๆ) เปรียบเทียบผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นพบว่าทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน โดยผลข้างเคียงหลักที่เกิดขึ้นเป็นอาการในระบบทางเดินอาหาร (Puttarak, et al., 2016)

ฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกัน

      การวิจัยเป็นแบบสุ่มควบคุม ในการศึกษานี้มีอาสาสมัคร 47 ราย เป็นชาย 19 ราย หญิง 28 ราย อายุระหว่าง 21-44 ปี อาสาสมัครทั้งหมดไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด โรคเลือด โรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้  และมีผลการตรวจเลือด HBS Ag, anti-hepatitis C antibody และ Anti-HIV ½ เดือน เป็นลบ ไม่ได้กินยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ยาหรืออาหารเสริมสุขภาพอื่นๆ ในช่วงการศึกษา อาสาสมัครที่เป็นหญิงไม่มีครรภ์ หรือให้นมบุตรตลอดการศึกษา อาสาสมัครทั้งหมด รับประทานยาเถาวัลย์เปรียงครั้งละ 1 แคปซูล หลังอาหาร วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 2 เดือน และได้รับการสอบถามอาการ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือดทุก 2 สัปดาห์ จนครบ 2 เดือน หลังจากหยุดกินยา 1 เดือน ได้รับการตรวจทางโลหิตวิทยา คือ CBC, ปริมาณเม็ดเลือดแดง, ปริมาณเกล็ดเลือด ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครทุกรายไม่มีอาการข้างเคียงในช่วงกินยา ค่าทางโลหิตวิทยาและค่าทางชีวเคมีบางค่าที่เปลี่ยนแปลงจากก่อนได้รับสารสกัดอยู่ในเกณฑ์ค่าปกติ นอกจากนี้พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ในอาสาสมัครที่มีปริมาณของ IL-2 และ gamma-IFN ในซีรั่มเพิ่มขึ้น  จากผลการศึกษานี้แสดงว่าการรับประทานสารสกัดเถาวัลย์เปรียงขนาด 400 มก. ต่อวัน มีความปลอดภัยเมื่อใช้ติดต่อกันนาน 2 เดือน และอาจมีส่วนช่วยควบคุม และหรือเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของ ร่างกายดูจากผลการหลั่งของ IL-2 และ gamma-IFN ซึ่งเป็นไซโตคายน์ที่ช่วยควบคุม และเสริมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน (บุษราวรรณ และคณะ, 2552)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           เถามีสารที่มีฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิง จึงควรระวังถ้าจะรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดลำต้นด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 6,250 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
           การศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดหยาบของเถาวัลย์เปรียง ศึกษาพิษเรื้อรัง (6 เดือน) ของสารสกัดด้วย 50% เอทานอล ของเถาวัลย์เปรียง ในหนูขาว สายพันธุ์วิสตาร์ 4 กลุ่ม ๆ ละ 20 ตัวต่อเพศ กลุ่มควบคุมได้รับน้ำ 10 มล./น้ำหนักตัว 1 กก./ วัน ขณะที่หนูอีกสามกลุ่ม ได้รับสารสกัดในขนาด 6, 60 และ 600 มก./น้ำหนักตัว 1 กก./วัน หรือเทียบเท่าผงเถาวัลย์เปรียงแห้ง 0.03, 0.3 และ 3 กรัม /น้ำหนักตัว 1 กก./วัน หรือ 1, 10 และ 100 เท่า ของขนาดใช้ในคนต่อวัน ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดของเถาวัลย์เปรียงไม่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางชีวเคมีของซีรั่ม หรือจุลพยาธิสภาพของอวัยวะภายในที่มีความสัมพันธ์กับขนาดของสารสกัด และไม่พบความผิดปกติใด ๆ ที่สามารถสรุปได้ว่าเนื่องมาจากความเป็นพิษของสารสกัด (Chavalittumrong, et al., 1999)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2. บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ, ปราณี ชวลิตธำรง, บุญญานี ศุภผล, ประไพ วงศ์สินคงมั่น, รุ่งเรือง กิจผาติ. การศึกษาประสิทธิผลการเพิ่มภูมิคุ้มกันของเถาวัลย์เปรียงในอาสาสมัครสุขภาพดี. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2552;7(1):54-62.

3. ประไพ วงศ์สินคงมั่น, จารีย์ บันสิทธิ์, สมชาย แสนหลวงอินทร์, ธนวัฒน์ ทองจีน, อุทัย โสธนะพันธุ์. องค์ประกองทางเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX-1 ของสารสกัดเถาวัลย์เปรียง. วารสารการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก. 2556;11(3): 267-279.

4. ยุทธพงษ์ ศรีมงคล, ไพจิตร์ วราชิต, ปราณี ชวลิตธำรง, บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ, รัตใจ ไพเราะ, จันธิดา อินเทพ และคณะ. การเปรียบเทียบสรรพคุณของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงกับไดโคลฟีแนคเป็นยาบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2550;5(1):17-23.

5. วิระพล ภิมาลย์, วนิดา ไทรชมภู, บรรลือ สังข์ทอง และกฤษณี สระมุณี. การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ และการวิเคราะห์อภิมานประสิทธิภาพในการลดอาการปวดของเถาวัลย์เปรียง.วารสารเภสัชกรรมไทย. 2558;7(1):54-62.

6. ศิษฎิคม เบ็ญจขันธ์,ศิวาภรณ์ พุทธิวงศ์, นุชจรินทร์ บุญทัน, มัณฑนา วิจิตร, สุนทร วาปี, สุดธิมา การสมบัติ. การศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของการใช้ยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียงกับ Ibuprofen ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าอักเสบ.วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2555;10(2):115-123.

7. Chavalittumrong P, Chivapa S, Chuthaputti A, Rattanajarasroj S, Punyamong S. Chronic toxicity study of crude extract of Derris scandens Benth. Songklanakarin Journal of Science and Technology. 1999;21(4):425-433.

8. Laupattarakasem P, Houghton PJ,  Hoult JRS, Itharat A.  An evaluation of the activity related to inflammation of four plants used in Thailand to treat arthritis. J Ethnopharmacology. 2003;85: 207-215.

9. Puttarak  P, Sawangjit R, Chaiyakunapruk N. Efficacy and safety of Derris scandens (Roxb.) Benth. for musculoskeletal pain treatment: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. J Ethnopharmacology. 2016;194: 316-323.

10. Sriwanthana B, Chavalittumrong P. In vitro effect of Derris scandens on normal lymphocyte proliferation and its activities on natural killer cells in normals and HIV-1 infected patients. J Ethnopharmacology. 2001;76:125-129.

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา        : www.phargarden.com

ข้อมูลตำรับยาผสมเถาวัลย์เปรียง  : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting