ชื่อเครื่องยา | ขมิ้นชัน |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | เหง้าสด เหง้าแห้ง |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | ขมิ้นชัน |
ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ขมิ้น(ทั่วไป) ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก ขี้มิ้น ตายอ สะยอ หมิ้น(ภาคใต้) ขมิ้นหัว(เชียงใหม่) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Curcuma longa L. |
ชื่อพ้อง | Amomum curcuma Jacq., Curcuma brog Valeton, Curcuma domestica Valeton, Curcuma ochrorhiza Valeton, Curcuma soloensis Valeton, Curcuma tinctoria Guibourt, Stissera curcuma Giseke, Stissera curcuma |
ชื่อวงศ์ | Zingiberaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เหง้ารูปไข่ มีแง่งแขนงรูปทรงกระบอก หรือคล้ายนิ้วมือ ตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาว 4-7 เซนติเมตร กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร หนาประมาณ 1-1.8 เซนติเมตร ปลายทั้งสองข้างตัด สีภายนอกสีน้ำตาลถึงเหลืองเข้มๆ มีรอยย่นๆตามความยาวของแง่ง มีวงแหวนตามขวาง (leaf scars) บางทีมีแขนงเป็นปุ่มเล็กๆสั้นๆ หรือเห็นเป็นรอยแผลเป็นวงกลมที่ปุ่มนั้นถูกหักออกไป ผิวนอกสีเหลืองถึงสีเหลืองน้ำตาล สีภายในสีเหลืองเข้มหรือสีส้มปนน้ำตาล เป็นมัน แข็งและเหนียว เมื่อบดเป็นผงมีสีเหลืองทองหรือสีเหลืองส้มปนน้ำตาล กลิ่นหอมเฉพาะตัว รสขม ฝาด เฝื่อน เผ็ดเล็กน้อย
เครื่องยา ขมิ้นชัน
เหง้า ขมิ้นชันสด (แง่งที่แตกแขนงจากเหง้าหลัก)
เหง้า ขมิ้นชันสด (ส่วนเหง้าหลัก)
เหง้า ขมิ้นชันสด
เหง้าขมิ้นอ้อยสด (ซ้าย) และ เหง้าขมิ้นชันสด (ขวา)
ลักษณะวิสัย ต้นขมิ้นชัน
ดอกขมิ้นชัน
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณน้ำไม่เกิน 10% v/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 8% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 10% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 9% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ไม่น้อยกว่า 6% v/w ปริมาณสารเคอร์คูมินอยด์ไม่น้อยกว่า 5% w/w
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ใช้ภายใน ช่วยเจริญอาหาร ยาบำรุงธาตุ ฟอกเลือด แก้ท้องอืดเฟ้อ แน่น จุกเสียด ลดน้ำหนัก ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการดีซ่าน แก้อาการวิงเวียน แก้หวัด แก้อาการชัก ลดไข้ ขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องมาน แก้ไข้ผอมแห้ง แก้เสมหะและโลหิตเป็นพิษ โลหิตออกทางทวารหนักและเบา แก้ตกเลือด แก้อาการตาบวม แก้ปวดฟันเหงือกบวม มีฤทธิ์ระงับเชื้อ ต้านวัณโรค ป้องกันโรคหนองใน แก้ท้องเสีย แก้บิด รักษามะเร็งลาม ใช้ภายนอก ช่วยลดอาการฟกช้ำบวม ปวดไหล่และแขน บวมช้ำและปวดบวม แก้ปวดข้อ สมานแผลสดและแผลถลอก ผสมยานวดคลายเส้นแก้เคล็ดขัดยอก แก้น้ำกัดเท้า แก้ชันนะตุ แก้กลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน สมานแผล รักษาฝี แผลพุพอง ลดอาการแพ้ อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ตำใส่แผลห้ามเลือด รักษาผิว บำรุงผิว
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ขมิ้นชัน ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ตำรับ ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของขมิ้นชันเป็นองค์ประกอบหลัก ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 12 ชนิดในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ นอกจากนี้ยังจัดอยู่ในบัญชียาพัฒนาจากสมุนไพรที่สามารถใช้เดี่ยว เพื่อบรรเทาอาการแน่น จุกเสียด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ใช้ภายใน (ยารับประทาน):
- ยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันแห้ง 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน อาจปั้นเป็นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง
- เหง้าแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว ขูดเปลือก ล้างน้ำให้สะอาดตำให้ละเอียด เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง
ใช้ภายนอก:
- ใช้เหง้าขมิ้นแก่สดฝนกับน้ำสุก หรือผงขมิ้นชันทาบริเวณที่เป็นฝี แผลพุพอง หรืออักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- เหง้าแก่แห้ง บดเป็นผงละเอียด ทาบริเวณที่เป็นเม็ดผื่นคัน
- เหง้าแห้งบดเป็นผง นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด
- เหง้าแก่ 1 หัวแม่มือ ล้างสะอาดบดละเอียด เติมสารส้มเล็กน้อย และน้ำมันมะพร้าวพอแฉะๆใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลพุพอง ที่หนังศีรษะ
องค์ประกอบทางเคมี:
สารกลุ่มเคอร์คิวมินนอยด์ (curcuminoids) ประกอบด้วย เคอร์คิวมิน (curcumin), monodesmethoxycurcumin, bisdesmethoxycurcumin
น้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) มีสีเหลืองอ่อน สารหลักคือเทอร์เมอโรน (turmerone) 60%, ซิงจิเบอรีน (zingiberene) 25%, borneol, camphene, 1, 8 ciniole , sabinene, phellandrene
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหาร
การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ของสารสกัดเอทานอล เฮกเซน และสารเคอร์คูมินอยด์ (ประกอบด้วยเคอร์คูมิน 86.5%, ดีเมทอกซีเคอร์คูมิน 13.4% และบิสเมทอกซีเคอร์คูมิน 0.1%) ที่ได้จากเหง้าขมิ้นชัน ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ใช้วิธี disc diffusion method หาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งการเจริญของเชื้อ (MIC) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ Bacillus cereus, Vibrio cholera, B. subtilis, Staphylococcus aureus และ V. parahaemolyticus โดยมีค่า MIC เท่ากับ 3.91, 15.63, 15.63, 31.25 และ 31.25 ppt ตามลำดับ สารสกัดเฮกเซนสามารถยับยั้งเชื้อ Staph. aureus, B. cereus, V. cholera และV. parahaemolyticus โดยมีค่า MIC เท่ากับ 250, 250, 500 และ 1000 ppt ตามลำดับ และสารเคอร์คูมินอยด์สามารถยับยั้งเชื้อ Staph. aureus, B. cereus และ B. subtilis โดยมีค่า MIC เท่ากับ 3.91, 15.63 และ 125 ppt ตามลำดับ โดยสรุปสารสกัดเอทานอล สารสกัดเฮกเซน และสารเคอร์คูมินอยด์จากเหง้าขมิ้นชัน สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรคทางเดินอาหารหลายชนิดได้แก่ B. subtilis, B. cereus ซึ่งก่อโรคอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง เชื้อ V. parahaemolyticus ก่อโรคอาหารเป็นพิษ หรือทางเดินอาหารอักเสบเชื้อV. cholera ก่อโรคอหิวาตกโรค เชื้อ Staph. aureus ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น (Sincharoenpokai, et al., 2009)
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางผิวหนัง
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus (เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ผิวหนังที่พบทั่วไป เช่น ฝี หนอง แผลติดเชื้อ สามารถสร้างสารพิษ endotoxin ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น และยังก่อให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาลอีกด้วย) ทดสอบโดยใช้สารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, สารสกัดเบนซีน, สารสกัดคลอโรฟอร์ม, สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำจากเหง้าขมิ้นชัน ด้วยวิธี disc diffusion method หาบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) ใช้ยา gentamycin เป็นสารมาตรฐาน แสดงผลในหน่วยร้อยละของการยับยั้งการเจริญของเชื้อ ใช้เชื้อในการทดสอบ 2 ชนิด คือ เชื้อมาตรฐาน S. aureus ATCC 6571 และ S. aureus ที่แยกทางคลินิก (clinical isolates) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์, เบนซีน, คลอโรฟอร์ม, เมทานอล และน้ำ สามารถยับยั้งเชื้อมาตรฐาน S. aureus ATCC 6571โดยมีค่า MIC เท่ากับ 73, 84, 42, 100 และ 73% ตามลำดับ (ให้ gentamycin เท่ากับ 100%) และยับยั้งเชื้อ S. aureus ที่แยกทางคลินิก ได้เท่ากับ 85, 107, 71, 42 และ 85% ตามลำดับ (ให้ gentamycin เท่ากับ 100%) โดยสรุปสารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งเชื้อมาตรฐาน S. aureus ATCC 6571 และสารสกัดเบนซีนออกฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งเชื้อ S. aureus ที่แยกทางคลินิก (Gupta, et al., 2015)
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดน้ำที่ได้จากเหง้าขมิ้นชัน ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี agar diffusion method เพื่อหาบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibiton) และใช้วิธี agar dilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งเชื้อ (MIC) และใช้วิธี broth macro-dilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อ (MBC) ใช้ยา gentamicin sulphate เป็นสารมาตรฐาน ทำการทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 5 ชนิด ได้แก่ Staphylococcus aureus, S. epidermidis, Micrococcus luteus, Bacillus subtilis และ Lactobacillus plantarum และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 5 ชนิด ได้แก่ Escherichia coli, Klebsiella pneuminiae, Salmonella typhimurium, Pseudomonas aeruginosa และ Proteus vulgaris ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดน้ำที่ได้จากเหง้าขมิ้นชันออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเชื้อหลายชนิด ที่ความเข้มข้นต่ำ โดยสามารถยับยั้งเชื้อ 4 ชนิด ได้แก่ S. aureus, S. epidermidis, E. coli และ K. pneuminiae โดยมีค่า MIC เท่ากับ 6, 4, 4 และ 16 g/L ตามลำดับ และมีค่า MBC เท่ากับ 32, 16, 16 และ 32 g/L ส่วนยามาตรฐาน gentamicin sulphate มีค่า MIC ต่อเชื้อทั้ง 4 ชนิด น้อยกว่า 0.5 mg/L (Niamsa, et al., 2009)
หมายเหตุ: S. aureus เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อผิวหนังที่พบทั่วไป เช่น ฝี หนอง แผลติดเชื้อ สามารถสร้างสารพิษ endotoxin ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น
S. epidermidis เป็นแบคทีเรียชนิดแกรมบวก ทำให้เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาล ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเด็กแรกเกิด หรือในผู้ที่ใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ เชื้อสามารถเคลื่อนจากบริเวณผิวหนังเข้าสู่ชั้นเนื้อเยื่อที่ลึกขึ้นและเข้าสู่กระแสเลือดได้
E. coli เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ โรคติดเชื้อ E. coli ที่สำคัญ ได้แก่ โรคท้องร่วง โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ และโรคติดเชื้อที่ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
K. pneuminiae เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ปกติจะอาศัยในลำไส้มนุษย์ และไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากเชื้อนี้แพร่ไปอยู่ในตำแหน่งอื่นๆในร่างกาย ก็จะสามารถทำให้เกิดโรคต่างๆขึ้นได้ โรคเหล่านี้ได้แก่ โรคติดเชื้อในปอด โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคติดเชื้อที่บาดแผล ที่แผลผ่าตัด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
การศึกษาทางคลินิก:
ฤทธิ์ลดอาการแน่น จุกเสียด
การทดสอบผลในผู้ป่วยโรคท้องอืดเฟ้อ ในโรงพยาบาล 6 แห่ง จำนวน 116 ราย แบ่งกลุ่มผู้ป่วยโดยวิธีสุ่มเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับแคปซูลยาหลอก กลุ่มที่ได้รับยาแก้ท้องอืด และกลุ่มที่ได้รับขมิ้นชัน ทุกกลุ่มรับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร และก่อนนอน นาน 7 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอาการดีขึ้น หรือหายไป 53% ขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาแก้ท้องอืด หรือขมิ้นชัน อาการดีขึ้นหรือหายไป 83% และ 87% ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ อัตราการเกิดผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างกันระหว่าง 3 กลุ่ม เป็นอาการที่ไม่รุนแรง และหายเองได้ (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)
ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
ทดสอบในผู้ป่วยที่ปวดท้องเนื่องจากโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล รับประทานครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง (รวม 4 กรัม) พบว่าได้ผลดี ได้มีการทดลองผลการรักษาแผลในกระเพาะอาหารในคน พบว่าให้ผู้ป่วยรับประทานแคปซูลผงขมิ้นชัน 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง พบว่า 5 คน หายใน 4 อาทิตย์ และ 7 คน หายภายใน 4-12 อาทิตย์ (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)
จากการศึกษาประสิทธิผลในการรักษาโรคแผลในทางเดินอาหารในผู้ป่วย 25 ราย ที่ได้รับการส่องกล้องเพื่อดูตำแหน่ง และขนาดของแผล (เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1.5 เซนติเมตร) โดยให้ผู้ป่วยรับประทานขมิ้นชัน (300 มิลลิกรัมต่อแคปซูล) ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 5 ครั้ง ครึ่งถึง 1 ชั่วโมง ก่อนรับประทานอาหาร เมื่อเวลา 16.00 น. และก่อนนอน พบว่า 4 สัปดาห์ หลังการรักษา แผลหายในผู้ป่วย 12 ราย (48%), 8 สัปดาห์ หลังการรักษา แผลหายในผู้ป่วย 18 ราย (72%) และ 12 สัปดาห์ หลังการรักษา แผลหายในผู้ป่วย 19 ราย (76%) (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)
ฤทธิ์ลดการอักเสบ
การศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของขมิ้นชันในผู้ป่วยหลังผ่าตัด โดยให้รับประทานขมิ้นขนาด 400 มก. วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน พบว่าขมิ้นสามารถลดการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ จำนวน 18 คน โดยให้รับประทานขมิ้นขนาด 1,200 มก. วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยไม่พบความเป็นพิษ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าการรับประทานขมิ้นขนาด 375 มก. วันละ 3 ครั้ง ทำให้อาการเยื่อบุตาอักเสบเรื้อรังมีอาการดีขึ้น (สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2552)
ฤทธิ์ต้านอัลไซเมอร์
การศึกษาทางคลินิกโดยเจาะเลือดจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 6 คน และอาสาสมัครสุขภาพดี 3 คน แล้วแยก macrophage มาทำการทดสอบ โดยให้สาร curcumin พบว่า macrophage ของผู้ป่วยที่ได้รับ curcumin มีการเก็บและย่อยสลาย amyloid protein เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับ macrophage ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับ curcumin แสดงให้เห็นว่าเคอร์คิวมิน มีบทบาทช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการทำลาย amyloid protein (สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2552)
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การศึกษาพิษเฉียบพลันของเหง้าขมิ้นชันในหนูถีบจักร พบว่าหนูที่ได้รับผงขมิ้นชันทางปากในขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่แสดงอาการพิษ และเมื่อให้สารสกัดของเหง้าขมิ้นชันด้วย 50% แอลกอฮอล์ โดยวิธีป้อนทางปาก ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และทางช่องท้องในขนาด 15 กรัม/กิโลกรัม พบว่าไม่ทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลัน และหนูถีบจักรไม่ตาย ขนาดของสารสกัดทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อให้โดยวิธีดังกล่าว จึงมีค่ามากกว่า 15 กรัม/กิโลกรัม (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)
การศึกษาพิษเรื้อรังของขมิ้นชันในหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ที่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำ และกลุ่มทดลองที่ได้รับผงขมิ้นชันทางปากในขนาด 0.039, 2.5 และ 5.0 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับ 1, 83 และ 166 เท่าของขนาดที่ใช้ในคนคือ 1.5 กรัมต่อ 50 กิโลกรัมต่อวัน เป็นเวลานาน 6 เดือน พบว่าหนูเพศผู้ที่ได้รับขมิ้นชันขนาด 2.5 และ 5.0 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน มีน้ำหนักตัว และการกินอาหารน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงนี้ในหนูเพศเมียที่ได้รับยาขนาดเท่ากัน ขมิ้นชันในขนาดต่างๆ ที่ให้แก่หนูขาวไม่ทำให้เกิดอาการพิษใดๆ รวมทั้งไม่มีผลต่อค่าทางโลหิตวิทยา หรือค่าเคมีคลินิก และไม่ทำให้เกิดพยาธิสภาพต่ออวัยวะภายในของหนูขาวทั้งสองเพศ (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)
การศึกษาพิษเรื้อรังนาน 6 เดือน ของสารเคอร์คิวมินอยด์ ในหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ ที่แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 15 ตัวต่อเพศ แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำ กลุ่มควบคุมที่ได้รับ tragacanth และกลุ่มทดลองที่ได้รับน้ำยาแขวนตะกอนเคอร์คิวมินอยด์ ใน tragacanth ทางปากในขนาด 10, 50 และ 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับ 1, 5 และ 25 เท่าของขนาดที่ใช้ในคนต่อวัน ส่วนหนูทดลองกลุ่มที่ 4 ได้รับน้ำยาแขวนตะกอนเคอร์คิวมินอยด์ ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน นาน 6 เดือน แต่หยุดให้ยา 2 สัปดาห์ ก่อนผ่าซาก เพื่อดูว่าหากมีอาการพิษจากเคอร์คิวมินอยด์เกิดขึ้น จะกลับมาหายเป็นปกติได้หรือไม่หลังจากหยุดยา พบว่าอัตราการเจริญของหนูเพศผู้ที่ได้รับเคอร์คิวมินอยด์ ขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับ tragacanth อย่างมีนัยสำคัญ สารเคอร์คิวมินอยด์ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางโลหิตวิทยาใด ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับขนาดของสารที่ให้ในหนูเพศผู้ที่ได้รับเคอร์คิวมินอยด์ ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน พบว่าน้ำหนักจริง และน้ำหนักสัมพัทธ์ของตับ และระดับ alkaline phosphatase สูงกว่ากลุ่มควบคุมทั้งสองกลุ่ม แต่ยังอยู่ในช่วงของค่าปกติ แม้ว่าหนูกลุ่มนี้ดูเหมือนจะมีอุบัติการณ์ของไขมันสะสมในตับ และชั้น cortex ของต่อมหมวกไตสูง แต่อุบัติการณ์ดังกล่าวไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มควบคุมทั้งสองอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการให้เคอร์คิวมินอยด์ ในขนาดที่ใช้ในคน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่ทำให้เกิดพิษในหนูขาว อย่างไรก็ตามเคอร์คิวมินอยด์ ในขนาดสูงอาจมีผลต่อการทำงาน และโครงสร้างตับได้ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กลับเป็นปกติได้เมื่อหยุดใช้เคอร์คิวมินอยด์ (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)
ข้อควรระวัง:
1. การใช้ขมิ้นเป็นยารักษาโรคกระเพาะ ถ้าใช้ขนาดสูงเกินไป จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะ
2. คนไข้บางคนอาจมีอาการแพ้ขมิ้น โดยมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว นอนไม่หลับ ให้หยุดยา
3. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการอุดตันของท่อน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี และห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์
4. ควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากเสริมฤทธิ์กัน อาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และเลือดไหลหยุดยากได้
เอกสารอ้างอิง:
1. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549. พิมพ์ครั้งที่ 2. โรงพิมพ์ชุนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย:กรุงเทพมหานคร, 2551.
2. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ: ข้อมุลบนหลักฐานทางวิชาการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. แสงเทียนการพิมพ์:กรุงเทพมหานคร, 2552.
3. Gupta A, Mahajan S, Sharma R. Evaluation of antimicrobial activity of Curcuma longa rhizome extract against Staphylococcus aureus. Biotechnology Reports. 2015;6:51–55.
4. Niamsa N, Sittiwet C. Antimicrobial Activity of Curcuma longa aqueous extract. J Pharmacol Toxicol. 2009;4(4):173-177.
5. Sincharoenpokai P, Lawhavinit O, Sunthornandh P, Kongkathip N, Sutthiprabha S, Kongkathip B. Inhibitory effects of Turmeric (Curcuma longa L.) extracts on some human and animal pathogenic bacteria. Research report of Kasetsart University. 2009.
ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/