ชื่อเครื่องยา | โกฐเขมา |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | เหง้าแห้ง |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | โกฐเขมา |
ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) | โกฐหอม, ซังตุ๊ก, ชางจู๋ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Atractylodes lancea (Thunb.) DC. |
ชื่อพ้อง | Acarna chinensis Bunge, Atractylis chinensis (Bunge) DC., Atractylis erosodentata (Koidz.) Arènes, Atractylis lancea Thunb., Atractylis lyrata (Siebold & Zucc.) Hand.-Mazz., Atractylis separata L.H.Bailey, Atractylodes chinensis (Bunge) Koidz., Atractylodes erosodentata Koidz., Atractylodes japponica var. coriacea Konta & Katsuy., Atractylodes lyrata Siebold & Zucc., Giraldia stapfii Baroni |
ชื่อวงศ์ | Compositae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เหง้าแห้งค่อนข้างกลมหรือยาว หรือรูปทรงกระบอก หรืออาจมีแง่งยาวแยกออกไป ยาว 3-10 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ผิวเป็นปุ่มปม ขรุขระ สีน้ำตาลอมเทา มีรอยย่นและรอยบิดตามขวาง เนื้อแน่น เมื่อฝานหัวออกใหม่ๆจะมีสีขาวมอที่ด้านใน ผิวสีเหลือง เนื้อในมีแต้มสีแสดของชันน้ำมันอยู่ประปรายทั่วไป มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสหวานอมขมเล็กน้อย และเผ็ดร้อน
เครื่องยา โกฐเขมา
เครื่องยา โกฐเขมา
เครื่องยา โกฐเขมา
เครื่องยา โกฐเขมา
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณน้ำไม่เกิน 11% v/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 7 % w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.5% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 12% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 35% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 1.4% v/w (ข้อกำหนดเภสัชตำรับไทย)
ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.5% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่ายไม่น้อยกว่า 1% v/w (ข้อกำหนดเภสัชตำรับญี่ปุ่น)
ปริมาณน้ำไม่เกิน 13% v/w, ปริมาณเถ้ารวม ไม่เกิน 7% w/w, ปริมาณสาร atractydin ไม่น้อยกว่า 0.3% w/w (ข้อกำหนดเภสัชตำรับจีน)
สรรพคุณ:
เหง้าเป็นยาบำรุงธาตุ ขับลม เป็นยาบำรุง ใช้แก้โรคเข้าข้อ เป็นยาเจริญอาหาร ยาขับปัสสาวะ แก้โรคในปากในคอเป็นแผลเน่าเปื่อย แก้เสียดแทงสองราวข้าง แก้จุกแน่น แก้หอบหืด ระงับอาการหอบ แก้หวัดคัดจมูก แก้ไข้ แก้ลมตะกัง แก้เหงื่อออกมาก แก้ไข้รากสาดเรื้อรัง แก้ขาปวดบวม ขาไม่มีแรง ปวดข้อ แก้ท้องเสีย แพทย์แผนจีนนิยมใช้โกฐเขมามาก เข้าในยาจีนหลายขนาน ตำรายาจีนว่าใช้แก้อาการท้องร่วงท้องเสีย แก้อาการบวมโดยเฉพาะอาการบวมที่ขา แก้ปวดข้อ เนื่องจากโรคข้ออักเสบ แก้หวัด และแก้โรคตาบอดตอนกลางคืน
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐเขมาในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย รวม 2 ตำรับ คือ
1. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐเขมาอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
2. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของโกฐเขมาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ
โกฐเขมาเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ พืชชนิดนี้มีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โกฐเขมาจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) โกฐทั้งเจ็ด(สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า(เนาวโกฐ)สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก “พิกัดโกฐทั้ง 9” (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
รับประทานครั้งละ 3-9 กรัม ในรูปแบบยาต้ม ต่อวัน หรือใช้เป็นเครื่องยาตามตำรับยา
องค์ประกอบทางเคมี:
โกฐเขมามีองค์ประกอบเคมีเป็นน้ำมันระเหยง่ายร้อยละ 3.5-5.6 น้ำมันระเหยง่ายนี้มีสารสำคัญคือ สารเบตา-ยูเดสมอล (beta-eudesmol) สารอะแทร็กทีโลดิน (atractylodin), beta-selinene, alpha-phellandrene, สารไฮนีซอล (hinesol) สารเอลีมอล (elemol) และสารอะแทร็กทีลอน (atractylon) สารกลุ่ม polyacetylene, coumarin
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้
การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดเหง้าโกฐเขมา และน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเหง้า คือ β-eudesmol ต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก และระยะเวลาที่ทำให้กระเพาะอาหารว่างในหนูเม้าส์เพศผู้ ที่ถูกกระตุ้นด้วย atropine, dopamine และ 5-hydroxytryptamine (5-HT)โดยให้สารสกัดโกฐเขมาในขนาด 500 หรือ 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ β-eudesmol ขนาด 50 หรือ 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และยามาตรฐาน itopride hydrochloride ขนาด 10 หรือ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ผลการทดลองพบว่าสารสกัดโกฐเขมามีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก และทำให้อาหารเคลื่อนผ่านกระเพาะอาหารเร็วขึ้น ในหนูที่ถูกกระตุ้นด้วยdopamine ขนาด 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสารสกัดโกฐเขมาในขนาด 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ β-eudesmol ขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กในหนูที่ถูกกระตุ้นด้วยatropine แต่ไม่มีผลต่อระยะเวลาที่ทำให้กระเพาะว่างนอกจากนี้สารสกัดโกฐเขมาในขนาด 500 หรือ 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ β-eudesmol ขนาด 25, 50 หรือ 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก และทำให้อาหารเคลื่อนผ่านกระเพาะอาหารเร็วขึ้น ในหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย 5-HT ขนาด 4 มิลลิกรัม/กิโลกรัมหรือ 5-HT3 receptor agonist จากงานวิจัยนี้จึงสรุปว่าสารสกัดโกฐเขมาและน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากโกฐเขมา คือ β-eudesmolทำให้อาหารเคลื่อนผ่านกระเพาะอาหารเร็วขึ้น และกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ผ่านกลไลการยับยั้ง dopamine D2 receptor และ 5-HT3 receptor สามารถนำมาพัฒนายารักษาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอาเจียน อึดอัดแน่นจากอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหาร รักษาโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งมีต้นเหตุมาจากเส้นประสาทของกระเพาะอาหารถูกทำลาย (gastroparesis) เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อกระเพาะอ่อนแรง ทำให้ไม่สามารขับเคลื่อนอาหารให้ผ่านไปยังส่วนต้นของลำไส้ (duodenum) ได้ จึงมีอาหารเหลือตกค้างในกระเพาะอาหาร (Kimura and Sumiyoshi, 2012)
ฤทธิ์แก้ท้องอืดเฟ้อ
ฤทธิ์เพิ่มระยะเวลาที่ทำให้กระเพาะอาหารว่าง ของน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าโกฐเขมา ในหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์วิสตาร์ ที่อยู่ในภาวะเครียด และผลของฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งหลั่งจากต่อมไฮโปธาลามัส หรือ corticotropin-releasing factor (CRF) ทดสอบโดยป้อนน้ำมันหอมระเหยจากเหง้า ในขนาดต่างๆ คือ 30,60 และ 120 mg/kg ต่อวัน แก่หนูเป็นเวลา 7 วัน พบว่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาที่ทำให้กระเพาะอาหารว่างในหนูปกติ แต่มีผลทำให้เพิ่มระยะเวลาที่ทำให้กระเพาะอาหารว่างได้ในหนูที่มีภาวะเครียด น้ำมันหอมระเหยสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมน motilin (MTL) และ gastrin (GAS) และลดระดับ somatostatin (SS) และ CRF อย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่ากลไกสำคัญเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมน คือยับยั้งการหลั่ง CRF ซึ่งผลเหล่านี้ทำให้เพิ่มระยะเวลาที่ทำให้กระเพาะอาหารว่างเร็วขึ้น จึงลดอาการไม่สบายท้อง ท้องอืดเฟ้อจากความเครียดในหนู (ภาวะเครียดทำให้การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง) (Zhang, et al., 2008)
ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
สารสกัดจากเหง้าของโกฐเขมา เมื่อป้อนให้หนูแรทสายพันธุ์ sprague-dawley ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารโดยใช้กรด acetic acid ทำการเก็บเลือด และเซลล์เนื้อเยื่อกระเพาะอาหารของหนู วัดระดับของ epidermal growth factor (EGF), trefoil factor 2 (TFF2), tumor necrosis factor-α(TNF-α), interleukin 6, 8 (IL-6, 8) และ prostaglandin E2 (PGE2) ที่เกิดขึ้น โดยใช้เทคนิค (ELISA) และวัดการแสดงออกของ mRNA ได้แก่ EGF, TFF2, TNF-α และ IL-8 ในกระเพาะอาหาร จะถูกวิเคราะห์โดยใช้เทคนิค real-time-PCR ผลการทดลองพบว่าการถูกทำลายจากกรดของเซลล์เนื้อเยื่อกระเพาะอาหารลดลงและยังยับยั้งการสร้างสารที่เกี่ยงข้องกับการอักเสบ ได้แก่ TNF-α, IL-8, IL-6, และ PGE2 และมีฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารโดยเพิ่มการแสดงออกของ mRNA ของ EGF, TFF2เพิ่มการสร้าง EGF, TFF2 (Yu, et al., 2015)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,786 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
ข้อควรระวังในการใช้:
ควรใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย ที่มีอุจจาระร่วงเป็นน้ำ
เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
2. Kimura Y, Sumiyoshi M. Effects of an Atractylodes lancea rhizome extract and a volatile component beta-eudesmol on gastrointestinal motility in mice. J Ethnopharmacology. 2012;141:530-536.
3. Yu Y, Jia T-Z, Cai Q, Jiang N, Ma M-Y, Min D-Y, et al. Comparison of the anti-ulcer activity between the crude and bran-processed Atractylodes lancea in the rat model of gastric ulcer induced by acetic acid. J Ethnopharmacology. 2015;160:211-218.
4. Zhang H, Han T, Sun L-N, Huang B-K, ChenY-F, Zheng H-C, et al. Regulative effects of essential oil from Atractylodes lancea on delayed gastric emptying in stress-induced rats. Phytomedicine. 2008;15:602–611.
ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/