ชื่อเครื่องยา | แห้วหมู |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | หญ้าแห้วหมู |
ได้จาก | หัวใต้ดิน |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | แห้วหมู |
ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) | หญ้าขนหมู (แม่ฮ่องสอน) หญ้าแห้วหมู หัวแห้วหมู หญ้ามะนิ่วหมู |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Cyperus rotundus L. |
ชื่อพ้อง | Chlorocyperus rotundus (L.) Palla, Chlorocyperus salaam (L.) Hayek, Schoenus tuberosusensis Palla, Cyperus agrestis Willd. ex Spreng. & Link, Cyperus arabicus Ehrenb. ex Boeckeler, Cyperus bicolor Vahl, Cyperus bifax C.B.Clarke, Cyperus bulbosostoloniferus Miq., Cyperus comosus Sm., Cyperus disruptus C.B.Clarke, Cyperus herbicavus Melliss, Cyperus hexastachyos Rottb., Cyperus hildra Poir., Cyperus hydra Michx., Cyperus laevissimus Steud., Cyperus leptostachyus Griff., Cyperus merkeri C.B.Clarke, Cyperus micreilema Steud., Cyperus nubicus C.B.Clarke, Cyperus ochreoides Steud., Cyperus oliganthus Gand., Cyperus olivaris O.Targ.Tozz., Cyperus platystachys Cherm., Cyperus procerulus Nees, Cyperus pseudovariegatus Boeckeler, Cyperus purpureovariegatus Boeckeler, Cyperus radicosus Sm., Cyperus rudioi Boeckeler, Cyperus taylorii C.B.Clarke, Cyperus tetrastachyos Desf., Cyperus tuberosus Rottb., Cyperus weinlandii Kük., Cyperus yoshinagae Ohwi, Pycreus rotundus |
ชื่อวงศ์ | Cyperaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ลำต้นใต้ดินรูปกระสวย แข็ง สีน้ำตาลดำ เห็นเป็นข้อๆ ผิวไม่เรียบ มีความเหนียว ยาว 1.5-3 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร ผิวนอกสีเทาน้ำตาลถึงสีเทาดำ มี 5-8 ข้อ แต่ละข้อมีขน เนื้อภายในสีเหลืองถึงน้ำตาลแดง มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดปร่า และขม
เครื่องยา หัวแห้วหมู
เครื่องยา หัวแห้วหมู
เครื่องยา หัวแห้วหมู
เครื่องยา หัวแห้วหมู
เครื่องยา หัวแห้วหมู
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี: -
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย หัวรสซ่าติดจะร้อนเผ็ด ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ปวดประจำเดือน แก้ประจำเดือนผิดปกติ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้ท้องอืดเฟ้อ บำรุงกำลัง บำรุงครรภ์รักษา (บำรุงทารกในครรภ์) เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับเหงี่อ ขับระดู ขับปัสสาวะ แก้ไข้ เป็นยาฝาดสมาน สงบประสาท เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ไข้ ลดความดันโลหิต ลดการอักเสบ แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้อาเจียน แก้โรคตับอักเสบ
ชาวเปอร์เซียและอาหรับ ใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ และแก้ปวดท้อง โดยใช้หัวแห้วหมูตำกับขิง แล้วรับประทานกับน้ำผึ้ง และใช้เป็นยาแก้บิด บางท้องที่ใช้หัวโขลกพอกที่นม เป็นยาช่วยให้น้ำนมมาก และกล่าวว่าถ้ารับประทานมากเป็นยาขับพยาธิไส้เดือน ถ้าใช้ภายนอกเป็นยาพอกดูดพิษ
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้แห้วหมูในตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของหัวแห้วหมูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
หัวแห้วหมู 1 กำมือ (60-70 หัว หรือหนัก 15 กรัม) ทุบให้แตกต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้หัวสด ครั้งละ 5 หัว โขลกให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งรับประทาน
อาการไม่พึงประสงค์:
อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
องค์ประกอบทางเคมี:
น้ำมันหอมระเหย พบองค์ประกอบได้แก่ pinene. cineol, calamene, delta-cadinene, β-cadinene, alloaromadendrene, α-cubebene, α-cyperene, cyperol, cyperolone, cyperotundone
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องร่วง
การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องร่วงของสารสกัดเมทานอลที่ได้จากหัวใต้ดินแห้วหมู และสารสกัดที่เกิดจากการแยกส่วน (partition) ของสารสกัดเมทานอลต่อด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ (PEF), เอทิลอะซิเตต (EAF) และสารสกัดเมทานอลส่วนสุดท้ายที่เหลือ (RMF) ตามลำดับ ทำการศึกษาในหนูถีบจักร สายพันธุ์ Swiss albino โดยใช้น้ำมันละหุ่งเหนี่ยวนำให้หนูเกิดอาการท้องร่วง จากนั้นให้สารสกัดที่ได้จากแห้วหมู ขนาด 250 หรือ 500 mg/kgในหนูแต่ละกลุ่ม ใช้ยา Loperamide เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบระยะเวลาในการเริ่มมีอาการท้องร่วง ของหนูกลุ่มควบคุม, กลุ่มได้รับยามาตรฐาน Loperamide, กลุ่มได้รับสารสกัดเมทานอลขนาด 250 และ 500 mg/kg,กลุ่มที่ได้รับ PEF 250 mg/kg, EAF 250 mg/kg และ RMF 250 mg/kg เท่ากับ 0.82±0.17, 2.88±0.44**, 1.43±0.11***, 2.31±0.33**, 1.65±0.29***, 0.85±0.1, และ 2.33±0.62***ชั่วโมง ตามลำดับ จำนวนครั้งที่ถ่ายอุจจาระใน 4 ชั่วโมง เท่ากับ 12.00±1.52, 2.20±0.80*, 5.8±0.74**, 4.60±1.03**, 5.40±0.93**, 11.60±0.75 และ 2.00±0.71* ตามลำดับ จำนวนครั้งที่ถ่ายเหลวใน 4 ชั่วโมง เท่ากับ 7.80±0.80, 0.8±0.37*, 3.00±0.55**, 1.8±0.37*, 2.2±0.58*, 8.0±0.71 และ 1.0±0.32* ตามลำดับ (*P<0.001, **P<0.01, ***P<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) สรุปได้ว่าสารสกัดเมทานอล สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ และสารสกัดเมทานอลส่วนสุดท้ายจากห้วแห้วหมู มีผลลดความถี่ของการถ่ายอุจจาระ และทำให้ระยะเวลาในการเริ่มเกิดอาการท้องร่วงเกิดช้าลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยส่วนสกัดที่ออกฤทธิ์ดีที่สุดคือสารสกัดเมทานอลส่วนสุดท้ายที่เหลือจากการพาร์ทิชัน (RMF) ส่วนสารสกัดเอทิลอะซิเตตไม่ออกฤทธิ์ต้านอาการท้องร่วง (Uddin, et al., 2006)
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหาร
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดน้ำ,สารสกัดที่มีโอลิโกเมอร์ฟลาโนอยด์สูง (TOF), สารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเมทานอล ของหัวใต้ดินแห้วหมู โดยใช้วิธี microdilution method ใช้ยา ampicillin เป็นสารมาตรฐาน ทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียจำนวน 5 ชนิด ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอาหาร ได้แก่ Staphylococcus aureus, Escherichia coli, Salmonella typhimurium, Salmonella enteritidis และ Enterococcus faecalis ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด TOF ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ S. aureus และ S. enteritidis ได้ดีที่สุด โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งการเจริญของเชื้อ (MIC) เท่ากับ 0.5mg/ml ต่อเชื้อทั้งสองชนิด นอกจากนี้ยังยับยั้งเชื้อ S. typhimurium ได้ดีที่สุด โดยมีค่า MIC เท่ากับ 1mg/ml สารสกัดเอทิลอะซิเตต มีค่า MIC ต่อเชื้อ S. aureus และ E. faecalis เท่ากับ 0.5mg/ml ต่อเชื้อทั้งสองชนิด สารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัด TOF มีค่า MIC ต่อเชื้อ E. coli เท่ากับ 5mg/ml (ยา ampicillin มีค่า MIC ต่อเชื้อ S. aureus, E. coli, S. typhimurium, S. enteritidis และE. faecalis เท่ากับ 0.0015, 0.006, 0.0039, 0.0019 และ 0.0025 mg/ml ตามลำดับ) (Kilani, et al., 2008)
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ของสารสกัดน้ำ, สารสกัดที่มีโอลิโกเมอร์ฟลาโนอยด์สูง (TOF), สารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเมทานอลของหัวใต้ดินแห้วหมู โดยศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูล superoxide anion radical ด้วยวิธีการยับยั้งการรีดักชันของ NBT (nitroblue tetrazolium) โดยอาศัยหลักการที่อนุมูล superoxide anion ซึ่งเป็น reducing agents จะไป reduce NBT dye ซึ่งเป็นสีชนิดหนึ่ง จากสีเหลือง ให้เป็น formazan blue ซึ่งมีสีน้ำเงิน หากสารทดสอบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระก็จะสามารถยับยั้งการรีดักชันของ NBT ได้ การทดสอบใช้ quercetin เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดที่มีโอลิโกเมอร์ฟลาโนอยด์สูง (TOF) และสารสกัดเอทิลอะซิเตต ออกฤทธิ์ในการกำจัดอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด และออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน โดยสามารถกำจัดอนุมูล superoxide anion ได้เท่ากับ 89.8±4% (IC50 เท่ากับ 68 µg/ml) และ 86±2.1% (IC50 เท่ากับ 90 µg/ml) ตามลำดับ (สารมาตรฐาน quercitin กำจัดอนุมูล superoxide anion ได้เท่ากับ 64.96±2.2% (IC50 เท่ากับ 360 µg/ml) (Kilani, et al., 2008)
ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว
การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวในหลอดทดลอง ของสารสกัดน้ำ, สารสกัดที่มีโอลิโกเมอร์ฟลาโนอยด์สูง (TOF), สารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเมทานอล ของหัวใต้ดินแห้วหมู โดยใช้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว leukaemia cell line L1210 ที่ได้จากหนู ตรวจสอบโดยใช้วิธี MTT assay ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตตออกฤทธิ์ดีที่สุด ที่ความเข้มข้น 800µg/ml สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยทำให้เซลล์ตาย ได้ 78.92% (ค่า IC50 เท่ากับ 200 µg/ml) สารสกัด TOF ความเข้มข้น 50-800 µg/ml สามารถลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ 0.61-63.84% (ค่า IC50 เท่ากับ 240 µg/ml) (Kilani, et al., 2008)
ผลการเหนี่ยวนำขบวนการ apoptosis ของเซลล์
การเหนี่ยวนำขบวนการ apoptosis ของเซลล์ เป็นการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้สารสกัดน้ำ,สารสกัดที่มีโอลิโกเมอร์ฟลาโนอยด์สูง (TOF), สารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเมทานอล ของหัวใต้ดินแห้วหมู ทดสอบโดยดูผลของการทำให้ DNA ของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว leukaemia cell line L1210 ที่ได้จากหนู เกิดการแตกหักเสียหาย ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการเหนี่ยวนำให้เกิด apoptosis ซึ่งเป็นขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย ผลการทดสอบพบว่าเมื่อให้สารสกัดสัมผัสกับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นเวลา 24 ชั่วโมง สารสกัดเอทิลอะซิเตตที่ความเข้มข้น 800 µg/ml ทำให้ DNA ของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดการแตกหักเสียหายได้สูงสุด รองลงมาได้แก่สารสกัด TOF ความเข้มข้น 800 และ 400 µg/ml ตามลำดับ ซึ่งแสดงถึงศักยภาพในการนำสารสกัดทั้งสองชนิดไปพัฒนาเป็นยาป้องกัน หรือกำจัดมะเร็งได้ต่อไป (Kilani, et al., 2008)
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากทั้งต้นแห้วหมู ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี agar disc diffusion method สำหรับสารสกัดน้ำ และใช้วิธี agar well diffusion method สำหรับสารสกัดจากเอทานอล ใช้ยา chloramphenicol และยา amphotericin เป็นสารมาตรฐาน สำหรับเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ตามลำดับ ทดสอบกับเชื้อจำนวน 15 ชนิด ได้แก่ Alcaligenes faecalis, Bacillus cereus, Bacillus subtilis, Enterobacter aerogenes, Escherichia coli, Klebsiella pneumoniae, Proteus mirabilis, Proteus vulgaris, Pseudomonas aeruginosa, Pseudomonas pseudoalcaligenes, Salmonella typhimurium, Staphylococcus aureus, Staphylococcus epidermidis, Staphylococcus subfava และ Candida tropicalis ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำไม่พบ zone of inhibition ต่อเชื้อทุกชนิด แสดงว่าไม่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อได้ ส่วนสารสกัดเอทานอลมีผลต่อการยับยั้งได้ร้อยละ 70 ของจำนวนเชื้อที่ใช้ทดสอบ โดยมีค่า zone of inhibition ในการยับยั้งเชื้อเท่ากับ 12, 18, 12, 11, 0, 15, 15, 11, 0, 11, 0, 13, 14, 13 และ 0 mm ตามลำดับ ในขณะที่ยามาตรฐาน chloramphenicol มีค่าเท่ากับ 17, 17, 16, 20, 22, 32, 18, 21, 10, 28, 25, 20, 19, 18 และ 0 mm ตามลำดับ (Parekh, et al., 2006)
โดยสรุปสารสกัดเอทานอลจากแห้วหมูออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus ได้ดีที่สุด (เชื้อนี้สามารถก่อโรคฉวยโอกาสได้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่โรงพยาบาล เครื่องมือแพทย์ สามารถก่อโรคอาหารเป็นพิษ และตาอักเสบได้) รองลงมาได้แก่เชื้อ Klebsiella pneumonia (ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น) Proteus mirabilis (ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่โรงพยาบาล) และเชื้อ Staphylococcus epidermidis (ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่โรงพยาบาล ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเด็กแรกเกิด หรือในผู้ที่ใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น)
การศึกษาทางคลินิก: -
การศึกษาทางพิษวิทยา: -
เอกสารอ้างอิง:
1. Kilani S, Sghaier MB, Limem I, Bouhlel I, Boubaker J, Bhouri W, et al. In vitro evaluation of antibacterial, antioxidant, cytotoxic and apoptotic activities of the tubers infusion and extracts of Cyperus rotundus. Bioresource Technology. 2008;99:9004-9008.
2. Parekh J, Chanda S. In-vitro antimicrobial activities of extracts of Launaea procumbens Roxb. (Labiateae), Vitis vinifera L. (Vitaceae) and Cyperus rotundus L. (Cyperaceae). African Journal of Biomedical Research. 2006;9:89-93.
3. Uddin SJ, Mondal K, Shilpi JA, Rahman MT. Antidiarrhoeal activity of Cyperus rotundus. Fitoterapia. 2006;77:134-136.
ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/