ทับทิม

ชื่อเครื่องยา

ทับทิม

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ใบ

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

ทับทิม

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

มะเก๊า มะก่องแก้ว หมากจัง (เหนือ) พิลาขาว (น่าน) พิลา (หนองคาย)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Punica granatum L.

ชื่อพ้อง

Punica nana

ชื่อวงศ์

Lythraceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          ใบเป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนานแกมรูปหอกกลับ ปลายแหลม ยาว 2-9 เซนติเมตร กว้าง 1-2 เซนติเมตร โคนใบสอบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบกว้าง ขอบเรียบ ผิวใบหนา ใบแห้งสีเขียวอมน้ำตาล รสฝาดเล็กน้อย

 

 

                                                    

                                                                                                               เครื่องยา ใบทับทิม

 

 

                                                             

                                                                                                               เครื่องยา ใบทับทิม

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:     -

         

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย ใบ รสฝาด แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด แก้ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน ปิดธาตุ สมานแผล พอกแผลฟกช้ำ แก้อาเจียน รักษาตาเจ็บ อมกลั้วคอ ชะล้างแผลมีหนองเรื้อรังบนศีรษะ  แก้โรคลักปิดลักเปิด ทับทิมทั้ง 5 (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล) แก้ท้องเสีย แก้บิด มูกเลือด ขับพยาธิเส้นด้าย และตัวตืด ใบสดนำมาต้ม กรองเอาน้ำใช้ล้างแผลที่มีหนอง หรือใช้ใบสดตำพอกบริเวณที่เป็นแผลถลอก สมานแผล

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ใบทับทิมในตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของใบทับทิมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:      -

 

องค์ประกอบทางเคมี:

          ใบพบองค์ประกอบหลักเป็นสารกลุ่มแทนนิน

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

       การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ของสารสกัดเมทานอล และสารสกัดเอทานอลที่ได้จากใบทับทิม ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี agar well diffusion method เพื่อหาบริเวณโซนใสที่ยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) และใช้วิธี micro broth dilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (MIC) ใช้ยา ciprofloxacin ขนาด 5 µg/ml เป็นสารมาตรฐาน ทำการทดสอบกับเชื้อแบคทีเรีย แกรมลบ 3 ชนิด ได้แก่ Escherichia coli, Klebsiella pneumonia และ Salmonella typhimurium  เชื้อแบคทีเรีย แกรมบวก 2 ชนิด ได้แก่ Staphylococcus aureus และ Bacillus cereus ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลมีค่า MIC ในการยับยั้งเชื้อทั้ง 5 ชนิด เท่ากับ 2.5, 1.25, 2.5, 1.25 และ 0.3125 mg/ml ตามลำดับ  สารสกัดเอทานอล มีค่า MIC ในการยับยั้งเชื้อทั้ง 5 ชนิด เท่ากับ 1.25, 1.25, 2.5, 2.5 และ 0.07813 mg/ml ตามลำดับ (MIC ของสารมาตรฐานเท่ากับ 0.1526, 0.3125, 0.15625, 0.07813 และ 1.3125 mg/ml ตามลำดับ)โดยสรุปทั้งสารสกัดเมทานอล และเอทานอลจากใบทับทิม สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้ง 5 ชนิด ที่ใช้ในการทดสอบได้ โดยเชื้อ E. coli, S. typhimurium, S. aureus และ B. cereus  เป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุในการก่อโรคอาหารเป็นพิษ และโรคอื่นๆได้ โดยเฉพาะเชื้อ E. coli และ S. typhimurium เป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง เชื้อ K. pneumoniae เป็นสาเหตุให้ติดเชื้อที่ปอดได้ และพบว่าสารสกัดเมทานอล และเอทานอลสามารถยับยั้งเชื้อ B. cereus ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ciprofloxacin โดยเชื้อ B.cereus เป็นเชื้อที่สามารถก่อโรคฉวยโอกาสได้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ติดเชื้อจากเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ทำให้เกิดเยื่อบุหัวใจ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนี้ยังก่อโรคอาหารเป็นพิษได้ และเป็นสาเหตุของการเกิดตาอักเสบ เป็นต้น (Madduluri, et al., 2013)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลองของสารสกัดเฮกเซน, สารสกัดไดคลอโรมีเทน, สารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเอทานอล และสารสกัดเมทานอล ที่ได้จากใบทับทิม ตรวจสอบโดยดูผลการยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในขบวนการอักเสบได้แก่ 5-lipoxygenase (5-LOX) ใช้ nordihydroguaiareticacid (NDGA) เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้สูงที่สุด  รองลงมาคือสารสกัดเมทานอล โดยสารสกัดทั้งสองชนิดออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน  ค่า IC50 ของสารสารสกัดเอทานอล, สารสกัดเมทานอล, และสารมาตรฐาน NDGA เท่ากับ  6.20±0.17, 6.83±0.37 และ 7.00±0.22 mg/l ตามลำดับ (Bekir, et al., 2013)

ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส

      การทดสอบฤทธิ์ anti-cholinesterase ในหลอดทดลองของสารสกัดเฮกเซน, สารสกัดไดคลอโรมีเทน, สารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเอทานอล, และสารสกัดเมทานอลที่ได้จากใบทับทิม ตรวจสอบโดยวิธี Ellman’s method โดยดูผลการยับยั้งเอนไซม์ 2 ชนิด คือ acetylcholinesterase (AChE) และ butyrylcholinesterase (BuChE) (ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acethylcholine ในสมอง ทีเกี่ยวข้องกับความจำ การยับยั้งเอนไซม์นี้ ซึ่งมี 2 ชนิดหลักคือ AChE และ BChE  โดย BChE จะพบมากในระยะท้ายของโรคอัลไซเมอร์ การยับยั้งเอนไซม์ทั้งสองชนิดนี้ จึงเป็นเป้าหมายในการรักษาโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์) การทดสอบใช้ galanthamine เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดเอทานอล ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ทั้ง 2 ชนิด ได้ดีที่สุด โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ AChE อยู่ในระดับดี ค่า IC50 ของสารสกัดเอทานอล และสารมาตรฐาน galanthamine  เท่ากับ 14.83±0.73 และ 0.45±0.03  mg/l ตามลำดับ  ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ BuChE อยู่ในระดับดีมาก ค่า IC50 ของสารสกัดเอทานอล และสารมาตรฐาน galanthamine  เท่ากับ 2.65±0.21 และ 3.74±0.28 mg/l ตามลำดับ (Bekir, et al., 2013)

ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง

      การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ของสารสกัดเฮกเซน, สารสกัดไดคลอโรมีเทน, สารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเอทานอล และสารสกัดเมทานอล ที่ได้จากใบทับทิม โดยใช้เซลล์มะเร็งเต้านมที่ได้จากมนุษย์ (MCF-7) ใช้ doxorubicin เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง MCF-7 ได้ดีที่สุด ค่า IC50 ของสารสกัดเมทานอล และสารมาตรฐาน doxorubicin เท่ากับ 31±1.02และ 0.22±0.02 mg/l ตามลำดับ (Bekir, et al., 2013)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมี ในหลอดทดลอง ของสารสกัดเฮกเซน, สารสกัดไดคลอโรมีเทน, สารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเอทานอล และสารสกัดเมทานอล ที่ได้จากใบทับทิม ตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay และ ABTS (2,2'-azinobis-3-ethylbenzothiazoline-6-sulphonate)  assay ใช้ quercetin เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด ความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 5.62 ±0.23 และ 1.31±0.00 mg/l ตามลำดับ สารมาตรฐาน quercetin มีค่า IC50 เท่ากับ 2.86±0.09 และ 0.93±0.03 mg/l ตามลำดับ (Bekir, et al., 2013)

 

การศึกษาทางคลินิก:          -

การศึกษาทางพิษวิทยา:      -

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Bekir J, Mars M, Souchard JP, Bouajila J. Assessment of antioxidant, anti-inflammatory, anti-cholinesterase and cytotoxicactivities of pomegranate (Punica granatum) leaves. Food and Chemical Toxicology. 2013;55:470-475.

2. Madduluri S, Rao KB, Sitaram B. In vitro evaluation of antibacterial activity of five indigenous plants extract against five bacterial pathogens of human. Int J Pharm Pharm Sci. 2013;5(Suppl 4):679-684.

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา    : www.phargarden.com

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting