มะนาว

ชื่อเครื่องยา

มะนาว

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ใบ

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

มะนาว

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ส้มมะนาว(ภาคกลาง) ส้มนาว(ภาคใต้) โกรยซะม้า(เขมร-สุรินทร์) หมากฟ้า(ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Citrus aurantiifolia (Christm.) Swingle

ชื่อพ้อง

Citrus × acida Pers., C. × davaoensis (Wester) Yu.Tanaka, C. depressa var. voangasay Bory, C. × excelsa Wester, C. hystrix subsp. acida Engl., C. × javanica Blume, C. × lima Macfad., C. × limettioides Yu.Tanaka, C. × limonellus Hassk., C. × macrophylla Wester, C. medica var. acida Brandis, C. medica f. aurantiifolium (Christm.) M.Hiroe, C. × montana (Wester) Yu.Tanaka, C. × nipis Michel, C. × notissima Blanco, C. × papaya Hassk., C. × pseudolimonum Wester, C. × spinosissima G.Mey., C. × voangasay (Bory) Bojer, C. × webberi var. montana Wester, Limonia × aurantiifolia Christm.

ชื่อวงศ์

Rutaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          ใบประกอบแบบฝ่ามือ มีใบย่อย 1 ใบ ใบรูปไข่ รูปวงรี หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-6 เซนติมเตร ยาว 4-8 เซนติเมตร ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบจักเล็กน้อย เนื้อใบมีจุดน้ำมันกระจาย ก้านใบสั้น และแผ่เป็นปีกคล้ายใบมะกรูดแต่เล็กกว่า และสั้นกว่า ยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร

 

 

เครื่องยา ใบมะนาว

 

 

เครื่องยา ใบมะนาว

 

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:-

         

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย  ใบ รสปร่าซ่า กัดฟอกเสมหะ และระดู  ใช้ใบมะนาว 108 ใบ ต้มน้ำดื่ม เป็นยากัดฟอกเสมหะ ฟอกโลหิตระดูสำหรับสตรี ใช้ใบสดประมาณ 10-15 กรัมนำมาต้มเอาน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้ไอ ละลายเสมหะ แก้ท้องอืด ท้องเสีย ช่วยขับลม และทำให้เจริญอาหาร

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ใบมะนาวในตำรับ “ยาเลือดงาม” มีส่วนประกอบของใบมะนาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:         -

 

องค์ประกอบทางเคมี:              

       ใบมะนาวเมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยวิธีกลั่นด้วยน้ำ ได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.27 องค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ limonene, geranyl acetate, citral,  1,6-methyl-5-hepten-2-one, caryophyllene oxide

        การหาปริมาณสารสำคัญในใบด้วยวิธี HPLC พบองค์ประกอบหลักได้แก่ DL-limonene, linalool, linalyl acetate, β-pinene, sabinene (Loizzo, et al., 2012)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ลดความดันโลหิต

       ศึกษาผลของการใช้สารสกัดผสมของใบพืชวงศ์ Rutaceae ได้แก่ มะนาว (C. aurantifolia), มะกรูด (C. hystrix),  ส้มจี๊ด (C. microcarpa) และส้มจีน (C. sinensis) ต่อความดันโลหิตในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague Dawley โดยป้อนหนูด้วยอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันปาล์มที่ผ่านการทอดซ้ำมาแล้ว 5 และ 10 ครั้ง ทดสอบในหนูแต่ละกลุ่ม ในขนาดความเข้มข้น 15% w/w ให้ร่วมกับสารสกัดผสมจากใบของพืชกลุ่มมะนาว ในขนาดความเข้มข้น 0.15% w/w เป็นเวลา 16 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าการให้สารสกัดผสมจากใบของพืชกลุ่มมะนาว ร่วมกับน้ำมันทอดซ้ำมาแล้ว 5 ครั้ง สามารถลดความดันโลหิต, ปริมาณ TBAR ในเลือด (ผลผลิตจากการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน), ระดับของ (ACE) angiotensin-1 converting enzyme,  thromboxane (สารที่เกิดขึ้นในขบวนการอักเสบ), ลดความหนาของเส้นเลือดเอออต้าร์  ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะน้ำมันทอดซ้ำ 5 ครั้ง แต่ไม่ได้รับสารสกัด นอกจากนี้ยังพบว่าระดับของ heme oxygenase-1 (เกี่ยวข้องกับการทำให้หลอดเลือดขยายตัว และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ) มีระดับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.05)  เมื่อให้สารสกัดผสมจากใบของพืชกลุ่มมะนาว ร่วมกับน้ำมันที่ผ่านความร้อนมาแล้ว 5 ครั้ง  และ 10 ครั้ง (Siti, et al., 2017)  โดยสรุปสารสกัดผสมจากใบพืชกลุ่มมะนาว สามารถลดความดันโลหิตที่เกิดจากใช้น้ำมันปาล์มที่ผ่านการทอดซ้ำมาแล้วได้ เนื่องจากการได้รับน้ำมันที่ผ่านความร้อนมาแล้วเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดปฏิกิริยา lipid peroxidation นำไปสู่ความผิดปกติของหลอดเลือด และระดับเอนไซม์ที่ควบคุมความดันเลือด โดยทำให้ระดับเอนไซม์ ACE (Angiotensin-Converting Enzyme) เพิ่มขึ้น เอนไซม์นี้จะทำหน้าที่เปลี่ยน angiotensin I ให้เป็น angiotension II (ซึ่งสาร angiotensin II จะทำให้หลอดเลือดหดตัวทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอลจากใบ และผิวผลมะนาว ใช้การทดสอบในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี ในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) radical scavenging assay และ ABTS•+ ( 2,2'-azino-bis(3-ethylbenzothiazoline-6-sulfonic acid) radical cation, วิธี β-carotene bleaching test (เพื่อดูการปกป้อง β-carotene จากอนุมูล linoleate ของสารทดสอบซึ่งแสดงถึงการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมันได้) และ วิธี ferric reducing ability power assay (FRAP) เพื่อศึกษาสมบัติในการรีดิวส์ของสารต้านอนุมูลอิสระ ผลการทดสอบด้วยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดเมทานอลจากใบมะนาว และผิวผลมะนาวจาก 3 แหล่งในประเทศอิตาลี สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า IC50 ของสารสกัดใบ และผิวผลอยู่ระหว่าง 75.4±1.5 ถึง 89.7±2.7 และ 78.3±1.8 ถึง 93.8±2.5 µg/mL ตามลำดับ การทดสอบด้วยวิธี ABTS assay พบว่าสารสกัดใบ และผิวผลมะนาวด้วยเมทานอล มีค่าการยับยั้งอนุมูลอิสระ ABTS โดยมีค่า IC50 อยู่ระหว่าง 21.9±1.8 ถึง 28.8±2.5 และ 18.7±1.1 ถึง 41.4±1.5 µg/mL ตามลำดับ (สารมาตรฐาน ascorbic acid มีค่า IC50ในการยับยั้ง DPPH และ ABTS เท่ากับ 5.0±0.8 และ 0.96±0.03 µg/mL ตามลำดับ)  การทดสอบด้วยวิธี β-carotene bleaching test พบว่าสารสกัดที่ออกฤทธิ์ดีคือ สารสกัดใบด้วยเฮกเซน และสารสกัดผิวผลด้วยเฮกเซน โดยสามารถยับยั้งการการฟอกจางสี β-carotene  ที่เวลา 30 นาที (แสดงถึงการมีฤทธิ์ปกป้อง β-carotene จากการทำลายของอนุมูลอิสระได้) มีค่า IC50 อยู่ระหว่าง 8.5±0.5 ถึง 15.4±0.9 และ 9.7±0.7 ถึง 12.7±0.4 µg/mLตามลำดับ (สารมาตรฐาน propyl gallate มีค่า IC50 เท่ากับ 1.0±0.04µg/mL)  การทดสอบด้วยวิธี FRAP (การ reduce Fe3+เป็น Fe2+)  พบว่าสารสกัดเฮกเซนออกฤทธิ์ได้ดีกว่า โดยสารสกัดเฮกเซนจากผิวผลและใบ, สารสกัดเมทานอลจากผิวผลและใบ และสารมาตรฐาน BHT มีปริมาณของ Fe2+ ที่เกิดจากการรีดิวส์อยู่ในช่วง 159.2±3.8 ถึง 205.4±4.0, 112.1±2.2 ถึง 146.0±3.5 และ 63.2±4.5 µg/mLตามลำดับ (Loizzo, et al., 2012) โดยสรุปสารสกัดเมทานอลจากใบ และผิวผลมะนาวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในทุกการทดสอบ

ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส

       ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส (ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acethylcholine ในสมอง ที่เกี่ยวข้องกับความจำ เอนไซม์นี้ มี 2 ชนิดหลัก คือ AChE และ BChE  โดย BChE จะพบมากในระยะท้ายของโรคอัลไซเมอร์ การยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส  จะทำให้ระบบที่เกี่ยวข้องกับความจำในสมองดีขึ้น และเป็นเป้าหมายในการรักษาโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์) ทำการทดสอบในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี คือ Ellman’s method ผลการทดสอบการยับยั้ง AChE พบว่าสารสกัดเฮกเซนจากผิวผลออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 91.4±1.4 µg/mL การยับยั้ง BChE พบว่าสารสกัดเฮกเซนจากใบออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 84.0±2.9 µg/mL (สารมาตรฐาน physostigmine มีค่า IC50 ในการยับยั้ง AChE และ BChE เท่ากับ 0.2±0.02 และ 2.4±0.04 µg/mLตามลำดับ) (Loizzo, et al., 2012)

 

การศึกษาทางคลินิก:                -

อาการไม่พึงประสงค์:               -

การศึกษาทางพิษวิทยา:           -

 

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Loizzo MR, Tundis R, Bonesi M, Menichini F, Luca D, Colica C, et al. Evaluation of Citrus aurantifolia peel and leaves extracts for their chemical composition, antioxidant and anti-cholinesterase activities. J Sci Food Agric. 2012;92(15):2960-2967.

2. Siti HN, Kamisah Y, Iliyani MIN, Mohamed S, Jaarin K. Citrus leaf extract reduces blood pressure and vascular damage in repeatedly heated palm oil diet-Induced hypertensive rats. Biomedicine & Pharmacotherapy. 2017;87:451-460.

 

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม  : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting