การบูร

ชื่อเครื่องยา

การบูร

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

การกลั่นลำต้น ราก หรือใบของการบูร

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

การบูร

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

อบเชยญวน พรมเส็ง

ชื่อวิทยาศาสตร์

Cinnamomum camphora (L.) J. Presl.

ชื่อพ้อง

Camphora camphora (L.) H.Karst., Camphora hahnemannii Lukman., Camphora hippocratei Lukman., Camphora officinarum Nees, Camphora vera Raf., Camphorina camphora (L.) Farw., Cinnamomum camphoriferum St.-Lag., Cinnamomum camphoroides Hayata, Cinnamomum nominale (Hats. & Hayata) Hayata, Cinnamomum officinarum Nees ex Steud., Laurus camphora L., Persea camphora

ชื่อวงศ์

Lauraceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เป็นผลึกที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ของต้นการบูร ที่เกิดอยู่ทั่วไปทั้งต้น  มักจะอยู่ตามรอยแตกของเนื้อไม้  มีมากที่สุดในแก่นของรากรองลงมาที่แก่นของต้น  ส่วนที่อยู่ใกล้โคนต้นจะมีการบูรมากกว่าส่วนที่อยู่สูงขึ้นมา  ในใบและยอดอ่อนมีการบูรอยู่น้อย  ในใบอ่อนจะมีน้อยกว่าใบแก่ ผงการบูรเป็นเกล็ดกลมเล็ก  ๆ  สีขาวแห้ง  อาจจับกันเป็นก้อนร่วน ๆ  แตกง่าย  ทิ้งไว้ในอากาศ  จะระเหิดไปหมด มีรสร้อนปร่าเมา

 

เครื่องยา การบูร

 

เครื่องยา การบูร

 

เครื่องยา การบูร

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ไม่มีข้อมูล

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: “การบูร”  มีรสร้อนปร่าเมา ใช้ทาถูนวดแก้ปวด แก้เคล็ดบวม ขัดยอก แพลง แก้กระตุก แก้ปวดข้อ แก้ปวดเส้นประสาท แก้รอยผิวหนังแตก แก้พิษแมลงต่อย และโรคผิวหนังเรื้อรัง เป็นยาระงับเชื้ออย่างอ่อน ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด และขับลม บำรุงธาตุ บำรุงกำหนัด ยากระตุ้นหัวใจ บำรุงหัวใจ ใช้เป็นส่วนผสมในยาหอมต่างๆ เช่น ยาหอมเทพจิตร เป็นยาชาเฉพาะที่ เป็นยาระงับประสาท แก้อาการชักบางประเภท ใช้การบูร 1-2 เกรน แก้ปวดขัดตามเส้นประสาท ข้อบวมเป็นพิษ แก้เคล็ดบวม เส้นสะดุ้ง กระตุก ขัดยอกแพลง แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ขับน้ำเหลือง แก้เลือดลม บำรุงกำหนัด ขับเหงื่อ ขับเสมะหะ บำรุงธาตุ แก้โรคตา กระจายลม ขับผายลม นำมาผสมเป็นขี้ผึ้ง เป็นยาร้อน ใช้ทาแก้เพื่อถอนพิษอักเสบเรื้อรัง ปวดยอกตามกล้ามเนื้อ สะบักจม ทรวงอก ปวดร้าวตามเส้นเอ็น โรคปวดผิวหนัง รอยผิวแตกในช่วงฤดูหนาว แก้พิษสัตว์กัดต่อย วางในห้องหรือตู้เสื้อผ้าไล่ยุงและแมลง
          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้การบูร ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ ในยารักษาหลายกลุ่มอาการ ได้แก่  “ยาธาตุบรรจบ” มีสรรพคุณของตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ เป็นต้น, ตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของการบูรร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณของตำรับในการบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา ตำรับ "ยาประสะไพล" มีส่วนประกอบของการบูรร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณของตำรับในการรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน  และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของการบูร ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ไม่มีข้อมูล

องค์ประกอบทางเคมี:
           camphor

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์แก้ไอ

       ทำการศึกษาในหนูตะเภา ที่เหนี่ยวนำให้เกิดการไอด้วย citric acid และให้การบูร (camphor) ขนาดความเข้มข้น 50, 133 และ 500 mg/L ในรูปไอระเหยแก่หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการไอ ผลการทดลองพบว่า การบูรขนาดความเข้มข้น 500 mg/L มีผลลดการไอมากถึง 33 % และมีการศึกษาที่พบว่า camphor สามารถลดความถี่ในการไอได้ด้วย (Chen, et al., 2013) 

ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย

        การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli, Staphylococcus aureus  (เชื้อ E. coli เป็นเชื้อที่ก่อโรคระบบทางเดินอาหาร เชื้อ S. aureus ทำให้เกิดแผลติดเชื้อ ฝีหนอง และโรคอีกหลายระบบในร่างกาย) ทดสอบโดยใช้สาร camphor ที่สกัดได้จากต้นการบูร และเป็นองค์ประกอบหลักของ essential oil จากต้นการบูร ทดสอบด้วยวิธี agar disk diffusion วัดผลด้วยการวัดค่า inhibition zone พบว่า camphor ในขนาดความเข้มข้น 2% สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ S. aureus ได้ แต่ไม่มีผลยับยั้งเชื้อ E.coli (Gupta and Saxena, 2010) 

ผลต่อการเคลื่อนที่ และการมีชีวิตรอดของสเปิร์ม

     การทดสอบการเคลื่อนที่ และการมีชีวิตรอดของสเปิร์ม โดยใช้สารการบูร ที่ได้จากต้นการบูร ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยการวัดจำนวนสเปิร์ม เก็บตัวอย่างอสุจิสดจากผู้บริจาคที่มีสุขภาพดี  ทดสอบโดยผสมน้ำอสุจิจำนวน 10 µl กับสารละลาย camphor จำนวน 10 µl คิดเป็นความเข้มข้นของ camphor 1, 2.5, 5 และ 10% สังเกตการเคลื่อนที่ของสเปิร์มทันทีหลังผสมกับการบูร และบันทึกผลทุก 30 วินาที จนครบ 150 วินาที ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ผลการทดสอบพบว่าความเข้นข้นของสารละลาย camphor ที่เพิ่มขึ้นทำให้การเคลื่อนที่ของสเปิร์มลดลง การเคลื่อนที่ของสเปิร์มที่เวลา 0 และ 150 วินาที ของกลุ่มควบคุมเท่ากับ 79±1.3 และ 77±2.0% ตามลำดับ กลุ่มที่ได้รับการบูร ขนาด  1, 2.5 และ 5% มีการเคลื่อนที่ของสเปิร์มที่เวลา 150 วินาที เท่ากับ 19±1.4, 12±1.7 และ 6±1.4% ตามลำดับ camphor 10%  มีการเคลื่อนที่ของสเปิร์มที่เวลา 120 วินาที เท่ากับ 4±1.3%  การทดสอบการมีชีวิตรอดของสเปิร์ม ใช้น้ำอสุจิ 1 หยด ผสมกับ eosin y stain 1 หยด (ย้อมสี) และเติมสารละลายการบูรที่ความเข้มข้นต่าง ๆ จากนั้น 1-2 นาที นำมาศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ บันทึกการตายของสเปริ์ม ดูผลทุก 30 วินาที จนครบ 150 วินาที การทดสอบพบว่าความเข้นข้นของสารละลายการบูรที่เพิ่มขึ้นทำให้การมีชีวิตรอดของสเปิร์มลดลง การมีชีวิตรอดของสเปิร์มในกลุ่มควบคุมที่เวลา 0 และ 150 วินาที เท่ากับ 80±1.5 และ 75±2.4% ตามลำดับ กลุ่มที่ได้รับการบูรขนาด 1, 2.5 และ 5%  มีการเคลื่อนที่ของสเปิร์มที่เวลา 150 วินาที เท่ากับ 17±1.4, 9±1.9 และ 4±1.9 % ตามลำดับ การบูรขนาด 10%  มีการเคลื่อนที่ของสเปิร์มที่เวลา 120 วินาที เท่ากับ 5±1.6%  โดยสรุปการบูรมีผลต่อเคลื่อนไหว และการมีชีวิตรอดของสเปิร์มที่ความเข้มข้นต่างๆ จึงอาจนำไปพัฒนายาที่ใช้ในการคุมกำเนิดสำหรับเพศชาย โดยต้องมีการศึกษาต่อไป (Jadhav, et al., 2010)

 

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล


การศึกษาทางพิษวิทยา:

      การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของการบูร (edible camphor) ทำการศึกษาในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์วิสตาร์ พบว่าค่าความเข้มข้นที่ทำให้หนูตายร้อยละ 50 (LD50) เมื่อให้โดยการกินเท่ากับ 9487 mg/kg เมื่อป้อนการบูรให้หนูในขนาด 1, 2, 4 และ 6 g/kg เป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงแยกอวัยวะออกมาวิเคราะห์ และเก็บตัวอย่างเลือด เปรียบเทียบผลกับกลุ่มควบคุม พบว่าหนูที่ได้รับการบูรในขนาด 4 และ 6 g/kg ทำให้ระดับ lactate dehydrogenase (LDH) ในซีรัมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไต และตับ (p <0.05) ตามลำดับ (LDH เป็นเอนไซม์ที่บ่งบอกว่าเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บหรืออันตราย) ระดับสารมาลอนไดอัลดีไฮด์ (ตัวบ่งชี้การเกิด lipidperoxidation) เพิ่มขึ้นในปอด (การบูรขนาด 2 g/kg), ไต (การบูร 4 g/kg) และ ตับและไต (การบูร 6 g/kg)(p <0.05)  สารทดสอบทุกขนาดทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ catalase (CAT) ลดลงทั้งในตับ ไต และอัณฑะ ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ superoxide dismutase (SOD) เพิ่มขึ้นในตับ และปอด แต่ลดลงในไต (การบูรขนาด 2, 4 และ 6 g/kg) แต่ในอัณฑะไม่เปลี่ยนแปลง (p <0.05) ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ reduced glutathione (GSH) ลดลงในปอด (การบูรขนาด 1, 2, 3, 4, 5 g/kg) เพิ่มขึ้นในอัณฑะ (การบูรขนาด 2 g/kg) แต่ไม่เปลี่ยนแปลงในตับ และไต (p < 0.05)  ผลการตรวจสอบเนื้อเยื่อพบว่าเนื้อเยื่อตับ ไต และปอด มีการเปลี่ยนแปลงในระดับปานกลางถึงรุนแรง แต่เนื้อเยื่ออัณฑะไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  โดยสรุปการได้รับการบูรในขนาดสูงกว่าปกติ จะนำไปสู่ภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxdative stress) ทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระลดลง และเกิดการทำลายเนื้อเยื่อตับ และไตได้ (Somade, et al., 2017)
          มีรายงานว่าการรับประทานการบูร ขนาด 3.5 กรัม ทำให้เสียชีวิตได้ และหากรับประทานเกินครั้งละ 2 กรัม จะทำให้หมดสติ และเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ไต และสมอง อาการแสดงเมื่อได้รับพิษ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ กล้ามเนื้อสั่น กระตุก เกิดการชัก สมองทำงานบกพร่อง เกิดภาวะสับสน ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดที่ได้รับ ปกติแล้วร่างกายมีการกำจัดการบูรเมื่อรับประทานเข้าไป ผ่านการเมทาบอลิซึมที่ตับ โดยการบูรจะถูกเปลี่ยนเป็นสารกลุ่มแอลกอฮอล์ โดยการเติมออกซิเจนในโมเลกุล เกิดเป็นสาร campherolแล้วจะจับตัวกับ glucuronic acid ในตับ เกิดเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำได้ และถูกขับออกทางปัสสาวะ แต่หากได้รับในปริมาณสูงเกินไป ก็จะเกิดการตกค้างจนก่อให้เกิดอันตรายต่อตับ และไตได้ (Chen, et al., 2013) 

         การสูดดมการบูร ที่มีความเข้มข้นในอากาศมากกว่า 2 ppm (2 ส่วนในล้านส่วน หรือ 2 mg/m3) จะทำให้เกิดอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ได้แก่ การระคายเคืองต่อจมูก ตา และลำคอ ขนาดที่ทำให้เกิดพิษรุนแรงต่อชีวิต และสุขภาพคือ 200 mg/m3 ความเป็นพิษของการบูรที่เกิดจากการรับประทาน ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ ชัก หมดสติ หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตจากภาวะระบบการหายใจล้มเหลว โดยขนาดของการบูรที่ทำให้เกิดอาการพิษที่รุนแรง (ชัก หมดสติ) ในผู้ใหญ่ คือ 34 mg/kg (Manoguerra, et al, 2006)

        มีรายงานว่าการกินน้ำมันการบูรในขนาด 3-5 mL ที่มีความเข้มข้น  20% หรือมากกว่า 30 mg/Kg จะทำให้เสียชีวิตได้ มีรายงาน case report  ระบุไว้ว่า มีเด็กหญิงอายุ 3 ปีครึ่ง ทานการบูรเข้าไป โดยไม่ทราบขนาดที่รับประทาน  ปรากฏว่ามีอาการชักแบบกล้ามเนื้อเกร็งทั้งตัวโดยไม่มีการกระตุก (generalised tonic seizures) นาน 20-30 นาที ก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาล  ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า ระดับน้ำตาล ระดับ electrolytes และระดับแคลเซียม มีค่าปกติ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography (EEG) พบว่ามีค่าปกติ และมีอาการอาเจียน 1 ครั้ง เมื่อมาถึงโรงพยาบาล พบสารสีขาว และมีกลิ่นการบูรรุนแรงจากการอาเจียน (Narayan and Singh, 2012)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Chen W, Vermaak I, Viljoen A. Camphor-A fumigant during the black death and a coveted fragrant wood in ancient egypt and babylon-A Review. Molecules. 2013:18;5434-5454.

2. Gupta N, Saxena G. Antimicrobial activity of constituents identified in essential oils from Mentha and Cinnamomum through GC-MS. International Journal of Pharma and Bio Sciences. 2010;1(4):715-720.

3. Jadhav MV, Sharma RC, Mansee R, Gangawane AK. Effect of Cinnamomum camphora on human sperm motility and sperm viability. Journal of Clinical Research Letters. 2010;1(1):1-10.

4. Manoguerra AS, Erdman AR, Wax PM, Nelson LS, Caravati EM, Cobaugh DJ, et al. Camphor poisoning: an evidence-based practice guideline for out-of-hospital management. Clinical Toxicology. 2006;44:357-370.

5. Narayan LtCS, Singh CN. Camphor poisoning—An unusual cause of seizure. Medical Journal, Armed Forces India. 2012;68:252-253.

6. Somade OT, Adeniji KD, Adesina A-RA, Olurinde OJ. Oral acute toxicity study as well as tissues oxidative stress and histopathological disorders in edible camphor administered rats. Experimental and Toxicologic Pathology. 2017;69:99-108.

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา    : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง               : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ         : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาประสะไพล         :  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม           phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting