ผักเสี้ยนผี

ชื่อเครื่องยา

ผักเสี้ยนผี

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ทั้งต้น

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

ผักเสี้ยนผี

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ส้มเสี้ยนผี (เหนือ), ผักเสี้ยนตัวเมีย, ไปนิพพานไม่รู้กลับ

ชื่อวิทยาศาสตร์

Cleome viscosa L.

ชื่อพ้อง

Arivela viscosa (L.) Raf., Cleome acutifolia Elmer, Cleome icosandra L., Polanisia icosandra (L.) Wight & Arn., Polanisia microphylla Eichler, Polanisia viscosa (L.) Blume, Sinapistrum viscosum

ชื่อวงศ์

Cleomaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          ลำต้นมีกิ่งก้านแผ่รอบต้น มีขนสีเลหืองอ่อน มีกลิ่นเหม็นเขียวฉุน ใบประกอบ 3-5 ใบ ติดที่ปลายก้าน ใบย่อยรูปไข่ ปลายและโคนแหลม มีขนอ่อนปกคลุม ดอกเล็กๆสีเหลืองเป็นช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ผลกลมยาว 1-3 นิ้ว ปลายแหลมมีจะงอย เมล็ดสีน้ำตาลแดง

 

 

เครื่องยา ผักเสี้ยนผี

 

เครื่องยา ผักเสี้ยนผี

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

              ไม่มีข้อมูล

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย ทั้งต้น รสขมร้อน เจริญไฟธาตุ คุมแก้ลม แก้ปวดท้อง ลงท้อง ทำให้หนองแห้ง แก้ฝีภายใน เช่น ฝีในปอด และลำไส้ แก้ฝีในตับ แก้พิษฝี แก้ไข้ตรีโทษ ตัวยาช่วยในยาถ่ายพยาธิตัวกลม แก้โรคไขข้ออักเสบ ทาแก้โรคผิวหนัง หยอดหูแก้หูอักเสบ ใบ รสร้อนขม แก้ปัสสาวะพิการ แก้ฝีในปอด ตับ ขับหนองฝี ขับน้ำเหลืองเสีย ขับลมให้ลงสู่เบื้องต่ำ ระบายอ่อนๆ พอกแก้ปวดศรีษะ ตำผสมเกลือทาแก้ปวดหลัง ดอก รสขมขื่นร้อน ฆ่าพยาธิผิวหนัง ฆ่าเชื้อโรค ผล รสเมาร้อนขม ฆ่าพยาธิ ราก รสร้อนขม แก้โรคผอมแห้งของสตรี เนื่องจากคลอดบุตรแล้วอยู่ไฟไม่ได้ แก้วัณโรค แก้เลือดออกตามไรฟัน กระตุ้นหัวใจ เมล็ด รสร้อนขม ขับน้ำเหลืองเสีย แก้เลือดออกตามไรฟัน กระตุ้นหัวใจ ต้น รสขมร้อนเหม็นเขียว ทำให้หนองแห้ง ใช้ทั้ง 5 คุมธาตุ แก้ลม แก้ปวดท้อง เจริญไฟธาตุ แก้ท้องร่วง แก้ฝีในตับ ปอด ฝีในลำไส้ ขับหนองฝี

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ผักเสี้ยนผีในตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของผักเสี้ยนผี (ทั้งต้น) ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

        ไม่มีข้อมูล

 

องค์ประกอบทางเคมี

       พบสารกลุ่ม coumarino-lignan ที่เมล็ด ได้แก่ cleomiscosin D  (Kumar, et al., 1988)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์การสมานแผล

      ศึกษาฤทธิ์สมานแผล ในหนูถีบจักรเพศผู้ สายพันธุ์ swiss albino โดยทาสารสกัดใบผักเสี้ยนผีที่สกัดด้วยเมทานอล (2.5 % w/w) และยามาตรฐาน gentamicin sulfate ในรูปแบบ hydrogel ให้หนูแต่ละกลุ่ม พบว่าสามารถเพิ่มความสามารถในการทำให้แผลติดกันได้อย่างมีนัยสำคัญ 75.30 % และ 78.74 % ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยดูผลหลังจากผ่านไป 12 วัน จากการตรวจสภาพผิวหนัง พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของเซลล์เยื่อบุผิวหนัง (fibroblast) และเซลล์รากขน (hair follicle) (Upadhyay, et al., 2014)

ฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันละต้านการแพ้

       ศึกษาฤทธิ์ในระบบภูมิคุ้มกันของส่วนเหนือดินของผักเสี้ยนผี ในหนูถีบจักร โดยให้สารสกัดน้ำ และเอทานอล แก่หนูแต่ละกลุ่ม ในขนาดต่าง ๆ คือ 50, 100, 150 mg/kgโดยการฉีดเข้าช่องท้อง เป็นเวลา 7 วัน จากการทดลองพบว่าสารสกัดจากผักเสี้ยนผีมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยทำให้จำนวนของเม็ดเลือดขาวลดลง  จำนวน lymphocyte ในม้ามลดลง ขบวนการกลืนกินเชื้อโรคแบบ phagocyticลดลง และลดการตอบสนองของ antibody โดยสารสกัดเอทานอล ขนาด 150 mg/kgออกฤทธิ์ดีที่สุด การทดสอบภาวะภูมิไวเกิน (ภูมิแพ้) ชนิด Delayed  hypersensitivity  หรือภาวะภูมิไวเกินที่เกิดอาการของโรคภายหลังได้รับแอนติเจนเป็นเวลา 24 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ชนิด สามารถลดการแพ้ได้ โดยลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูถีบจักรได้ โดยมีการบวมในกลุ่มควบคุมเท่ากับ 34±0.9% ส่วนสารสกัดเอทานอลและน้ำ มีการบวมคิดเป็น 15.±0.4%, 25.6±0.4%  ตามลำดับ ซึ่งแสดงถึงการลดการแพ้ในภาวะภูมิไวเกินได้มากกว่ากลุ่มควบคุม จึงสรุปได้ว่าสารสกัดของผักเสี้ยนผี มีคุณสมบัติกดภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถนำไปพัฒนายารักษาภาวะภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อตนเอง (autoimmune) หรือใช้กดภูมิคุ้มกันเมื่อมีการปลูกถ่ายอวัยวะได้เป็นต้น (Tiwari, et al., 2004)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ                                                                              

      ศึกษาการเหนี่ยวนำสารในกระบวนการอักเสบของสารกลุ่ม coumarinolignoid จำนวน 3 ชนิด คือ cleomiscosins A, Bและ C ที่แยกได้จากเมล็ดผักเสี้ยนผี ในหนูถีบจักรสายพันธุ์ swiss albinoโดยการป้อนสารผสมของ coumarinolignoid A, B และ C ในขนาด 10, 30 และ 100 mg/kg วันละครั้ง เป็นระยะเวลา 14 วัน  ผลการวิจัยพบว่าสารทดสอบขนาด 10 mg/kg ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด ในการลดการแสดงออกของสารที่ทำให้เกิดการอักเสบเริ่มต้น ได้แก่ IL-6, TNF-αและ nitric oxide ได้ (ทดสอบโดยใช้ LPS เป็นสารกระตุ้นการอักเสบในเซลล์แมคโครฟาจของหนู) และสารทดสอบขนาด 10 mg/kg ออกฤทธิ์ดีที่สุด ในการเพิ่มการแสดงออกของสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ คือ IL-4  โดยหนูมีอัตราการตายลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อทดสอบหลังได้รับสารทดสอบ 14 วัน ต่อเนื่อง แล้วจึงฉีด LPS ในขนาด 250 μg/kgแก่หนู บันทึกอัตราการตาย พบว่าสาร coumarinolignoidทำให้หนูตาย 1 ตัวจาก 6 ตัว คิดเป็น 16.66 % ส่วนหนูที่ได้รับ LPS แต่ไม่ได้รับสารสกัดพบว่าอัตราการตายเป็น 100 % ผลการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่า สาร coumarinolignoid สามารถยับยั้งสารเริ่มต้นในขบวนการอักเสบ และเพิ่มการแสดงออกของสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ (Bawankule, et al., 2008)

ฤทธิ์แก้ไข้

       ศึกษาฤทธิ์แก้ไข้ของสารสกัดทั้งต้นผักเสี้ยนผี ด้วย 90%เมทานอล โดยใช้ยีสต์กระตุ้นให้เกิดไข้ ในหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ ด้วยวิธีฉีดเข้าทางช่องท้อง หลังจากนั้นจึงให้สารสกัดผักเสี้ยนผีแก่หนู ผลการศึกษาโดยการวัดอุณหภมิหนูทางทวารหนัก พบว่าสารสกัดผักเสี้ยนผีขนาด 200, 300 และ 400 mg/kg สามารถลดไข้ในหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีผลลดไข้ได้เป็นเวลา 5 ชั่วโมง ภายหลังจากการได้รับสารสกัด โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน paracetamol ในขนาด 150 mg/kg (Devi, et al., 2003)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ของสารสกัดใบผักเสี้ยนผี ด้วย petroleum ether, chloroform, methanol และ water จากการศึกษาพบว่าสารสกัดผักเสี้ยนผีใน petroleum ether และ chloroform ไม่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ในขณะที่สารสกัด methanol แสดงฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl scavenging (DPPH) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 56.39 μg/ml และจับอนุมูลซูเปอร์ออกไซด์ (superoxide scavenging activity) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 919.70 μg/ml (Upadhyay, et al., 2014)

 

การศึกษาทางคลินิก:

     ไม่มีข้อมูล


   การศึกษาทางพิษวิทยา:

      ไม่มีข้อมูล

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Bawankule DU, Chattopadhyay SK, Pal A, Saxena K, Yadav S, Faridi U, et al. Modulation of inflammatory mediators by coumarinolignoids from Cleome viscosa in female swiss albino mice. Inflammopharmacology. 2008;16:1-6.

2. Devi BP, Boominathan R, Mandal SC. Evaluation of antipyretic potential of Cleome viscosa L. (Capparidaceae) extract in rats. J Ethnopharmacology. 2003;87:11-13.

3. Kumar S, Ray AB, Konnon C, Oshima Y, Hikino S. Cleomiscosin D, a coumarino-lignan from seeds of Cleome viscosa. Phytochemistry. 1988;27(2): 636-638.  

4. Tiwari U, Rastogi B, Thakur S, Jain S, Jain NK, Saraf DK. Studies on the immunomodulatory effects of Cleome viscosa. Indian J Pharm Sci. 2004;66(2): 171-176.

5. Upadhyay A, Chattopadhyay P, Goyary D, Mazumder PM, Veer V. In vitro fibroblast growth stimulatory and in vivo wound healing activity of Cleome viscosa. Orient Pharm Exp Med. 2014;14: 269-278.

 

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์  : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting