ตานหม่อน

ชื่อเครื่องยา

ตานหม่อน

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ใบ

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

ตานหม่อน

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ตานหม่น ตานค้อน ตาลขี้นก ช้าหมากหลอด

ชื่อวิทยาศาสตร์

Tarlmounia elliptica (DC.)

ชื่อพ้อง

Cacalia elaeagnifolia Kuntze, Strobocalyx elaeagnifolia (DC.) Sch.Bip., Strobocalyx elliptica (DC.) Sch.Bip., Vernonia elaeagnifolia DC., Vernonia elliptica

ชื่อวงศ์

Asteraceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

            ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายแหลม หรือป้านมน กว้าง 3-4.5 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ หรือจักฟันเลื่อย ฐานใบป้าน ก้านใบยาว 2-10 มิลลิเมตร เส้นใบย่อย 7-9 คู่ ใบหนาคล้ายหนัง หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนนุ่มคล้ายไหมสีเทา

 

เครื่องยา ตานหม่อน

 

เครื่องยา ตานหม่อน

 

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

           ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11.0% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2.0% w/w  ปริมาณเถ้าชนิดซัลเฟต ไม่เกิน 20.0% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 5.0% w/w  ปริมาณสารสกัดสารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 14.0% w/w  ปริมาณสารสกัดสารคลอโรฟอร์ม ไม่น้อยกว่า 4.0% w/w 

 

 

สรรพคุณ:

            ตำรายาไทย ใบมีรสเบื่อ หวานชุ่มเย็น แก้พิษตานซาง บำรุงเนื้อหนังให้ชุ่มชื่น คุมธาตุ ขับไส้เดือนในท้อง ใบ ผสมในตำรับยาประสะมะแว้ง ยอดอ่อน ใบอ่อน ลวก ต้ม รับประทานเป็นผัก

            บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ใบตานหม่อน ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในกลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ตำรับ “ยาประสะมะแว้ง”  มีสรรพคุณใช้บรรเทาอาการ ไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ

 

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

           ไม่มีข้อมูล

 

องค์ประกอบทางเคมี:

            ส่วนเหนือดินพบสารกลุ่ม sesquiterpene lactone ได้แก่ glaucolides A และ B และอนุพันธ์กลุ่ม acetate, สารอื่นๆที่พบ เช่น lupeol, taraxasterol, sitosterol, stigmasterol

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

       การศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทานอลและน้ำ ของลำต้นตานหม่อน ต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย 6 สายพันธุ์ คือ S.aureus, B.subtilis, E.coli, Sh.disenteriae, S.typhi และ C.albicans โดยใช้เทคนิค disk diffusion method ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลของตานหม่อน สามารถยับยั้งเชื้อ S.aureus, B.subtilisและ C.albicansได้ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางต่อการยับยั้งเชื้อ (diameter of inhibition zone) เท่ากับ 7-12, 7-12 และ >12-19 มิลลิเมตร ตามลำดับ (Avirutnant and Pongpan, et al., 1983)

ฤทธิ์ต้านเชื้อรา

         การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก ของสารสกัดน้ำ และแอลกอฮอล์ ของเนื้อไม้ตานหม่อน ต่อเชื้อรา 3 ชนิดคือ Trichophyton rubrum, Epidermophyton floccosum  และMicrosporum gypseum ผลการทดสอบพบว่าเฉพาะสารสกัดแอลกอฮอล์จากเนื้อไม้ตานหม่อนสามารถยับยั้งเชื้อราได้หนึ่งชนิด คือ M.gypseum (วันดี และแม้นสรวง, 2536)

 

การศึกษาทางคลินิก:

   ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:

   ไม่มีข้อมูล

 

เอกสารอ้างอิง:

วันดี อวิรุทธ์นันท์,แม้นสรวง วุธอุดมเลิศ. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของพืชสมุนไพร. วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2536;10(3):87-89.

Avirutnant W, Pongpan A. The antimicrobial activity of some Thai flowers and plants. Mahidol Univ J Pharm Sci. 1983;10(3):81-86.

 

ข้อมูลตำรับยาประสะมะแว้ง : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting