พิมเสนต้น

ชื่อเครื่องยา

พิมเสนต้น

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ใบ

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

พิมเสนต้น

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ใบพิมเสน ผักชีช้าง ใบหลม

ชื่อวิทยาศาสตร์

Pogostemon cablin (Blanco) Benth.

ชื่อพ้อง

Mentha auricularia Blanco, Mentha cablin Blanco, Pogostemon battakianus Ridl., Pogostemon comosus Miq., Pogostemon javanicus Backer ex Adelb., Pogostemon mollis Hassk., Pogostemon patchouly Pellet., Pogostemon tomentosus

ชื่อวงศ์

Lamiaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

            ใบรูปไข่ กลมโต กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร ขอบใบหยักมน ผิวหยาบ มีกลิ่นหอมเฉพาะ

 

 

เครื่องยา พิมเสนต้น

 

 

เครื่องยา พิมเสนต้น

 

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

            ไม่มีข้อมูล

 

สรรพคุณ:

            ตำรายาไทย ใบ รสเย็นหอม ถอนพิษร้อน แก้ไข้ทุกชนิด ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง ผสมในยาเขียว และยาหอม แก้ลม บำรุงหัวใจ

            บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ระบุการใช้ใบพิมเสนต้น ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของใบพิมเสนต้น ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ แลปรากฏการใช้ใบพิมเสนต้น ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ใน “ตำรับยาเขียวหอม”  สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและอีสุกอีใส)

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

            ไม่มีข้อมูล

 

องค์ประกอบทางเคมี:

            ไม่มีข้อมูล

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์นิวรามินิเดส ของเชื้อไข้หวัดใหญ่

      การศึกษาฤทธิ์ของสารกลุ่ม polyphenolic glycosides ที่แยกได้จากส่วนเหนือดินของพิมเสนต้น ในการยับยั้งเอนไซม์ neuraminidase (NA) ของเชื้อไวรัส influenza A ที่เป็นสาเหตุในการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ เอ็นไซม์นิวรามินิเดส เป็นเอ็นไซม์ย่อยไกลโคโปรตีนบนผิวเซลล์ทำให้ไวรัสเป็นอิสระจากเซลล์ และไปจับกับเซลล์อื่น และแพร่เชื้อต่อไป ดังนั้นการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชนิดนี้จะทำให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่หยุดการแพร่กระจายไปยังเซลล์ข้างเคียง ผลการทดสอบโดยใช้ NA inhibitory screening kit พบว่าสาร octaketide ได้แก่ compound 2 (5, 7-dihydroxy-8-(2R)-2-methylbutan-1-onyl)-phenylacetic acid 7-O-β-D-glucopyranoside) แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์นิวรามินิเดสได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 3.87 ±0.19 ไมโครโมล/มิลลิลิตร  ส่วน compound 4-[(2E)-3-(3,4-dihydroxyphenyl)-2-propenoate –D-glucopyranoside) (11), cistanoside F (12), crenatoside (14), isocrenatoside (15), isopedicularioside (19) และ pedicularioside G (20) มีค่า IC50 อยู่ในช่วง 2.12 ถึง 3.87  ไมโครโมล/มิลลิลิตร ซึ่งแสดงการออกฤทธิ์ในการยับยั้งได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่มีความแรงน้อยกว่ายามาตรฐาน zanamivir  2-4 เท่า  จึงสามารถนำไปออกแบบยาที่ใช้ในการต้านเอนไซม์ neuraminidase ได้ในอนาคต (Liu, et al., 2016)

ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างกรดยูริก

     ศึกษาผลของสารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของพิมเสนต้นในการยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase (XO) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญที่ใช้ในการสร้างกรดยูริก ถ้ามีปริมาณมากเกินไปกรดยูริกจะไปสะสมที่ข้อ ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดโรคเกาต์ โดยเอนไซม์ XO จะเร่งปฏิกิริยาในการเกิดออกซิเดชันของ hypoxanthine ไปเป็น xanthine และทำให้เกิดกรดยูริกตามมา ผลการศึกษาพบว่าส่วนสกัดย่อย A3(100 µg/ml) ที่ได้จากสารสกัดน้ำของพิมเสนต้น มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ XO ในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยยับยั้งได้ 58.16±0.88%  ค่า IC50 เท่ากับ 85.42±1.71 µg/ml และพบว่าสาร rosmarinic acid ที่แยกได้จากส่วนสกัดย่อย A3 ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งเอนไซม์ XO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 8.53±0.91 µg/ml ซึ่งออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน allopurinol (IC50เท่ากับ 10.26±1.10µg/ml) จากผลการศึกษาสารสกัดจากส่วนเหนือดินของพิมเสนต้นสามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้เป็นยาชนิดใหม่ในการรักษาโรคเกาต์ได้ (Liu, et al., 2017)

ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

      การศึกษาฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของสารบริสุทธิ์ patchouli alcohol (PA) ที่แยกได้จากสารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดินพิมเสนต้นทดสอบโดยป้อนสารสกัดให้หนูถีบจักร (Kunming mice) ในขนาด 20, 40 และ 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากนั้นติดตามการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในหนู  ผลการทดลองพบว่าการให้ PA ในขนาด 40 หรือ 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของขบวนการจับกินเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม (phagocytosis) ของแมคโครฟาจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) การให้ PA  ขนาด  80  มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะกระตุ้นการสร้าง IgM และ IgG ในกระแสเลือด (0.081 ± 0.010) และ (1.296 ± 0.120) ตามลำดับ  ในขณะที่กลุ่มควบคุม มีค่าเท่ากับ  0.069 ± 0.011 (p < 0.01) และ 1.180 ± 0.070 (p< 0.01) ตามลำดับ ซึ่ง IgM และ IgG จัดเป็น immunoglobulins ตัวหลัก ที่หลั่งออกมาเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแอนติเจน ที่มีผลทำลายสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค สารพิษต่างๆในระบบภูมิคุ้มกัน การให้ PA  ขนาด  20  มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถลดการเกิดภาวะภูมิไวเกิน ภายหลังได้รับแอนติเจนแล้ว 24-72 ชั่วโมง หรือ delayed type hypersensitivity (DTH) ที่เหนี่ยวนำให้หนูเกิดปฏิริยาการแพ้ด้วย 2, 4-dinitro-chlorobenzene (DNCB) ผลลดการเกิดภาวะภูมิไวเกิน (1.03±0.40 (p < 0.05) (เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DNCB (1.67±0.84) ดังนั้นจึงสรุปว่าสาร PA ที่สกัดได้จากพิมเสนต้นมีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ที่ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นระบบฟาโกไซโตซิส, กระตุ้นระบบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน (humoral immune response) และกดการตอบสนองต่อภาวะภูมิไวเกิน (Liao, et al., 2013)

ฤทธิ์แก้ปวด และต้านการอักเสบ

    ศึกษาฤทธิ์แก้ปวด และต้านการอักเสบของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของพิมเสนต้นด้วยเมทานอล ทดสอบฤทธิ์ต้านความเจ็บปวดในหนูถีบจักรด้วยการทดสอบ 2 วิธี ได้แก่ Writhing Test โดยการฉีดกรดอะซิติก เข้าทางช่องท้องหนู เพื่อเหนี่ยวนำให้หนูเกิดอาการเจ็บปวด และการทดสอบการปวดด้วยการฉีดสารฟอร์มาลิน (formalin-induced paw licking) ฤทธิ์ระงับการอักเสบทดสอบด้วยวิธี การฉีด λ-carrageenan (Carr) เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าหนู โดยในทุกการทดสอบใช้ indomethacin ขนาด 10mg/kg ที่ให้โดยวิธีการป้อนทางปากแก่หนูเป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบด้วยวิธี writhing พบว่าสารสกัดขนาด 1.0 g/kg ลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.01) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม การทดสอบฤทธิ์ระงับอาการปวดด้วยวิธี Formalin Test พบว่าสารสกัดขนาด 0.5 และ 1.0 g/kg สามารถลดอาการปวดในระยะ late phase ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ไม่มีผลระงับการปวดในระยะ early phase จากการทดสอบฤทธิ์ระงับปวดที่สัมพันธ์กับการอักเสบจากการฉีด λ-carrageenan (Carr) พบว่าสารสกัดเมทานอลทั้งสองขนาด สามารถลดการบวมที่อุ้งเท้าได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0 .05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และสารสกัดทั้งสองขนาด สามารถลดระดับของ malondialdehyde (ผลผลิตจากการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน) ในอุ้งเท้าที่มีการบวมได้ (P<0.001) และสามารถเพิ่มเอนไซม์ต้านออกซิเดชัน ได้แก่ superoxide dismutase(SOD), glutathione peroxidase(GPx) และ glutathione reductase(GRx) ในตับ (P <0.001) โดยสามารถเพิ่มระดับ GRx ได้มากกว่าสารมาตรฐาน และลดการทำงานของสารที่เกี่ยวข้องกับการเกิดการอักเสบได้แก่  cyclooxygenase 2(COX-2)  และ tumor necrosis factor-α(TNF-α) ในอุ้งเท้าที่มีการบวมได้ (P<0.05) โดยลดระดับ COX-2 ได้มากกว่าสารมาตรฐาน จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินของพิมเสนต้นสามารถลดอาการปวด และต้านการอักเสบได้ ผ่าน 2 กลไก ได้แก่ การลดปริมาณพรอสตาแกลนดิน โดยยับยั้งการทำงานของ COX-2และ TNF-α ทำให้การอักเสบ และการปวดลดลง และผ่านกลไกเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ SOD, GPx และ GRx จึงสามารถกำจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในระหว่างการอักเสบ ทำให้การบวมลดลง  (Lu, et al., 2011)

ฤทธิ์ต้านการแพ้

      การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดน้ำจากพิมเสนต้น ต่อการต้านการแพ้ (anti-allergic) และต้านการอักเสบ (anti-inflammation) ในหนูถีบจักร โดยทำการฉีดสารสกัด (compound 48/80) ที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้แบบ systemic anaphylaxis และฉีด IgE เข้าใต้ผิวหนังหนู  พบว่าสารสกัดน้ำจากพิมเสนต้น สามารถยับยั้งการหลั่งฮิสตามีนจาก mast cell ได้ กลไกเกี่ยวข้องกับการควบคุม Calcium influx นอกจากนี้สารสกัดยังสามารถยับยั้งการอักเสบที่เกิดจาก phorbol 12-myristate 13-acetate ร่วมกับ calcium ionophore A23187 (PMACI) กระตุ้นการอักเสบใน mast cell ได้ โดยผ่านกลไกการกระตุ้น NF-κB และ p38 mitogen-activated protein kinase (MAPK) ดังนั้นจากการศึกษานี้จึงแสดงว่าสารสกัดของพิมเสนต้นมีฤทธิ์ต่อการต้านการแพ้ และต้านการอักเสบได้ (Yoon, et al., 2016)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

      การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอล และสารสกัดน้ำจากใบพิมเสนต้น พบว่าสารสกัดน้ำจากใบพิมเสนต้น มีปริมาณสารฟีนอลิคเทียบเท่ากับกรดแกลลิค เท่ากับ 116.88±0.48 mg GAE/g สูงกว่าสารสกัดเอทานอล ส่วนปริมาณสารฟลาโวนอยด์พบในสารสกัดเอทานอลมากกว่าสารสกัดน้ำ เท่ากับ 280.12±2.04 mg QE/g (คิดเป็นปริมาณเทียบเท่าสาร quercetin) ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมีในหลอดทดลอง ด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) scavenging assays และ 2,2-azino-bis[3-ethylbenz-thiazoline-6-sulphonate] (ABTS) scavenging assays พบว่าสารสกัดเอทานอลออกฤทธิ์ดีในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 18±0.90 และ 20±0.24 µg/mLตามลำดับ (สารมาตรฐาน BHT (butylated hydroxytoluene) มีค่า IC50 เท่ากับ 14±0.90 และ 4 ± 0.90 µg/mL ตามลำดับ สารมาตรฐาน trolox มีค่า IC50 เท่ากับ 5±0.90 และ 3±0.90 µg/mL ตามลำดับ) นอกจากนี้ สารสกัดเอทานอลยังสามารถยับยั้งไนตริกออกไซด์ และซูเปอร์ออกไซด์ ในการทดสอบในหลอดทดลองได้ ด้วยการทดสอบกับเซลล์แมคโครฟาจของหนู และวิธี Nitroblue Tetrazolium (NBT) Dye Reduction Assay ตามลำดับ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลออกฤทธิ์ได้ในระดับปานกลาง โดยมีค่า IC50 ในการยับยั้งไนตริกออกไซด์ และซูเปอร์ออกไซด์ได้ เท่ากับ 144±4.90  และ 108±1.10µg/mL ตามลำดับ  (ความเข้มข้นที่ใช้ทดสอบ ไม่มีพิษต่อเซลล์ปกติ โดยเซลล์รอดชีวิตมากกว่า 70%) (Dechayont, et al., 2017)

ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพ

     การทดสอบฤทธิ์ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพของสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอลจากใบพิมเสนต้น ทดสอบด้วยวิธี disc diffusion หาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC) พบว่าสารสกัดเอทานอล ในขนาด 5mg/disc มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus ที่ดื้อยา methicillin, เชื้อ Staphylococcus aureus ที่ไวต่อยา methicillin และ เชื้อ Streptococcus pyogenes ได้ดีที่สุด โดยมีขนาดของโซนใสในการยับยั้งเชื้อได้เท่ากับ 11.67±1.53, 10.33±2.52 และ 10.33±1.15 mm ตามลำดับ ค่า MIC เท่ากับ 5, 0.625 และ 0.039 mg/mL ตามลำดับ และค่า MBC ของเชื้อแต่ละชนิดมีค่าเท่ากับค่า MIC  เชื้อ S. aureus เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อที่บาดแผล ฝี หนอง เป็นต้น เชื้อ S. pyogenes เป็นสาเหตุของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคไข้อีดำอีแดง การติดเชื้อที่ผิวหนังพุพอง การเกิดโรคไข้รูมาติก เป็นต้น จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าสารสกัดจากใบพิมเสนต้นด้วยเอทานอลมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อจุลชีพได้ (Dechayont, et al., 2017)

ฤทธิ์รักษาสมดุลของเหลวในลำไส้

      สารสกัดน้ำจากพิมเสนต้นมีผลในการรักษาสมดุลของสารน้ำและของเหลว ในเซลล์ของลำไส้เล็ก โดยการควบคุมระดับของ nitric oxide และ tumor necrosis factor ในเลือด จึงมีผลต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ ในการป้องกันการบาดเจ็บ หรือการผ่าตัด (Swamy, et al., 2015)

ฤทธิ์กระตุ้นการขับถ่าย

     การทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการขับถ่าย และลดอาการท้องผูก โดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากพิมเสนต้น ให้หนูถีบจักรสูดดม พบว่ากลิ่นหอมระเหยของพิมเสนต้น สามารถกระตุ้น olfactory neurotransmission systems ทำให้เกิดการกระตุ้นการขับถ่ายในหนูได้ โดยทำให้หนูมีการขับถ่ายเพิ่มขึ้น และน้ำหนักอุจจาระมากขึ้น (Swamy, et al., 2015)

ฤทธิ์ต้านอาเจียน

     การทดสอบฤทธิ์ต้านอาเจียน ของสารสกัดพิมเสนต้น ที่สกัดด้วยเฮกเซน คลอโรฟอร์ม และเมทานอล โดยการป้อนให้ไก่ เพศผู้ อายุ 4 วัน ในขนาด 300 mg/kg ไก่ถูกกระตุ้นให้อาเจียนด้วย  copper sulfate ทำการป้อนสารสกัด หลังจากนั้น 10 นาที จึงให้สารกระตุ้นให้อาเจียน พบว่าสารสกัดเฮกเซน คลอโรฟอร์ม และเมทานอล มีฤทธิ์ต้านอาเจียนได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยมีค่าการยับยั้งเท่ากับ 58.6, 34.4  และ 31.5% ตามลำดับ สารสกัดเฮกเซนออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด จึงทำการแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดเฮกเซน ได้สารบริสุทธิ์จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ patchouli alcohol(1), pogostol (2), stigmast-4-en-3-one (3), retusin (4) และ pachypodol (5) ผลทดสอบฤทธิ์ต้านอาเจียนพบว่า สารที่มีฤทธิ์ต้านอาเจียนได้อย่างมีนัยสำคัญได้แก่ สาร (1) ในขนาด 50 และ 70 mg/kg ยับยั้งได้ 40.0 และ 57.7% สาร (2) ในขนาด 10, 20 และ 50 mg/kg ยับยั้งได้ 39.3, 42.3 และ 43.2% สาร (3) และ (5) ขนาด 50 mg/kg ยับยั้งได้ 55.7 และ 50.5%  สาร (4) ในขนาด 20 และ 50 mg/kg ยับยั้งได้ 28.9 และ 45.6% ตามลำดับ (Yang, et al., 1999)

  

การศึกษาทางคลินิก:

     ไม่มีข้อมูล

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

     การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดใบด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 370 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

     การศึกษาความเป็นพิษต่อยีน (genotoxicity) และความเป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxicity) ของพิมเสนต้นโดยใช้เทคนิค Vitotox assayโดยศึกษาในแบคทีเรีย  Salmonella typhymurium (TA 104)2 สายพันธุ์ TA 104-recN2-4 strain or Genox strain และ pr1 or Cytox strain ทำการสกัดสารจากใบแห้ง100 กรัม โดยแช่ไว้ใน 100% เมทานอล เป็นเวลาหนึ่งคืน ที่อุณหภูมิห้อง หลังระเหยตัวทำละลายแล้วนำมาเตรียมสารสกัดความเข้มข้น 1 mg/mL, ทำ dilution series จาก 1/1 to 1/128 และให้ final dilutions ใน plate เท่ากับ 1/100 ถึง 1/12,800 โดยใช้ 4-Nitroquinoline oxide (4-NQO) และ benzopyrene (Bαp) ซึ่งเป็นพิษต่อยีน เป็น positive control ในขนาด 4 pbb และ 8 ppm ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดพิมเสนต้น สามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ได้เมื่อใช้ในขนาดสูง แต่ไม่เกิดพิษต่อในระดับยีน (Chichioco-Hernandez, et al., 2011)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2. Chichioco-Hernandez C, Wudarski J, Gevaert L, Verschaeve L. Evaluation of cytotoxicity and genotoxicity of some Philippine medicinal plants. Phcog Mag. 2011;7(26):171-175.

3. Dechayont B, Ruamdee P, Poonnaimuang S, Mokmued K, Chunthorng-Orn J. Antioxidant and antimicrobial activities of Pogostemon cablin (Blanco) Benth. Hindawi Journal of Botany. 2017;2017:1-6.

4. Liao JB, Wu DW, Peng SZ, Xie JH, Li YC, Su JY, et al. Immunomodulatory potential of patchouli alcohol isolated from Pogostemon cablin (Blanco) Benth (Lamiaceae) in mice. Tropical Journal of Pharmaceutical Research. 2013;12(4):559-565.

5. Liu F, Deng C, Cao W, Zeng G, Deng X, Zhou Y. Phytochemicals of Pogostemon cablin (Blanco) Benth. aqueous extract: Their xanthine oxidase inhibitory activities. Biomedicine & Pharmacotherapy. 2017;89:544-548.

6. Liu F, Wei Cao W, Deng C, Wu Z, Zeng G, Zhou Y. Polyphenolic glycosides isolated from Pogostemon cablin (Blanco) Benth. as novel influenza neuraminidase inhibitors. Chemistry Central Journal. 2016;10:1-11.

7. Lu T-C, Liao J-C, Huang T-H, Lin Y-C, Liu C-Y, Chiu Y-j, et al. Analgesic and anti-inflammatory activities of the methanol extract from Pogostemon cablin. Evidence-based Complementary and Alternative Medicine. 2011;2011:1-9.

8. Swamy MK, Sinniah UR. A Comprehensive Review on the phytochemical constituents and pharmacological activities of Pogostemon cablin Benth. An Aromatic Medicinal Plant of Industrial Importance. Molecules. 2015;20:8521-8547.

9. Yang Y, Kinoshita K, Koyama K, Takahashi K, Tai T, Nunoura Y, et al. Anti-emetic principles of Pogostemon cablin (Blanco) Benth. Phytomedicine. 1999;6(2):89-93.

10. Yoon SC, Je I-G, Cui X, Park HR, Khang D, Park J-S, et al. Anti-allergic and anti-inflammatory effects of aqueous extract of Pogostemon cablin. Int J Mol Med. 2016;37(1):217-224.

 

ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : www.thai-remedy.com

ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม   : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting