สีเสียดไทย

ชื่อเครื่องยา

สีเสียดไทย

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

สีเสียดเหนือ สีเสียดลาว

ได้จาก

สารที่ได้จากการนำเนื้อไม้ไปต้ม

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ขี้เสียด (เหนือ) สะเจ (ฉาน แม่ฮ่องสอน) สีเสียดแก่น (ราชบุรี) สีเสียดเหนือ (กลาง) สีเสียดเหลือง (เชียงใหม่) สีเสียดหลวง สีเสียดลาว

ชื่อวิทยาศาสตร์

Acacia catechu (L.f.) Willd

ชื่อพ้อง

Acacia catechuoides (Roxb.) Benth., Acacia sundra (Roxb.) Bedd., Acacia wallichiana DC., Mimosa catechu L.f., Mimosa catechuoides

ชื่อวงศ์

Leguminosae-mimosoideae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ได้จากการนำแก่นต้นสีเสียด สับให้เป็นชิ้นๆ แล้วต้ม และเคี่ยว หลังจากนั้นระเหยน้ำที่ต้มได้ให้เหนียวข้น จะได้ของแข็งเป็นก้อน สีน้ำตาลดำ เป็นมัน แข็ง รูปร่างไม่แน่นอน ผิวนอกหยาบ มีด้านในด้านหนึ่งที่แตกจะมันวาว ไม่มีกลิ่น รสขม ฝาดจัด

 

เครื่องยา สีเสียดไทย

 

เครื่องยา สีเสียดไทย

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณความชื้นไม่เกิน 12% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6% w/w  ปริมาณสิ่งสกัดที่ไม่ละลายในเอทานอล ไม่เกิน 40% w/w  ปริมาณสิ่งสกัดที่ไม่ละลายในน้ำ ไม่เกิน 25% w/w  ปริมาณแทนนิน ไม่น้อยกว่า 70% w/w  (เภสัชตำรับอินเดีย)

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ใช้สีเสียด แก้ท้องเสียเรื้อรัง  ลำไส้อักเสบ  รักษาบาดแผล แก้ปากเป็นแผล ใส่แผลเปื่อย และริดสีดวง และอาการบาดเจ็บที่มีเลือดออก บด หรือต้มกินแก้ท้องร่วง  คุมธาตุ แก้บิดมูกเลือด แก้ลงแดง ทารักษาบาดแผล รักษาโรคผิวหนัง ต้มล้างบาดแผล สีเสียดไทยเป็นยาฝาดสมาน  แก้ท้องร่วง ห้ามเลือดที่ออกจากจมูก แก้บิด ล้างแผลหัวนมแตก ล้างแผลถูกไฟไหม้ ทำให้แผลหายเร็ว
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้สีเสียดไทย ในยารักษาอาการโรคในระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของเปลือกสีเสียดไทย และสีเสียดเทศ ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           แก้ท้องเสีย นำแก่นตากแห้ง หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มน้ำเคี่ยวให้ข้น ระเหยน้ำให้หมด บดเป็นผง เรียกว่า “ผงสีเสียด” ใช้ผงสีเสียด 1/3 – 1/2 ช้อนชา (0.3-1 กรัม) ต้มน้ำดื่ม

องค์ประกอบทางเคมี:
           สารกลุ่ม tannins ได้แก่ catechutannic acid 20-35% , catechin, catechu red, acacatechin 2-10% , epicatechin , phlobatannin , protocatechu tannins , pyrogallic tannins , epicatechin-3-O-gallate , epigallocatechin-3-O-gallate สารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ quercetin , quercetagetin , fisetin flavanol dimers

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

       การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, คลอโรฟอร์ม, อะซิโตน, เอทานอล, น้ำ, ส่วนสกัดย่อยที่ละลายน้ำ และไม่ละลายน้ำของสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ทำการศึกษาในหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์  ทดสอบโดยป้อนสารสกัดชนิดต่าง ๆ ในขนาด 400 mg/kg แก่หนูแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 30 นาที ให้หนูได้รับสารละลายกลูโคส ขนาด 4 g/kg เพื่อทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง แล้วตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา 1/2, 1, 2 และ 3 ชั่วโมง ภายหลังจากได้รับกลูโคส  ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1 โดยระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มควบคุม, กลุ่มที่ได้รับยามาตรฐาน glibenclamide, กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอล และกลุ่มที่ได้รับส่วนสกัดย่อยที่ไม่ละลายน้ำของสารสกัดเอทานอล มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 150.60±4.01, 92.20±4.60, 87.20±5.09 และ 83.40±5.20 mg/dl (P<0.01)    ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูขาวปกติ แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม, กลุ่มที่ได้รับยามาตรฐาน glibenclamide 5mg/kg, กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลขนาด 200 และ 400 mg/kg จากนั้นเก็บเลือดที่บริเวณหาง ในชั่วโมงที่  1/2, 1, 2 และ 3 หลังได้รับสารทดสอบเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด ผลการทดสอบพบว่า ในชั่วโมงที่  2  ค่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด เท่ากับ  82.20±1.70,  33.20±1.39**, 71.20±2.28* และ 68.60±3.37** mg/dl ตามลำดับ (*P<0.05 และ **P<0.01 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม) แสดงว่าสารสกัดเอทานอลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหนูได้ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับยาในการตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ทางชีวเคมี ทำการศึกษาในหนูขาวปกติ และหนูขาวที่ได้รับ alloxan เพื่อกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน จากนั้นให้สารทดสอบเป็นเวลา 7 วันต่อเนื่องกัน ในวันที่ 7 หลังอดอาหาร 16 ชั่วโมง จึงวัดค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ผลการทดสอบพบว่าระดับน้ำตาลในเลือด, serum urea, serum creatinine, serum cholesterol, serum triglyceride, LDL, haemoglobin และ glylosylated haemoglobin ของหนูที่ได้รับสารสกัดเอทานอลมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่เป็นเบาหวาน (ไม่ได้รับสารสกัด และยามาตรฐาน) และระดับของ HDL ของหนูที่ได้รับสารสกัดเอทานอลมีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่เป็นเบาหวาน ค่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูกลุ่มควบคุม (หนูปกติ), กลุ่มเบาหวาน (ไม่ได้รับสารสกัด และยามาตรฐาน), กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอล 400 mg/kg และกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide 5mg/kg เท่ากับ 81.4±3.2**, 512.0±15.3, 192.0±10.4** และ 124.4±7.8** ตามลำดับ  ระดับของ glylosylated haemoglobin เท่ากับ 1.9±0.2**, 5.7±0.4, 3.0±0.2**  และ 2.0±0.2**ตามลำดับ (glylosylated haemoglobin คือฮีโมโกลบิน หรือโปรตีนในเลือดที่มีน้ำตาลไปเกาะอยู่ จะบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดที่แท้จริง ไม่ขึ้นลงเร็วตามปริมาณอาหารที่พึ่งรับประทานเข้าไป) สรุปได้ว่สารสกัดเอทานอลจากเปลือกสีเสียดไทยสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูที่เป็นเบาหวานได้ และทำให้ค่าพารามิเตอร์ทางชีวเคมีต่าง ๆ กลับสู่ระดับปกติได้ (Jarald, et al., 2009)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

        การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ด้วยวิธีทางเคมี ตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากเปลือกสีเสียดไทยสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (EC50) เท่ากับ 0.05±0.00 µg/µg DPPH ซึ่งเป็นผลจากการที่เปลือกสีเสียดไทยมีค่าปริมาณฟีโนลิครวม และสารสกัดฟลาโวนอยด์สูง ทำให้มีความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระที่ดี  การทดสอบหาปริมาณสารฟีนอลรวม และปริมาณสารฟลาโวนอยด์รวม ของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี Folin-Ciocalteu reagent ในการหาปริมาณทั้งหมดของสารฟีโนลิค รายงานผลในหน่วยมิลลิกรัมของกรดแกลลิคต่อกรัมของน้ำหนักพืชแห้ง (mg GAE/g dw) ใช้กรดแกลลิคเป็นตัวแทนของสารโพลีฟีนอลมาตรฐาน และใช้วิธี colorimetric assay ในการหาปริมาณทั้งหมดของสารฟลาโวนอยด์ รายงานผลในหน่วยมิลลิกรัมของรูตินต่อกรัมของน้ำหนักพืชแห้ง (mg RE/g dw) ใช้รูตินเป็นตัวแทนของสารฟลาโวนอยด์มาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าเปลือกสีเสียดไทยมีปริมาณสารฟีโนลิครวม และสารฟลาโวนอยด์รวม เท่ากับ 177.7±0.2 mg GAE/g dw และ 41.8±0.2 mg RE/g dw ตามลำดับ จากผลการทดสอบแสดงว่าเปลือกสีเสียดไทยมีปริมาณสารแทนนิน ซึ่งเป็นสารกลุ่มฟีโนลิคอยู่สูงซึ่งทำให้มีฤทธิ์ฝาดสมาน (astringent) (Maisuthisakul, et al., 2007)

ผลต่อเภสัชจลนศาสตร์เมื่อใช้ร่วมกับยาtheophylline

       การทดสอบผลต่อเภสัชจลนศาสตร์ ของสารสกัดน้ำที่ได้จากแก่นสีเสียดไทย เมื่อใช้ร่วมกับยา theophylline โดยยา theophylline เป็นยารักษาโรคหอบหืดที่มีการใช้มาก และมีขนาดยาที่ใช้ในการรักษา และขนาดยาที่ทำให้เกิดพิษใกล้เคียงกัน (therapeutic index แคบ) ยานี้ถูกออกซิไดส์ผ่านไซโตโครม P450 (CYP)1A ที่บริเวณตับ จึงมีการศึกษาผลของการใช้สมุนไพรสีเสียดไทยร่วมกับยาว่ามีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ และขนาดยา theophylline ในร่างกายอย่างไร  โดยทำการศึกษาในกระต่าย ป้อนสารสกัดน้ำที่ได้จากแก่นสีเสียดไทยขนาด 264 mg/kg เป็นเวลา 7 วัน ต่อเนื่องกัน ในวันที่ 8 ป้อนยา theophylline ขนาด 16 mg/kg ภายหลังจากได้รับสารสกัดแล้ว 1 ชั่วโมง  หลังจากนั้นเจาะเลือดที่บริเวณหูกระต่ายที่เวลา 0.5, 1,1.5, 2, 3, 4, 6, 8, 12, 24 และ 36 ชั่วโมง จากนั้นนำมาตรวจสอบค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ได้แก่ ระดับความเข้มข้นสูงสุดของยาในเลือด (Cmax), ระยะเวลาที่ระดับยาในเลือดขึ้นสูงสุด (Tmax) และพื้นที่ใต้กราฟความสัมพันธ์ระหว่างระดับยาในเลือดกับเวลา (AUC) ซึ่งแสดงถึงปริมาณยาที่ถูกดูดซึม ผลการทดลองพบว่าค่าพารามิเตอร์ทั้งหมดที่ทดสอบมีค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.32, 35.71 และ 15.03 ตามลำดับ (P<0.05) แสดงว่าการใช้สารสกัดแก่นสีเสียดไทย ร่วมกับยา theophylline มีผลให้ระดับยาในเลือดสูง และลดการกำจัดทำลายยา ซึ่งเกิดจากการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP1A  อาจทำให้เกิดพิษจากยาได้ จึงควรระมัดระวังการใช้สารสกัดแก่นสีเสียดไทย ร่วมกับยาที่มีเมตาบอลิซึมผ่าน CYP1A  (Al-Mohizea, et al., 2015)


การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
      การทดสอบพิษเฉียบพลัน ทดสอบในหนูขาวเพศเมีย สายพันธุ์วิสตาร์ ป้อนสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, คลอโรฟอร์ม, อะซิโตน, เอทานอล, น้ำ, ส่วนสกัดย่อยที่ละลายน้ำ และไม่ละลายน้ำของสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ขนาด 2,000 mg/kg เพียงครั้งเดียว แก่หนูแต่ละกลุ่ม แล้วสังเกตพฤติกรรม และอัตราการตายเป็นเวลา 14 วัน พบว่าไม่มีสัตว์ทดลองตาย (Jarald, et al., 2009)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Al-MohizeaAM, RaishM, Ahad A, Al-Jenoobi FI, Alam MA. Pharmacokinetic interaction of Acacia catechu with CYP1A substrate theophylline in rabbits. J Tradit Chin Med. 2015; 35(5):588-593.

2. Jarald E, Joshi SB, Jain DC. Biochemical study on the hypoglycaemic effects of extract and fraction of Acacia catechu Willd in alloxan-induced diabetic rats. Int J Diabetes & Metabolism. 2009;17:63-69.

3. Maisuthisakul P, Suttajit M, Pongsawatmanit R. Assessment of phenolic content and free radical-scavenging capacity of some Thai indigenous plants. Food Chemistry. 2007;100:1409-1418.

 

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  : www.thai-remedy.com

 


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting