ชื่อเครื่องยา | กระวานไทย |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ผลแก่ที่มีอายุ 4-5 ปี, เมล็ด |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | กระวานไทย |
ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) | กระวานขาว (ภาคกลาง ภาคตะวันออก) ข่าโคม ข่าโคก หมากเนิ้ง(ตะวันออกเฉียงเหนือ) ปล้าก้อ (ปัตตานี) มะอี้ (เหนือ) กระวานดำ กระวานแดง กระวานโพธิสัตว์ กระวานจันทร์ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Amomum krervanh Pierre ex Gagnep |
ชื่อพ้อง | Amomum verum |
ชื่อวงศ์ | Zingiberaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ผลกลม ติดเป็นพวงราว 10-20 ผล เปลือกผิวเกลี้ยง มองเห็นเป็นพู แห้งและแข็ง ผิวเปลือกมีริ้วตามยาว เรียงตัวจากฐานไปยอด มีสีขาวนวล ขนาดผลเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 6-15 มิลลิเมตร หัวท้ายผลมีจุก แบ่งเป็นพู 3 พู ผลแก่จะแตก มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 12-18 เมล็ด เมล็ดแก่มีสีน้ำตาลไหม้ มีเยื่อบางๆกั้น ทั้งผล และเมล็ด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กลิ่นคล้ายการบูร รสเผ็ด เย็น
เครื่องยา กระวานไทย
เครื่องยา กระวานไทย
เครื่องยา กระวานไทย
เครื่องยา กระวานไทย
ช่อผล กระวานไทย
ช่อผล กระวานไทย
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ความชื้นไม่เกิน 11% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 1 % w/w ปริมาณน้ำมันหอมระเหยไม่น้อยกว่า 5 % w/w เภสัชตำรับจีนระบุปริมาณสาร cineol ไม่น้อยกว่า 3 % w/w
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ผลแก่ รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ใช้แก้อาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม และแก้แน่นจุกเสียด มีฤทธิ์ขับลม และบำรุงธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ บำรุงกำลัง ขับโลหิต แก้ลมในอกให้ปิดธาตุ แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ แก้ลมในลำไส้ เจริญอาหาร รักษาโรครำมะนาด แก้ลมสันนิบาต แก้สะอึก แก้อัมพาตรักษาอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เมล็ด แก้ธาตุพิการ อุจจาระพิการ บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง ขับลม นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับยาถ่ายเพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง (คลื่นไส้อาเจียน) เช่น มะขามแขก
พิกัดยาไทย ที่มีกระวานเป็นส่วนประกอบ คือ พิกัดตรีธาตุ ประกอบด้วย กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้เสมหะ แก้ไข้ พิกัดตรีทุราวสา ประกอบด้วย ผลกระวาน ผลโหระพาเทศ ผลราชดัด เป็นยาแก้เสมหะ แก้ลม บำรุงน้ำดี แก้พิษตานซาง
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ผลกระวานไทย ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ตำรับยา “ยาธาตุบรรจบ” ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้อง
ใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล (0.6-2 กรัม) ตากแห้งบดเป็นผง รับประทาน ครั้งละ 1-3 ช้อนชา โดยนำไปต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือครึ่งถ้วยแก้ว รับประทานครั้งเดียว หรือนำไปชงกับน้ำอุ่นดื่ม
องค์ประกอบทางเคมี:
ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย (essential oil) 5-9% ซึ่งมีองค์ประกอบ camphor, myrcene, limonene, linalool, cineol , bornyl acetate , 1,8-cineol, beta-pinene, alpha-pinene, p-cymene, car-3-ene, terpinen-4-ol, alpha-terpineol, thujone, (E)-nuciferol, alpha-santalol, farnesol isomer, alpha-bisabolol, cinnamaldehyde, (Z)-alpha-trans- bergamotol, safrole, cis-laceol, alpha-curcumene
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรีย
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ของสารบริสุทธิ์ 7 ชนิดที่แยกได้จากเมล็ดกระวานไทยซึ่งเป็นสารกลุ่มโมโนเทอร์ปีน 4 ชนิด ฟลาโวนอยด์ 1 ชนิด และคาดว่าเป็นสารประเภทไดเทอร์ปีน 2 ชนิด (ยังไม่ทราบโครงสร้างที่แน่นอน) พบว่าโมโนเทอร์ปีน 3 ชนิด คือ เมอร์ทีนาล เมอร์ทีนอล และ ทราน-ไพโนคาร์วีออล สารดังกล่าวข้างต้น (ยกเว้นฟลาโวนอยด์) ให้ค่า EC50(ความเข้มข้นของยาที่สามารถฆ่าเชื้อได้ 50%) อยู่ในช่วง 10 -5- 10 –8 กรัมต่อมิลลิลิตร (จงดี, 1993)
ฤทธิ์ยับยั้งภูมิคุ้มกัน
การทดสอบสารสกัดน้ำของผลกระวาน ในการยับยั้งการทำงานของคอมพลีเมนต์ (การทำงานของคอมพลีเมนต์นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกายแล้ว ยังก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกายได้ เช่น ทำให้เกิดพยาธิสภาพในผู้ป่วยโรคภูมิต้านทานตนเอง การทดลองนี้จึงสนใจที่จะศึกษาสมุนไพรที่สามารถยับยั้งการทำงานของคอมพลีเมนต์ในการทำให้เม็ดเลือดแดงแกะแตก) โดยนำสารสกัดสมุนไพรด้วยน้ำ จำนวน 53 ชนิด รวมทั้งกระวาน นำพืชมาทำให้แห้งแล้วบดละเอียด น้ำหนัก 1 กรัม ผสมกับน้ำกลั่น 20 มล. ต้มให้เดือดจนกระทั่งเหลือปริมาตรประมาณ 4 มล. นำไปกรอง และปั่นเอาน้ำใสส่วนบนไปนึ่งฆ่าเชื้อก่อนใช้ แล้วทำการทดสอบโดยผสมสารสกัดสมุนไพรกับซีรัม (คอมพลีเมนต์) แล้วเติมเม็ดเลือดแดงแกะที่ทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีแล้ว ดูผลการแตกของเม็ดเลือดแดงแกะ พบว่ากระวานสามารถยับยั้งการทำงานของคอมพลีเมนต์ได้ 95% (กานต์ธีรา, 1998)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมื่อฉีดสารสกัดแอลกอฮอล์-น้ำ (1:1) เข้าใต้ผิวหนังหรือป้อนหนูถีบจักร ในขนาด 10 ก/กก (ขนาดที่ทดลองเป็น 16,667 เท่า ของที่ใช้ในตำรับยา) ไม่พบพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
การศึกษาความเป็นพิษของเมล็ดกระวานไทย พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดเมล็ดกระวานไทยซึ่่งสกัดด้วย diluted alcohol:glycerol (95:5) ในขนาดความเข้มข้นของสารสกัด 0.5 ก./มล. แก่หนูขาวและหนูถีบจักรทั้งสองเพศในขนาดสูงถึง 10 มก./กก. ครั้งเดียว ไม่มีสัตว์ทดลองตาย หนูขาวที่ป้อนด้วยสารสกัดขนาด 2 มก./กก./วัน นาน 30 วัน ไม่พบความผิดปกติใดๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนความเป็นพิษเฉียบพลันของน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเมล็ดกระวานไทยเมื่อป้อนให้หนูถีบจักรได้ค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 2.14 มล./กก. หรือเทียบได้กับเมล็ดกระวานไทย 43 ก./กก. จากผลการทดลองที่ได้แสดงว่าเมล็ดกระวานไทยค่อนข้างปลอดภัย (สมใจ และคณะ, 1995)
เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
2. กานต์ธีรา สิงห์คำ.การศึกษาสมุนไพรยับยั้งการทำงานของคอมพลีเมนต์. โครงการพิเศษปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.1998.
3. จงดี นิละนนท์. การค้นคว้าสารต้านมาลาเรียจากเมล็ดกระวานขาวไทย.วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 1993.
4. สมใจ นครชัย, ยุวดี วงษ์กระจ่าง, ปราณี ใจอาจ, พิสมัย ทิพย์ธนทรัพย์, ปัญญา เต็มเจริญ.พิษวิทยาของเมล็ดกระวานไทย.วารสารสมุนไพร 1995;2(1) :7-11
ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/