มะเฟือง

ชื่อสมุนไพร

มะเฟือง

ชื่ออื่นๆ

มะเฟืองส้ม (สกลนคร) มะเฟืองเปรี้ยว สะบือ เฟือง

ชื่อวิทยาศาสตร์

Averrhoa carambola Linn.

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Oxalidaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 8-12 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นสั้น เรือนยอดแน่นทึบ ลำต้นสีน้ำตาลอมแดง ผิวขรุขระ ใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ แต่ละใบมีใบย่อย 3-11 ใบ ใบย่อยออกตรงข้ามกัน หรือเรียงสลับกัน ใบย่อยรูปขอบขนาน แถบใบหอก กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 3-9 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ผิวใบมัน ใบอ่อนสีเขียวอมแดง ใบย่อยตรงปลายใบมีขนาดใหญ่ ดอกช่อขนาดเล็ก โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 กลีบ กลีบดอกสีชมพู ถึงม่วงแดง แต่ตอนโคนกลีบสีซีดจางเกือบขาว ปลายกลีบโค้งงอน ออกตามซอกใบที่มีใบติดอยู่ หรือใบร่วงหลุดไปแล้ว หรืออาจจะออกตามลำต้น กลีบเลี้ยงสีม่วงมี 5 กลีบ ปลายแหลม ก้านชูช่อดอกมีสีม่วง ผลสด รูปกลมรี อวบน้ำ มีสันเด่นชัด ลักษณะเป็นกลีบขึ้นเป็นเฟือง 5 เฟือง มองเห็นเป็นสันโดยรอบผล 5 สัน เมื่อผ่าตามขวางจะเป็นรูปดาว 5 แฉก ยาว 7-14 เซนติเมตร ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีเหลืองอ่อนอมส้ม เป็นมันลื่น เนื้อผลลักษณะชุ่มน้ำ รสหวานอมเปรี้ยวรับประทานได้ เมล็ดแบนสีดำ ยาวเรียวขนาด 0.5 เซนติเมตร มีหลายเมล็ด ผลและยอดอ่อนใช้รับประทานได้ ให้ผลตลอดปี บางชนิดรสหวาน บางชนิดรสเปรี้ยว ผลกินได้ทั้งขณะผลอ่อน และผลสุกแล้ว พบปลูกตามบ้านเรือน เรือกสวนทั่วไปเพื่อรับประทานผล


 

ลักษณะวิสัย

 

ลักษณะวิสัย

 

เปลือกต้น

 

ลำต้น

 

ใบ  และ  ดอก

 

ดอก

 

ดอก  และ  ผล

 

ผล

ผล

 

ผล



สรรพคุณ    
             ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  รากและแก่น เข้ายากับหญ้าหวายนา หญ้าแห้วหมู ข้าวโพด และเมล็ดฝ้าย ต้มน้ำดื่ม แก้นิ่ว ใบ ใบมะยมตัวผู้ และใบหมากผู้หมากเมีย ต้มน้ำอาบ แก้อีสุกอีไส ใบ และราก แก้ไข้ ผล ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ
            ตำรายาไทย  ใช้   ใบ รสจืดมันเย็น ต้มดื่มดับพิษร้อน แก้ไข้ ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด บดทาหรือพอก แก้เม็ดผดผื่นคัน ต้มน้ำอาบแก้ตุ่มคัน บวม แผลมีหนอง ห้ามเลือด แก้ปวด ถอนพิษแมงมุม แก้พิษงู นำใบสดมาตำให้ละเอียด ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน แก้ปวดฟัน และใช้ทารักษาอีกสุกอีใส ใบและราก เป็นยาเย็น ใช้ใบและรากสด นำมาต้มเอาน้ำเป็นยาดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้กาฬขึ้นภายนอกภายใน แก้พิษสำแดง  ใช้ใบและผลสด นำมาต้มกินเป็นยาแก้ไข้ แก้อาเจียน ยอด ผสมกับรากมะพร้าว แก้ไข้หวัดใหญ่ แก่น ราก ต้มกิน แก้ท้องร่วง แก้เจ็บเส้นเอ็น ผล รสเปรี้ยวหวานเย็น  รับประทานแก้ไอ แก้ไข้ ระงับความร้อน ถอนพิษผิดสำแดง แก้คอแห้ง แก้กระหายน้ำ แก้อาเจียน แก้ปอด ขับเสมหะ ขับน้ำลาย ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้กามโรค แก้บิด แก้ท้องร่วง ลดการอักเสบ บวม แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้เลือดออกตามไรฟัน ใช้สระผม บำรุงเส้นผม ขจัดรังแค คั้นเอาน้ำจากผลกินแก้ไข้ แก้เมา แก้ม้ามโตเนื่องจากไข้ป่า ผสมสารส้ม หรือสุราดื่มขับนิ่ว แก้หนองใน ขับเลือดเสีย กินมากขับระดู ทำให้แท้ง ดอก รสจืดเย็น ต้มดื่ม แก้ไข้ ขับพยาธิ ถอนพิษเฮโรอีน ทาแก้แพ้ เปลือกต้น รสฝาดเมา แก้ไข้ท้องเสีย ดับพิษแผลปวดแสบปวดร้อน เปลือกลำต้นชั้นใน นำมาปรุงเป็นยาผสมกับไม้จันทน์ และชะลูด ใช้ทาภายนอกแก้ผดผื่นคัน ราก รสหวานเย็น ต้มดื่มแก้ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้ปวดแสบกระเพาะอาหาร จุกแน่นอก

ข้อควรระวัง     
            สตรีตั้งครรภ์ ไม่ควรรับประทานผลมะเฟือง เพราะอาจจะทำให้แท้งลูกได้

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting