ชื่อสมุนไพร | มหาหงส์ |
ชื่ออื่นๆ | กระทายเหิน มหาหงส์ หางหงส์ (กลาง), ตาห่าน เหินแก้ว เหินคำ (แม่ฮ่องสอน) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Hedychium coronarium J. Koenig |
ชื่อพ้อง | Amomum filiforme Hunter ex Ridl, Gandasulium coronarium (J.Koenig) Kuntze, Gandasulium lingulatum (Hassk.) Kuntze, Hedychium chrysoleucum Hook., Hedychium gandasulium Buch.-Ham. ex Wall., Hedychium lingulatum Hassk., Hedychium maximum Roscoe, Hedychium prophetae |
ชื่อวงศ์ | Zingiberaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เหง้าสีนวล มีกลิ่นเฉพาะ ส่วนเหนือดินสูง 1-1.5 เมตร ลำต้นเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่มีกาบใบซ้อนแน่น กลม สีเขียว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 16-25 เซนติเมตร มี 7-12 ใบ ก้านใบสั้น ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นกลางใบปรากฏเด่นชัดด้านหลังใบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มโดยเฉพาะเส้นกลางใบ แผ่นใบมักงอตัวลงด้านหลัง ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น เกลี้ยง เป็นมัน ลิ้นใบยาว1.5-3.0 ซม. เป็นเยื่อบางสีขาว ปลายแยกเป็นสองแฉก ดอกช่อ ออกที่ปลายยอดของลำต้นเทียม กว้าง 4.0-8.0 ซม. ยาว 10.0-15.0 ซม. ก้านช่อดอกยาว 5.0 ซม. มีใบประดับใหญ่จำนวนมาก เรียงซ้อนและขนาดลดหลั่นตามลำดับ ใบประดับรูปหอกหรือรูปไข่ กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 4-6 ซม. ปลายแหลม ผิวเกลี้ยง สีเขียว ใบประดับย่อย รูปหอก ปลายมน ผิวเกลี้ยง ขอบพับเข้าหากัน ตรงกลางเป็นสัน แต่ละอันซ้อนเหลื่อมกัน เมื่อกางออกกว้าง 1.5 ซม. ยาว 3.0-3.3 ซม. ดอกมีขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอม ออกตามซอกใบประดับ 1-5 ดอก กลีบดอกรูปแถบแคบๆ กว้าง 0.2 มม. ยาว 3.5-4.0 ซม. ปลายมน สีขาว กลีบปากรูปไข่เกือบกลม กว้าง 5.0-5.5 ซม. ยาว 4.0-4.5 ซม. ปลายแยกเป็น 2 กลีบ ลึกเป็นเศษหนึ่งส่วนสามของกลีบ สีขาว ตรงกลางกลีบค่อนไปทางโคนกลีบสีเหลือง สีขาวหรือนวล โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็กยาว 5-8 เซนติเมตร สีขาว ปลายกลีบดอกหยักบาง กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน หลอดกลีบเลี้ยงยาว 2.0-4.0 ซม. ปลายแยกเป็น 3 แฉกตื้น และแยกลึกลงเพียงด้านเดียว กว้าง 6.0 มม. ยาว 1.7 ซม. ปลายกลีบสีขาวแกมเขียว ส่วนโคนสีขาว เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นกลีบขนาดใหญ่ รูปไข่กลับแกมรูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.2-2.4 ซม. ยาว 4.2-4.5 ซม. ปลายมนสีขาว เกสรเพศผู้ อับเรณู รูปขอบขนาน กว้าง 0.3 ซม. ยาว 1.4-1.5 ซม. ก้านชูอับเรณูยาว 1.4-2.0 ซม.เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 อัน รังไข่รูปขอบขนานกว้างประมาณ 0.2-0.4 ซม. ยาวประมาณ 0.3-0.5 ซม. ผิวเรียบ มี 3 ห้อง ยอดเกสรเพศเมีย เกือบกลม ขนาดประมาณ 0.1 ซม. ผลเป็นผลแห้ง รูปทรงกลม แตกออกได้เป็น 3 พู ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม
ลักษณะวิสัย
ลักษณะวิสัย
ใบ และ ดอก
ดอก
ดอก
สรรพคุณ
ตำรายาไทยใช้ เหง้า เป็นยาบำรุงกำลัง ขับลม บำรุงไต ตากแห้งแล้วบดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน กินแก้กษัย (การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบซีด โลหิตจาง ปวดเมื่อย) น้ำมันจากเหง้าสด ฆ่าแมลง
ในต่างประเทศ ใช้เหง้าช่วยกระตุ้นน้ำย่อย และช่วยในการขับลม
องค์ประกอบทางเคมี
น้ำมันหอมระเหยจากเหง้า เป็นของเหลวใส สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ประกอบด้วย beta-pinene, d-limonene, borneol, linalool
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
น้ำมันหอมระเหยจากเหง้า เมื่อนำมาเตรียมเป็นโลชันกันยุงกัด พบว่าป้องกันการกัดของยุงลายสวนได้ 7.5 ชั่วโมง, ยุงก้นปล่อง 7.1 ชั่วโมง และ ยุงรำคาญ 5.8 ชั่วโมง
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/