ชื่อสมุนไพร | เปราะป่า |
ชื่ออื่นๆ | ตูบหมูบ (อุบลราชธานี ตะวันออกเฉียงเหนือ); เปราะเถื่อน (ปราจีนบุรี ชพ);เปราะเขา เปราะป่า |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Kaempferia marginata Carey |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Zingiberaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชลงหัว ขนาดเล็ก สูง 3-5 เซนติเมตร มีเหง้าสั้น รากเป็นกระจุก ใบเป็นใบเดี่ยว ใบอ่อนม้วนเป็นกระบอกตั้งขึ้น ใบแก่แผ่ราบบนหน้าดิน ไม่มีก้านใบ ต้นหนึ่งมักมี 2 ใบ ใบทรงกลมโต หรือรูปรี กว้าง 8-14 เซนติเมตร ยาว 5-11.5 เซนติเมตร มีสีเขียวเข้ม ขอบใบมีสีม่วงแดง ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ผิวบนเรียบ ด้านล่างมีขน กาบใบยาวราว 5 เซนติเมตร กาบใบที่ไม่มีใบยาวราว 3 เซนติเมตร ลิ้นใบรูปสามเหลี่ยม ยาวราว 4 มิลลิเมตร ช่อดอกแทงออกตรงกลางระหว่างกาบใบทั้งสอง กลีบดอกเป็นหลอดยาวราว 4 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบ รูปแถบ กลีบหลังยาว และกว้างกว่ากลีบข้าง กลีบหลังกว้างราว 0.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 เซนติเมตร กลีบข้างกว้างราว 0.3 เซนติเมตร ยาวราว 2.4 เซนติเมตร ดอกสีขาว กลีบดอกบอบบาง มีดอกย่อย 6-8 ดอก ใบประดับสีขาวอมเขียว รูปใบหอก กว้างราว 1 เซนติเมตร ยาวราว 3.2 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ที่เป็นหมันสีขาว รูปไข่กลับแกมรูปลิ่ม กว้างราว 1 เซนติเมตร ยาวราว 2 เซนติเมตร กลีบปากสีม่วง มีแถบสีขาวระหว่างเส้นกลางกลีบกับขอบกลีบ รูปไข่กลับแกมรูปลิ่ม กว้างราว 1.8 เซนติเมตร ยาวราว 2.2 เซนติเมตร ปลายหยักลึกมาก เกสรตัวผู้เกือบไม่มีก้าน หรือมีก้านยาวราว 1 มิลลิเมตร อับเรณูยาวราว 4 มิลลิเมตร รังไข่ขนาดกว้างราว 2 มิลลิเมตร ยาวราว 4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ราว 2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉก ผลรูปไข่ สีขาว แตกเป็น 3 พู เมล็ดทรงรูปไข่ สีน้ำตาล ชอบขึ้นตามดิน หรือเกาะอยู่ตามโขดหิน เกิดตามที่ลุ่มชื้นแฉะในป่าเบญจพรรณทั่วไป
ลักษณะวิสัย
ใบ
ใบอ่อน
ดอก
ดอก
เหง้าใต้ดิน
สรรพคุณ
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ หัว มีกลิ่นหอม รสร้อน ขมจัด ทำลูกประคบ แก้ฟกช้ำ ใช้แก้ไข้ แก้หวัด แก้กำเดา ขับลมในลำไส้
ยาพื้นบ้านอีสาน ใช้ เหง้าใต้ดิน ตำพอก แก้อาการอักเสบ เนื่องจากแมลงสัตว์ กัดต่อย หรือผสมใบหนาดใหญ่ ต้มน้ำดื่ม แก้อัมพาต เข้าตำรับยาอายุวัฒนะ(มุกดาหาร)
ตำรายาไทย ใช้ เหง้าใต้ดิน รสเผ็ดขมจัด แก้ไข้ แก้หวัด แก้กำเดา ขับลมในลำไส้ แก้โรคตับ ตำผสมกับหัวหอม สุมกระหม่อมเด็ก แก้หวัด แก้กำเดา
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/