ตะขบป่า

ชื่อสมุนไพร

ตะขบป่า

ชื่ออื่นๆ

เบนโคก (อุบลราชธานี) ตานเสี้ยน มะแกว๋นนก มะแกว๋นป่า มะขบ

ชื่อวิทยาศาสตร์

Flacourtia indica (Burm.f.) Merr.

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Flacourtiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 2-15 เมตร ลำต้น และกิ่งใหญ่ๆมีหนามแหลม กิ่งแก่ๆมักจะไม่มีหนาม กิ่งอ่อนมีหนามแหลมตามซอกใบ หนามยาว 2-4 เซนติเมตร เรือนยอดแผ่กว้าง ปลายกิ่งโค้งลง เปลือกสีเหลืองอมเทาแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศรูปรีกระจายห่างๆ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ ขนาดค่อนข้างเล็ก มักเรียงชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปร่าง ขนาด เนื้อใบ และขนที่ปกคลุมแตกต่างกัน ส่วนใหญ่แผ่นใบรูปไข่กลับ กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร ปลายกลม โคนสอบแคบ ขอบใบค่อนข้างเรียบ หรือจัก มักจักใกล้ปลายใบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงถึงมีขนสั้นหนานุ่มทั้งสองด้าน ใบอ่อนและเส้นกลางใบสีแดงอมส้ม เส้นแขนงใบมี 4-6 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห พอเห็นได้ลางๆ ก้านใบยาว 3-5 มิลลิเมตร ก้านใบสีเขียวหรือแดง มีขน ก้านใบยาว 3-8 มิลลิเมตร ดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบ และปลายกิ่ง มีขน ดอกย่อยจำนวนน้อย ดอกขนาดเล็ก สีขาว แยกเพศอยู่คนละต้น ที่โคนช่อมีใบประดับ บางทีมีหนาม ก้านดอกยาว 3-5 เซนติเมตร มีขน กลีบดอก 5-6 กลีบ รูปไข่ ปลายมน ยาว 1.5 มิลลิเมตร ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง ด้านในและที่ขอบกลีบมีขนแน่น ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้ จานฐานดอกแยกเป็นแฉกเล็กน้อย หรือหยักมน มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ก้านเกสรยาว 2-2.5 มิลลิเมตร มีขนเฉพาะที่โคน ดอกเพศเมีย จานฐานดอกเรียบ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีรังไข่กลม ปลายสอบแคบ มี 1 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมี 5-6 อัน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร แต่ละก้านปลายแยกเป็นสองแฉก และม้วนออก กลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายมน ผิวด้านนอกเกลี้ยง ด้านในและขอบมีขนหนาแน่น ผลกลม หรือรี เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8-1 เซนติเมตร ออกเดี่ยว หรือเป็นกลุ่ม เป็นพวงเล็กๆ ตามกิ่ง เมื่ออ่อนสีเขียว สุกสีแดงคล้ำ ลักษณะชุ่มน้ำ มี 5-8 เมล็ด มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผล ผลจะสุกประมาณเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม รับประทานได้ รสหวานอมฝาด พบตามป่าเต็งรัง ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าผสมผลัดใบ ตลอดจนตามริมแม่น้ำ

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบ และ หนาม

 

ใบ และ หนาม

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล

 

ผลสุก



สรรพคุณ    
             ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  แก่น ต้มน้ำดื่ม แก้ผิดสำแดง หรือเข้ายากับแก่นมะสัง เบนน้ำ และหนามแท่ง ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย แก้คัน
             ยาพื้นบ้านอีสาน  ใช้  แก่นหรือราก 1 กำมือ ต้มน้ำพอท่วมยา ดื่มวันละ 3-5 ครั้ง แก้โรคไตพิการ
             ตำรายาไทย  ใช้  แก่น รสฝาดขื่นต้มน้ำดื่ม แก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด ขับเหงื่อ ขับพยาธิไส้เดือน แก้ตานขโมย แก้โรคผิวหนัง ประดง ผื่นคัน ราก รสหวานฝาดร้อน กินแก้ไตอักเสบ แก้ตานขโมย ขับพยาธิไส้เดือน บำรุงน้ำนม แก้โรคปอดบวม ทั้งต้นหรือราก แก้โรคผิวหนัง ประดง ผื่นคันตามตัว ลำต้น ผสมหัวเอื้องหมายนา ผักแว่นทั้งต้น หอยขมเป็นๆ 3-4 ตัว แช่น้ำให้เด็กอาบ แก้อีสุกอีใส อีดำอีแดง น้ำยางจากต้น ใช้แก้อหิวาตกโรค เปลือก แก้เสียงแห้ง อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ น้ำยางจากต้นและใบสด กินเป็นยาลดไข้สำหรับเด็ก แก้โรคปอดอักเสบ แก้ไอ แก้บิดและท้องเสีย ช่วยย่อย เปลือก ตำรวมกับน้ำมัน ใช้ทาถูนวด แก้ปวดท้อง แก้คัน นำเปลือกมาแช่หรือชงเป็นยากลั้วคอ น้ำต้มใบแห้ง กินเป็นยาฝาดสมาน ขับเสมหะ แก้หืดหอบ หลอดลมอักเสบ แก้ไข้ แก้ไอ แก้ท้องร่วง ขับลม และบำรุงร่างกาย ใบที่ย่างไฟจนแห้งใช้ชงกินหลังคลอดบุตร เมล็ด ตำพอกแก้ปวดข้อ ผล กินได้มีวิตามินซีสูง แก้อ่อนเพลีย บรรเทาอาการโรคดีซ่าน ม้ามโต แก้คลื่นไส้อาเจียน และเป็นยาระบาย

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง :  phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting