กำแพงเจ็ดชั้น

ชื่อสมุนไพร

กำแพงเจ็ดชั้น

ชื่ออื่นๆ

ตะลุ่มนก (ราชบุรี) ตาไก้ (พิษณุโลก) น้ำนอง มะต่อมไก่ (เหนือ) หลุมนก (ใต้) ขอบกระด้ง พรองนก (อ่างทอง); ขาวไก่, เครือตากวาง, ตากวาง, ตาไก่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); กระดุมนก (ประจวบคีรีขันธ์); กลุมนก

ชื่อวิทยาศาสตร์

Salacia chinensis L.

ชื่อพ้อง

Salacia prinoides

ชื่อวงศ์

Celastraceae (Hippocrateaceae)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้เถาเนื้อแข็ง หรือไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 2-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบสีเทานวล เนื้อไม้มีวงปีสีน้ำตาลแดงเข้มจำนวนหลายชั้นเห็นชัดเจน เรียงซ้อนกันเป็นชั้น 7-9 ชั้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม สลับตั้งฉาก แผ่นใบค่อนข้างหนา แผ่นใบรูปวงรี รูปวงรีกว้าง รูปไข่ รูปวงรีแกมใบหอก หรือรูปไข่กลับ กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือมน โคนใบสอบ ขอบหยักหยาบๆ หลังใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบเรียบ เนื้อใบกรอบ ก้านใบยาว 0.6-1.5 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนและด้านล่างค่อนข้างหนาเป็นมัน เส้นแขนงใบ 4-10 คู่ ดอกเล็ก สีเขียวอมเหลืองหรือเหลือง ออกเป็นช่อ แบบกระจุกหรือช่อแยกแขนงสั้นๆ ตามซอกใบ มีกลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองปนเขียว ออกเป็นกลุ่มหรือช่อสั้นๆ ที่ซอกใบ หรือกิ่งก้าน ปลายกลีบดอกมนบิดเล็กน้อย แกนดอกนูนเป็นวงกลม มี 3-6 ดอกในแต่ละช่อ กลีบดอกรูปรีหรือรูปไข่กว้าง ยาว 3-4 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 6-10 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเล็กมากมี 5 กลีบ กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ปลายมนกลม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ขอบเป็นชายครุย จานฐานดอกรูปถ้วยคล้ายเป็นถุง มีปุ่มเล็กๆ ตามขอบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดบนขอบจานฐานดอก ก้านเกสรเพศผู้สั้น อับเรณูรูปส้อม ปลายเกสรชนกันเป็นยอดแหลม รังไข่มี 3 ช่อง ซ่อนอยู่ในจานฐานดอก ออวุลมี 2 เม็ด ในแต่ละช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ผลสด รูปร่างค่อนข้างกลม ผิวผลเกลี้ยง รูปกระสวยกว้าง หรือรี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีแดงหรือสีแดงอมส้ม ภายในมีเมล็ดกลมขนาดใกล้เคียงกับผล 1 เมล็ด ออกดอกช่วงเดือน มกราคมถึงมีนาคม ผลรับประทานได้ พบตามป่าชายทะเล ป่าเบญจพรรณทั่วไป

 

ลักษณะวิสัย

 

เปลือกลำต้น

 

ใบ

 

ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ดอก

 

ผล

 

ผล

 

ผล และเมล็ด

 

สรรพคุณ    
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  เนื้อไม้ ต้มน้ำดื่ม แก้โรคไต แก้ท้องผูก ยาระบาย แก้ลมตีขึ้น ลำต้น แก้ปวดเมื่อย (เข้ายากับ ตาไก่ ตากวง อ้อยดำ ขมิ้นเกลือ ดูกหิน ตับเต่า ใช้ลำต้นของทุกต้นรวมกัน มาต้มน้ำดื่ม) ยาระบาย (เข้ายากับ ยาปะดง ตากวง ดูกไส คอแลน พาสาน) ขับปัสสาวะ (เข้ายากับ แก่นตาไก้ แก่นตากวง แก่นดูกไส แก่นตานกกด) แก้ริดสีดวงทวาร (เข้ายากับ ว่านงวงช้าง แก่นกระถิน ปูนขาว แล้วต้ม)
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดนครราชสีมา  ใช้  ลำต้น บำรุงโลหิต โดยใช้ลำต้นต้มน้ำดื่มวันละ 1-2 ช้อนชา ก่อนอาหารเช้า-เย็น
              ยาพื้นบ้าน  ใช้  ต้น รสเมาเบื่อฝาดสุขุม ต้มน้ำดื่ม หรือดองสุรา แก้ปวดเมื่อย หรือเข้ายาระบาย (ผสมกับรากตูมกาขาว รากชะมวง และรากปอด่อน) บำรุงโลหิต ฟอกโลหิต แก้โลหิตเป็นพิษทำให้ร้อน แก้โลหิตจาง แก้ผอมแห้งแรงน้อย ทำให้อยากอาหาร  ขับระดูขาว แก้ปวดตามข้อ แก้ไขข้อพิการ เข้าข้อ แก้ประดง ขับผายลม ฟอกและขับโลหิตระดู รักษาโรคตับอักเสบ (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) แก้หืด (ผสมกับแก่นพลับพลา แก่นโมกหลวง ต้นสบู่ขาว ต้นพลองเหมือด แก่นจำปา และต้นคำรอก) แก้เบาหวาน (ผสมกับรากทองพันชั่ง หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู แก่นสัก และหญ้าชันกาดทั้งต้น) ราก รสเมาเบื่อฝาด ต้มหรือดองสุราดื่ม ขับเลือดระดู บำรุงโลหิต ดับพิษร้อนของโลหิต แก้ลมอัมพฤกษ์ รักษาโรคตา บำรุงน้ำเหลือง ใบ แก้มุตกิด (ระดูขาว) ขับระดู ดอก แก้บิดมูกเลือด แก่นและราก ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบายแก้เส้นเอ็นอักเสบ
             ประเทศกัมพูชา  ใช้  เถา ต้มน้ำดื่ม แก้โรคเบาหวาน

             ประเทศอินเดีย ใบ ใช้รักษาเบาหวาน โดยนำใบกำแพงเจ็ดชั้น ผสมกับใบแพงพวยฝรั่ง อย่างละเท่าๆกัน บดพอหยาบรวมกัน จำนวน 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว  ดื่มตอนเช้า เป็นเวลา 1 เดือน ราก แก้พิษงู นำรากกำแพงเจ็ดชั้นตำผสมกับน้ำมะนาว ใช้กินและพอกทาแผลที่ถูกงูกัด รากใช้รักษาโกโนเรีย โรคข้อรูมาติก และโรคผิวหนัง

 

องค์ประกอบทางเคมี
    ลำต้น
    สารกลุ่ม Friedelane-Type Triterpenes ได้แก่ maytenoic acid,  friedelane-3-on-29-ol, 15R-hydroxyfriedelan-3-one, wilfolic acid C, salaspermic acid, orthosphenic acid, salasones A, salasones B, salasones C
    สารกลุ่ม Oleanane-Type Triterpenes ได้แก่ 3β, 22β-dihydroxyolean-12-en-29-oic acid,
maytenfolic acid, β-amyrin, 22α-hydroxy-3-oxoolean-12-en-29-oic acid,  β-amyrenone
    สารกลุ่ม Ursane-Type Triterpenes ได้แก่ tripterygic acid A, demethylregelin
    สารกลุ่ม Norfriedelane-Type Triterpenes ได้แก่ tingenone, tingenin B, regeol A, triptocalline A, salaquinone A, B
    สารกลุ่ม Eudesmane-Type Sesquiterpene ได้แก่ celahin C, salasol A
    ใบ
    สารไตรเทอร์ปีน  foliasalacins,  3b-hydroxy-20-oxo-30-norlupane, betulin, betulinic acid, friedelin, octandronol, oleanoic acid, erythrodiol, ursolic acid, uvaol, isoursenol
    สารกลุ่มซัลโฟเนียม ได้แก่ salacinol, kotalanol
    สารไกลโคไซด์ foliachinenosides E, F, G, H, I,    foliasalaciosides J, K, L
     ราก    พบสารกลุ่มซัลโฟเนียม ได้แก่ salacinol, kotalanol(7) สารกลุ่มโปรแอนโทไซยานิดิน ได้แก่  leucopelargonidin (3)
     ผล     พบสารกลุ่มซัลโฟเนียม ได้แก่ salacinol, kotalanol(7)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส

             สารสกัดด้วยน้ำจากลำต้น และรากกำแพงเจ็ดชั้น ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส (alpha glucosidase) ในลำไส้เล็กทั้งสองชนิดในหนูทดลอง โดยสามารถยับยั้งเอนไซม์ซูเครส โดยมีค่า IC50 ของลำต้น และราก เท่ากับ  36.5, 57.9 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ  และยับยั้งเอนไซม์มอลเตส โดยมีค่า IC50 ของลำต้น และราก เท่ากับ 87.3, 157.7 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร แสดงว่าลำต้นออกฤทธิ์ได้ดีกว่าราก  โดยพบว่าสารที่ออกฤทธิ์ดีคือ salacinol และ kotalanol

 ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด

            สารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มและเอทานอล จากรากกำแพงเจ็ดชั้น เมื่อป้อนให้หนูทดลอง ในขนาด 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัมต่อวัน เป็นเวลา 14 วัน พบว่ามีนัยสำคัญในการลดปริมาณคลอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ LDL VLDL สามารถเพิ่มไขมันชนิดดี HDL ในหนูที่มีไขมันในเลือดสูงได้ เมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับยา

ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับจากสารพิษ

            สารกลุ่มลิกแนนที่แยกได้จากใบ 2 ชนิด คือ eleutheroside E₂ และ 7R,8S –dihydrodehydrodi coniferyl alcohol 4-O-β-D-glucopyranoside มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับหนูในหลอดทดลอง จากการถูกทำลายด้วยสารเคมี D-galactosamine เมื่อให้สารในขนาด 100 ไมโครโมลาร์ โดยมีค่าการยับยั้งเท่ากับ 41.4% และ 45.5%  ตามลำดับ

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

            สารสกัดใบด้วยเอทานอล มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก Staphylococcus  epidermidis และเชื้อรา Cryptococcus neoformans โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 256 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร  และยับยั้งเชื้อรา Candida albicans โดยมีค่า MIC เท่ากับ 512 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร   สารสกัดน้ำจากใบมีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. epidermidis และ C. neoformans โดยมีค่า MIC เท่ากับ 512  และ 1,024 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร  ตามลำดับ

 

 

ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/


 


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting