เจตมูลเพลิงขาว

ชื่อสมุนไพร

เจตมูลเพลิงขาว

ชื่ออื่นๆ

ปิดปิวขาว (ภาคเหนือ) ปิ๋ด ปี๋ ขาว ปี่ปีขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์

Plumbago zeylanica Linn.

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Plumbaginaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มขนาดเล็ก หรือไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงประมาณ 1-2 เมตร กิ่งก้านมักทอดยาว ลำต้นตั้งตรง กิ่งเอนลู่ลง หรือพาดพันบนต้นไม้อื่น ลำต้นสีเขียวเข้ม แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งอ่อนเป็นร่องและเป็นเหลี่ยม ผิวเรียบ ใบเดี่ยว กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 8-11 เซนติเมตร ออกสลับ รูปกลมรี รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปขอบขนาน ขอบใบเป็นคลื่น ปลายใบแหลม ตอนปลายเป็นติ่ง โคนในรูปลิ่มหรือมน ใบบาง แผ่นใบบาง สีเขียวอ่อน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกแบบช่อกระจะเชิงลด ดอกจำนวนมาก แกนกลางและก้านช่อดอกมีต่อมไร้ก้าน (เจตมูลเพลิงแดงไม่มี) ก้านมียางเหนียว กลีบดอกสีขาว โคนกลีบดอกเป็นหลอดเล็กๆยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7 ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่ง เกสรตัวผู้สีม่วงน้ำเงิน ยาวประมาณ 0.2 ซม. รังไข่รูปรี เป็น 5 เหลี่ยม ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นหลอดเล็กยาว 0.6-1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวมีต่อมน้ำยางเหนียวติดมือ ช่อดอกยาวได้ประมาณ 15 ซม. ก้านช่อยาว 1.5-2 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว 0.4-0.8 ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 ซม. มีต่อมหนาแน่น ผลแบบแคปซูลแห้ง รูปขอบขนาน ยาว กลม มีสีเขียวมีขนเหนียวรอบตัว แตกได้เป็น 5 ปาก มีร่องตามยาว พบตามป่าดงดิบ ป่าดิบแล้ง และป่าโปร่งทั่วไป


 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ และ ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ดอก

 

ผล

 


สรรพคุณ    
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  ราก เข้ายากับพริกไทย ดองเหล้าดื่ม ช่วยขับประจำเดือน (เช่นเดียวกับปิดปิวแดง แต่ฤทธิ์น้อยกว่า)
              ตำรายาไทย  ใช้  ใบ มีรสร้อน แก้ลมและเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร ขับผายลม ใช้ใบตำพอกแก้ฟกช้ำ ฝีบวม แก้ไข้มาลาเรีย แก้ปวดเมื่อย กระดูกหัก ปอดบวม ดอก มีรสร้อน แก้โรคตา แก้หนาวเย็น ลำต้น รสร้อน ขับประจำเดือน ราก มีรสร้อน ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยย่อย ทำให้เจริญอาหาร ขับประจำเดือน แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย กระจายเลือดลม แก้ริดสีดวงทวาร แก้บวม แก้คุดทะราด เข้ายาบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต ขับโลหิตที่เป็นพิษ ใช้ภายนอกแก้โรคผิวหนังบางชนิด หรือใช้ผงรากปิดพอกฝี ทาแก้กลากเกลื้อน และแก้ปวดข้อ และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา สาร plumbagin จากรากมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง ลดไขมันในเลือด และยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
             ยาพื้นบ้านล้านนา  ใช้  ราก เข้ายาแก้ลมในตัว ปวดตัว
             ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว เย้า  ใช้  ราก ลำต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ไอปวดหลัง ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ไข้มาลาเรีย ช่วยให้คลอดบุตรง่าย บำรุงร่างกาย ทำให้อาเจียน ใบ ตำคั้นน้ำทา หรือพอกรักษาแผลสด ห้ามเลือด

องค์ประกอบทางเคมี     
            ราก มีสารกลุ่มควิโนน เช่น  plumbagin, chloroplumbagin

 

ข้อควรระวัง    
           สารสกัดรากมีฤทธิ์บีบมดลูกทำให้หนูแท้ง ในหญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน เพราะจะทำให้แท้งได้

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting