ชื่อสมุนไพร | ผักกาดน้ำ |
ชื่ออื่นๆ | หญ้าเอ็นยืด หญ้าเอ็นอืด (เชียงใหม่) หมอน้อย (กรุงเทพฯ) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Plantago major L. |
ชื่อพ้อง | Plantago borysthenica Wissjul., Plantago dregeana Decne., Plantago gigas H. Lév., Plantago jehohlensis Koidz., Plantago latifolia Salisb., Plantago macronipponica Yamam., Plantago sawadai (Yamam.) Yamam., Plantago villifera Kitag. |
ชื่อวงศ์ | Plantaginaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
ไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นสั้นติดพื้นผิวดิน สูง 30-50 ซม. ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเป็นกระจุก กว้าง 12-16 เซนติเมตร ยาว 20-30 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ รูปไข่กลับ ก้านใบยาวเท่ากับแผ่นใบ ขอบใบเรียบ หรือหยักเล็กน้อย ปลายใบเป็นติ่งแหลม หรือกลม โคนใบเรียวแหลม เส้นใบหลักมี 3-9 เส้น ออกมาจากจุดร่วมกันที่ฐานใบ ดอก ออกเป็นช่อแทงออกจากกลางต้น ก้านชูช่อดอกยาว 13-70 เซนติเมตร มีหลายก้าน ออกตรง หรือโค้ง จากกลางต้น ผิวเรียบ หรือมีขนเล็กน้อย ดอกช่อแบบช่อเชิงลด รูปทรงกระบอกแคบ ช่อดอกยาว 5-15 เซนติเมตร ดอกย่อยขนาดเล็ก สีเขียวแกมน้ำตาล เรียงอยู่บนแกนช่อดอก ดอกย่อยไม่มีก้านดอก ใบประดับมีขนาดเท่ากับหรือสั้นกว่าวงกลีบเลี้ยง รูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีสีน้ำตาล ขอบเป็นแผ่นแบนบางและแห้ง วงกลีบเลี้ยงเกลี้ยง ยาว 3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงรูปวงรีกว้าง วงกลีบดอกเกลี้ยง สีเขียว หรือสีขาวอมเหลือง ยาว 2-4 มิลลิเมตร แต่ละกลีบรูปไข่แกมวงรี หรือรูปสามเหลี่ยมแคบ กลีบดอกมีลักษณะกลีบโค้งพับลง ผล เป็นผลแห้ง แตกได้ รูปทรงกลม หรือกึ่งรูปกรวย เกลี้ยง ยาว 2-3 มิลลิเมตร เมล็ด ขนาดเล็ก 6-34 เมล็ด รูปร่างเป็นเหลี่ยมเป็นมุม สีดำเข้ม มีรอยย่นละเอียด ขนาดกว้าง 0.8 มิลลิเมตร ยาว 1-1.7 มิลลิเมตร มีรสขมเล็กน้อย พบทั่วไปในป่าดิบชื้น ดิบแล้ง และป่าดิบเขา ชอบขึ้นในป่าที่พืชชั้นล่างโล่งเตียน (ผักกาดน้ำมี 2 ชนิด คือ ชนิดปลายใบแหลม ลำต้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ชนิดนี้เป็นพันธุ์ของต่างประเทศ มีปลูกตามสวนยาจีนทั่วไป อีกชนิดหนึ่งปลายใบมน ลำต้นสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ทางเหนือของไทยมักเรียกว่า “หญ้าเอ็นยืด” มีขนาดดอกเล็กกว่าเล็กน้อย ชนิดนี้เป็นพันธุ์ของไทยแท้ ในอดีตเคยพบขึ้นอยู่ชุกชุมบนยอดดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่จังหวัดอื่นพบขึ้นประปราย แต่การนำมาใช้เช่นเดียวกัน และมีชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน)
ลักษณะวิสัย
ลักษณะวิสัย
ต้น และดอก
ใบ และดอก
ใบ
ช่อดอก
ช่อดอก
ช่อดอกที่เริ่มติดผล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย ทั้งต้น รสหวานเย็น เป็นยาเย็น ใช้ขับปัสสาวะ ดับพิษร้อน แก้ร้อนภายใน ทั้งต้นต้มกับน้ำตาลกรวด ดื่มแก้ร้อนในและเจ็บคอ แก้นิ่ว แก้ช้ำรั่ว แก้หนองใน แก้กามโรค แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้ปัสสาวะขุ่น แก้ท้องร่วง แก้ฝี ตำและพอกบรรเทาอาการผิวหนังอักเสบ แก้แผลเรื้อรัง แก้พิษแมลงกัดต่อย แก้คันจากการแพ้พืช แก้ขอบตาเป็นเม็ดบวม ใบ ห้ามเลือดออกภายนอก ขยี้ทาแก้ผิวหนังอักเสบ ตำพอกแก้แผลเรื้อรัง หรือผิวหนังอักเสบ ใบสด ใช้เป็นอาหารได้ นิยมใช้จิ้มน้ำพริก หรือยำ ชาวบ้านทางภาคเหนือของไทย นำพืชชนิดนี้ทั้งต้นมาต้มกับน้ำตาลทรายแดง กินแก้เมื่อยขบ
ตำรายาจีน ใช้ ทั้งต้น ขับก้อนนิ่ว แก้ท้องเสีย แก้ไอ เจ็บคอ แก้ผิวหนังอักเสบ และฝี ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคตับอักเสบจากไวรัส
องค์ประกอบทางเคมี: ใบ พบ สารกลุ่มเทอร์ปีนอยด์ ได้แก่ ursolic acid, oleanolic acid เมล็ด พบ ferulic acid
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์แก้ท้องร่วง
ทดสอบฤทธิ์แก้ท้องร่วงโดยให้สารสกัด ethanol จากใบผักกาดน้ำแก่หนูแรท ที่ได้รับน้ำมันละหุ่งเพื่อกระตุ้นให้ท้องร่วง และทดสอบการบีบตัวของลำไส้เล็กส่วน duodenum โดยใช้ลำไส้ที่แยกออกมาจากกระต่าย จากการทดสอบพบว่าเมื่อป้อนสารสกัดแก่หนูขนาด 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แสดงฤทธิ์ต้านการท้องร่วงได้อย่างมีนัยสำคัญ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง สารสกัดขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่สารสกัดขนาดสูงมีประสิทธิภาพดีกว่าขนาดต่ำเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้สารสกัดใบผักกาดน้ำที่ความเข้มข้น 1.6 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ทำให้เกิดการกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เล็กส่วน duodenum แต่ในความเข้มข้นที่สูงขึ้นจะทำให้ลำไส้คลายตัวอย่างรวดเร็ว (Nazarizadeh, et al., 2013)
ฤทธิ์ปกป้องการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ทดสอบฤทธิ์ปกป้องการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัด methanol จากใบ และเมล็ดผักกาดน้ำ โดยใช้ เอทานอล และยาแอสไพรินเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารในสัตว์ทดลอง ผลการทดสอบเมื่อใช้เอทานอลเป็นสารเหนี่ยนำการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร พบว่าสารสกัดเมทานอลจากใบผักกาดน้ำ ให้ผลลดดัชนีการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (ulcer index) โดยมีฤทธิ์ปกป้องการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (curative ratio) ได้เท่ากับ 87.50% แต่สารสกัดจากเมล็ดไม่ออกฤทธิ์ ในขณะที่ยามาตรฐาน ranitidine (100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) มีค่า curative ratio เท่ากับ 38.90% นอกจากนี้สารสกัดใบผักกาดน้ำ ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้ผลลดจำนวนแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ สารสกัดจากเมล็ดไม่มีผลลดจำนวนแผลในกระเพาะอาหาร แต่สารสกัดใบและเมล็ด มีผลลดความเป็นกรดโดยรวมในกระเพาะอาหารลงได้ สารสกัดจากเมล็ด และใบ ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อป้อนให้สัตว์ทดลอง ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำย่อย และโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพิ่มเติม พบว่าผักกาดน้ำสามารถยับยั้งเชื้อ H. pylori ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ (Nazarizadeh, et al., 2013)
ฤทธิ์แก้ปวด
ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดของสารสกัด methanol จากใบและเมล็ด โดยวิธี acetic acid-induced writhing และวิธี tail-flick test ในหนูถีบจักร พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดเมล็ดผักกาดน้ำขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แสดงผลยับยั้งอาการปวดจากกรด acetic ได้อย่างมีนัยสำคัญที่ protection rate เท่ากับ 62.3% ส่วนสารสกัดจากใบผักกาดน้ำขนาดเดียวกันให้ผล protection rate เท่ากับ 48.8% เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน dipyrone (50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ให้ผล protection rate เท่ากับ 80.5% ในขณะที่สารสกัดขนาด 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไม่ให้ผลป้องกันความเจ็บปวดจากการเหนี่ยวนำด้วยกรด acetic นอกจากนี้สารสกัดใบผักกาดน้ำขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ยังสามารถเพิ่มระยะเวลาในการทนต่อความร้อนเมื่อทดสอบกับหางหนู ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดด้วยความร้อนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปสารสกัดจากเมล็ด และใบผักกาดน้ำ สามารถลดความเจ็บปวดได้เมื่อทดสอบในสัตว์ทดลอง (Nazarizadeh, et al., 2013)
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยใช้สารสกัด methanol จากเมล็ดผักกาดน้ำ ด้วยวิธี carrageenan-induced rat paw oedema พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูแรทได้ ขึ้นกับขนาดของสารสกัดที่ใช้ โดยมีค่าความเข้มข้นที่ลดการบวมได้ครึ่งหนึ่ง หรือ ED50 เท่ากับ 7.507 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ออกฤทธิ์ได้น้อยกว่ายามาตรฐาน indomethacin โดยกลไกต้านการอักเสบ คือ การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ COX-2 ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารพรอสตาแกลนดินที่ทำให้เกิดการอักเสบ (COX-2-catalyzed prostaglandin biosynthesis) (Nazarizadeh, et al., 2013)
เอกสารอ้างอิง:
Nazarizadeh A, Mikaili P, Moloudizargari M, Aghajanshakeri S, Javaherypour S. Therapeutic uses and pharmacological properties of Plantago major L. and its active constituents. J Basic Appl Sci Res. 2013;3(9):212-21.