ชื่อสมุนไพร | เทียนกิ่ง |
ชื่ออื่นๆ | เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนแดง เทียนไม้ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Lawsonia inermis L. |
ชื่อพ้อง | Alcanna spinosa (L.) Gaertn., Casearia multiflora Spreng., Lawsonia speciosa L., Lawsonia spinosa L., Rotantha combretoides |
ชื่อวงศ์ | Lythraceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
ไม้พุ่ม สูง 3-5 เมตร ทรงพุ่มโปร่ง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา กิ่งแก่มีหนาม ใบ เป็นใบเดี่ยว กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร เรียงตรงข้าม รูปวงรีแกมรูปใบหอก เนื้อใบค่อนข้างแข็ง และหนา ดอก เป็นดอกแบบช่อกระจุก ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีดอกทั้งปี กลีบดอกสีขาว หรือสีแดง ดอกย่อยขนาดเล็ก มี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ดอกขาว และพันธุ์ดอกแดง กลีบเลี้ยงสีเขียวโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ผล ผลแห้งแตก รูปทรงกลมสีเขียว ขนาด 0.5-0.8 เซนติเมตร เมื่อแก่มีสีน้ำตาล
ลักษณะวิสัย
ลำต้น
ใบ และกิ่ง
ใบ
ช่อดอก
ดอก
ผล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย ใบ รสฝาดเฝื่อน ใช้แก้กลากเกลื้อน แก้น้ำเหลืองเสีย พอกสมานบาดแผล รักษาแผลมีหนอง ตำกับขมิ้นและเติมเกลือเล็กน้อยพอกแก้เล็บขบ เล็บถอด เล็บช้ำ หรือเป็นหนอง แก้ปวดนิ้วมือนิ้วเท้า ถอนพิษปวดแสบปวดร้อน ฝี แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลฟกช้ำ ผิวหนังอักเสบ ห้ามเลือด ใช้เป็นเครื่องสำอาง พอกเล็บ เป็นยาย้อมผม และขน ยอดอ่อน รสฝาด ใช้ยอดอ่อนประมาณ 1 กำมือ ต้มดื่มแก้ท้องร่วงในเด็ก ใบและยอดอ่อน รักษาโรคเชื้อราที่เล็บ พอกหุ้มเล็บแก้เล็บขบ กันเล็บถอด เล็บช้ำ แก้ท้องเสีย สารมีสีในใบแห้ง ใช้ย้อมผม ย้อมผ้า และขนสัตว์ ให้สีน้ำตาลแดง ราก ใช้ขับประจำเดือน รักษาตาเจ็บ ขับปัสสาวะ รักษาโรคลมบ้าหมู เปลือก ขับน้ำเหลืองเสียในโรคเรื้อน ดอก ใช้ขับประจำเดือน แก้ปวดศรีษะ รักษาดีซ่าน ผล ใช้ขับประจำเดือน
องค์ประกอบทางเคมี:
ใบ พบสาร 2-hydroxy-1, 4-napthoquinone (HNQ;lawsone) 1.0-1.4% ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ให้สีย้อมจากธรรมชาติ, 1, 4dihydroxynaphthalene 1,4-naphthoquinone, 1,2-dihydroxy-glucoyloxynaphthaleneและ 2-hydroxy-1,4-diglucosyloxynaphthalene สารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ luteolins, apigenin สารกลุ่ม coumarins ได้แก่ esculetin, fraxetin, scopletin
เปลือกต้น พบสาร napthoquinone, isoplumbagin,triterpenoids-hennadiol, aliphatics (3-methylnonacosan-1-ol), betulin, betulinic acid, lawsone, lupeol
ดอก พบน้ำมันหอมระเหย 0.02% ซึ่งประกอบด้วย ionones 90% ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ β-ionones
เปลือกผล พบสาร lawsone (สุนทรี, 2536)
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์สมานแผล
ทดสอบฤทธิ์สมานแผลโดยให้สารสกัด ethanol จากเทียนกิ่ง ในขนาด 200 mg/kg ต่อวัน กับหนูแรท ที่ทำให้เกิดแผล 3 แบบ ได้แก่ แผลผ่าตัด (excision wound), แผลเปิดที่เกิดจากการตัดผิวหนังส่วน full thickness ออกไป (incision wound) และแผลที่มีเนื้อตาย (dead space wound) โดยแผลแบบ excision wound จะได้รับสารสกัดในรูปแบบทา ส่วนแผลอีกสองชนิดจะได้รับการป้อนสารสกัดเทียนกิ่งทางปาก จากการทดสอบพบว่าหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดมีขนาดแผลลดลง 75% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ที่ขนาดแผลลดลงเพียง 58% จากการทดสอบชี้ให้เห็นว่าสารสกัดเทียนกิ่งเพิ่มความแข็งแรงให้กับผิวที่เกิดแผล มีการสร้างคอลลาเจนที่แผล วัดจากปริมาณ hydroxyproline ที่เพิ่มขึ้น และยังมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในแผลไฟไหม้ได้อีกด้วย (Borade, et al., 2011)
ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด
ทดสอบฤทธิ์ลดระดับกลูโคสในเลือด โดยป้อนสารสกัด 70% ethanol จากใบเทียนกิ่ง ให้หนูถีบจักรที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงด้วย alloxan ขนาด 70 mg/kg ทำให้มีระดับ glucose, total cholesterol และ triglyceride ในเลือดสูง โดยให้สารสกัดทุกวันที่ 0, 3, 7 และ 14 หลังจากได้รับ alloxan แล้ว ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขนาด 0.8 g/kg สามารถลดระดับกลูโคสจาก 194 mg/dLจนกระทั่งมีระดับกลูโคสปกติ หลังจากได้รับสารสกัดในวันที่ 14 ซึ่งให้ผลเช่นเดียวกันในการลดระดับ cholesterol ซึ่ง total cholesterol ลดลงจาก 148.9 mg/dL เป็น 55.3 mg/dL และ triglyceride ลดลงจาก 225.7 mg/dL เป็น 76.9 mg/dL (Borade, et al., 2011)
เอกสารอ้างอิง:
1. สุนทรี สิงหบุตรา. 2536. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์:กรุงเทพมหานคร.
2. Borade AS, Kale BN, Shete RV. A phytopharmacological review on Lawsonia inermis (L.). IJPLS;2011:2(1):536-41.
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/