ชื่อสมุนไพร | จักรนารายณ์ |
ชื่ออื่นๆ | แป๊ะตำปึง แป๊ะตังปึง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Gynura divaricata (L.) DC. |
ชื่อพ้อง | Cacalia hieracioides Willd., Cacalia incana L., Cacalia ovalis Ker Gawl., Gynura auriculata Cass., Gynura glabrata Hook.f., Gynura hemsleyana H.Lév., Gynura incana (L.) Druce, Senecio divaricatus |
ชื่อวงศ์ | Compositae (Asteraceae) |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
ไม้ล้มลุก หรือเป็นพุ่มเตี้ยเลื้อย มีอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง หรือโค้งตั้งแต่โคนต้นแล้วค่อยตั้งตรงที่ส่วนยอด สูง 30-60 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียว หรือสีเขียวมีลายสีม่วง ลำต้นเรียบ หรือมีขนนุ่มสั้นๆ ต้นและใบฉ่ำน้ำ ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ วงรี หรือรูปหอกกลับ ขนาด 2-15×1.5-5 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้านใบหนา ขอบจักเล็กน้อย ใบฉ่ำน้ำด้านล่างของแผ่นใบ (ท้องใบ) มีสีม่วง ด้านหลังใบมีสีเขียวก้านใบยาว 0.5-4 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ดอก ออกเป็นช่อแบบกระจุกแน่น มีดอกย่อย กลีบดอกสีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1.5-2 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 1-15 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบประดับเล็กๆ รูปแถบ หรือเป็นเส้น รอบกลีบเลี้ยงหลายอัน ดูคล้ายเป็นกลีบเลี้ยงวงนอก มีวงใบประดับรองรับช่อดอกรูปคล้ายระฆัง ขนาด 8-10×6-8 มิลลิเมตร ดอกย่อยสีเหลืองส้ม วงกลีบดอกขนาด 11-15 มิลลิเมตร หลอดกลีบดอกแคบ ยาว 9-10 มิลลิเมตร ผลแห้งเมล็ดล่อน สีน้ำตาล รูปทรงกระบอก ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร มีขนประปราย มี pappus (กลีบเลี้ยงของดอกย่อยที่เปลี่ยนรูปร่างไป และติดอยู่กับผล) สีขาว ลักษณะเป็นขนอ่อนนุ่มคล้ายเส้นไหม ขนาด 10-12 มิลลิเมตร ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม พบที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2800 เมตร
ลักษณะวิสัย
ลำต้น และใบ
ใบ
ใบ
ดอก
ดอก
ดอก
ผล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย ใบ ใบสดเป็นยาเย็น ตำผสมสุราพอกปิดฝี แก้ปวด ทำให้เย็น ดับพิษไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้ฟกบวม แก้พิษอักเสบทุกชนิด แก้ปวดหัวลำมะลอก แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษตะขาบ แมลงป่องต่อย ดูดถอนพิษได้ดีมาก เป็นยาถอนพิษทุกชนิด โดยตำให้ละเอียดผสมกับสุรา นำมาพอกวันละ 2-3 ครั้ง
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
ทดสอบในหลอดทดลองโดยใช้สารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของจักรนารายณ์ พบว่าสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ angiotensin converting enzyme (ACE) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.37±0.07 mg/ml (เอนไซม์ ACE ทำหน้าที่เปลี่ยนสารในร่างกายที่ชื่อ angiotensin I ให้เป็น angiotension II ซึ่งสาร angiotensin II จะทำให้หลอดเลือดหดตัวทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น) และแสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ในระดับปานกลาง โดยสามารถยับยั้งเอนไซม์ α-amylase (เอนไซม์ที่ใช้ย่อยแป้ง และไกลโคเจน ให้เป็นน้ำตาลมอลโทส และกลูโคส) ได้ 47.5% ที่ความเข้มข้น 1.25 mg/ml โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 1.36±0.11 mg/ml (p < 0.05) (ยามาตรฐาน acarboseขนาด 50 μg/ml ยับยั้งได้ 54%) และยับยั้งเอนไซม์ α-glycosidase (เอนไซม์ที่ย่อยน้ำตาลที่มีพันธะ α-glycosidic ให้ได้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว) ได้ 38.9% ที่ความเข้มข้น 1.25 mg/ml โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 2.17±0.09mg/ml (p < 0.05) (ยามาตรฐาน acarbose ขนาด 0.2 mg/ml ยับยั้งได้ 47%) ซึ่งการยับยั้งเอนไซม์ทั้งสองชนิดนี้ จะทำให้ชะลอการดูดซึมกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด และชะลอการเพิ่มของระดับน้ำตาลในเลือด โดยสรุปสารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของจักรนารายณ์ มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดความดันโลหิตได้เมื่อทดสอบในหลอดทดลอง (Wu, et al., 2011)
เอกสารอ้างอิง:
Wu T, Zhou X, Deng Y, Jing Q, Li M, Yuan L. In vitro studies of Gynura divaricata (L.) DC extracts as inhibitors of key enzymes relevant for type 2 diabetes and hypertension. J Ethnopharmacology. 2011; 136(2):305-308.