ชื่อสมุนไพร | กระเจี๊ยบแดง |
ชื่ออื่นๆ | กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเปรี้ยว ส้มเก็งเค็ง ผักเก็งเค็ง ส้มตะเลงเครง ส้มพอเหมาะ ส้มพอดี |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Hibiscus sabdariffa L. |
ชื่อพ้อง | Abelmoschus cruentus (Bertol.) Walp., Furcaria sabdariffa Ulbr., Hibiscus cruentus Bertol., Hibiscus fraternus L., Hibiscus palmatilobus Baill., Sabdariffa rubra |
ชื่อวงศ์ | Malvaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
พืชล้มลุก ปีเดียวหรือหลายปี ขนาดเล็ก ลำต้น และกิ่งก้านมีสีแดงอมม่วง ผิวเรียบ สูง 1-2 เมตร ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบมีรูปร่างคล้ายหอก ขอบใบเว้าลึก 3-5 หยัก มีหลายรูปแบบ มักแยกเป็นแฉก ขอบใบจักฟันเลื่อย ปลายแหลม มีขน หูใบรูปยาวแคบ ร่วงง่าย ดอกเดี่ยว ออกตรงซอกใบ ดอกมีสีเหลืองอ่อน หรือชมพูอ่อน ตรงกลางดอกมีสีม่วงแกมแดงเข้ม มีริ้วประดับ 8-12 กลีบ กลีบเลี้ยงสีม่วงแดง อวบน้ำ ติดทนจนออกผล ผล เป็นผลแห้งแตก รูปไข่ป้อม ส่วนปลายแหลม ยาว 2.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงสีแดงห่อหุ้ม มีขนหยาบสั้นหนานุ่มสีเหลืองปกคลุม มีเมล็ดจำนวนมาก มีสีดำ รูปไต ออกดอกช่วงเดือนตุลาคม
ลักษณะวิสัย
ลักษณะวิสัย
ลำต้น
ใบ
ดอก
ดอก
ผล
ดอก และผล
ผลอ่อน
ผลแก่
ผลแก่ แตก
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย ต้น แก้พยาธิตัวจี๊ด ใบ มีรสเปรี้ยว ใช้รับประทาน กัดเสมหะ แก้ไอ แก้พยาธิตัวจี๊ด ขับเมือกมันในลำไส้ หล่อลื่นลำไส้ ทำให้โลหิตไหลเวียนดี ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย บำรุงธาตุ ต้มชะล้างบาดแผล หรือตำพอกฝี กลีบเลี้ยงและริ้วประดับ มีรสเปรี้ยว ขับปัสสาวะ แก้เสมหะ ขับน้ำดี ลดไข้ แก้ไอ ขับนิ่วในไต ขับนิ่วในปัสสาวะ ลดไขมันในโลหิต แก้เส้นเลือดตีบตัน ลดความดันโลหิต แก้กระหายน้ำ ขับเมือกมันในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก ทำให้สดชื่น บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้พยาธิตัวจี๊ด ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน เมล็ด รสเมา บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ ขับเหงื่อ แก้ดีพิการ ลดไขมันในโลหิต บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ ขับน้ำดี ขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นยาระบาย กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ แก้กระหายน้ำ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด รากแก้พยาธิตัวจี๊ด ดอก ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ละลายเสมะหะ ขับเมือกมันในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ไอ ทำให้สดชื่น ลดไข้ ขับน้ำดี แก้พยาธิตัวจี๊ด
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
ทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัด 80% methanol ที่ได้จากกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดง (ส่วนที่มีสีแดงสด) โดยใช้แบคทีเรียแกรมบวก 3 ชนิด ได้แก่ Staphylococcus aureus ATCC 25923, Staphylococcus epidermidis ATCC 49461และ Bacillus cereus ATCC 10876 และแบคทีเรียแกรมลบ 5 ชนิด ได้แก่ Escherichia coli ATCC 25922, Salmonella enterica ATCC5174, Klebsiella pneumonia ATCC 27736, Proteus vulgaris ATCC 49132 และ Pseudomonas aeruginosa ATCC 27853 ทดสอบด้วยวิธี disc diffusion ผลการศึกษาพบว่าสารสกัด 80% เมทานอลจากกระเจี๊ยบแดง (ขนาด 10 มิลลิกรัมต่อแผ่นดิสก์) มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกทั้ง 3 ชนิด ได้ดีกว่ายามาตรฐาน gentamicin (ขนาด 10 ไมโครกรัมต่อแผ่นดิสก์) โดยมีค่าบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibiton) ต่อเชื้อ S. aureus, S. epidermidis และ B. cereus เท่ากับ 18.5±0.5, 17.5 ± 1.5 และ 13.5±1.5 มิลลิเมตร ตามลำดับ (ยามาตรฐาน gentamicin เท่ากับ 15.0±0.0, 6.5±0.0 และ 10.0±0.0 มิลลิเมตร ตามลำดับ) ค่า zone of inhibitonในการยับยั้งเชื้อ E. coli, S.enterica , K. pneumonia, P. vulgaris และ P. aeruginosa เท่ากับ 14.5±0.5, 17.5 ± 1.5, 17.5 ± 0.5, 14.5±0.5 และ 15.5±0.5 มิลลิเมตร ตามลำดับ (ยามาตรฐานเท่ากับ 18.0±0.0, 12.0±0.0, 21.0±0.0, 20.0±0.0 และ 20.0±0.0 มิลลิเมตร ตามลำดับ) โดยสรุปสารสกัดจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงมีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ สามารถยับยั้งเชื้อแกรมลบ Salmonella enterica ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงได้ดีกว่ายามาตรฐาน และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 3 ชนิด ได้ดีกว่ายามาตรฐาน (Abdallah, 2016)
หมายเหตุ
S. aureus เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการติดเชื้อผิวหนังที่พบทั่วไป เช่น ฝี หนอง แผลติดเชื้อ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น
S. epidermidis เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาล ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเด็กแรกเกิด หรือในผู้ที่ใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
B. cereus เชื้อนี้สามารถก่อโรคฉวยโอกาสได้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่โรงพยาบาล เครื่องมือแพทย์ สามารถก่อโรคอาหารเป็นพิษเป็นต้น จึงสามารถนำสารสกัดกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงมาพัฒนา เพื่อเป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดใหม่ๆ ได้ต่อไป
เอกสารอ้างอิง:
Abdallah EM. Antibacterial efficiency of the Sudanese Roselle (Hibiscus sabdariffa L.), a famous beverage from Sudanese folk medicine. J Intercult Ethnopharmacol. 2016;5(2):186-90.
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/