กรรณิการ์

ชื่อสมุนไพร

กรรณิการ์

ชื่ออื่นๆ

กณิการ์ กรณิการ์ สบันงา

ชื่อวิทยาศาสตร์

Nyctanthes arbor-tristis L.

ชื่อพ้อง

Bruschia macrocarpa Bertol., Nyctanthes dentata Blume, Nyctanthes tristis Salisb., Parilium arbor-tristis (L.) Gaertn., Scabrita scabra L., Scabrita triflora

ชื่อวงศ์

Oleaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

          ไม้พุ่มขนาดกลาง หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-3 เมตร เปลือกต้นสีขาว ผิวหยาบ ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสี่เหลี่ยม ใบ เป็นเดี่ยว เรียงตรงข้าม ผิวใบสากมือ แผ่นใบหนา มีขนอ่อนๆ ปกคลุมอยู่ทั่วไป ใบเป็นรูปไข่หรือรูปหอก กว้าง 2-9 เซนติเมตร ยาว 4-13 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ หรือจักห่างๆ ดอก ออกเป็นช่อแยกแขนงบริเวณซอกใบ หรือปลายกิ่ง ออกดอกประมาณช่อละ 5-8 ดอก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีส้มแดง ปลายแยกเป็นกลีบดอกสีขาว 5-8 กลีบ กลีบดอกบิดเวียนคล้ายกังหัน ขนาดของดอกเมื่อบานเต็มที่มีขนาด 1.5-2 เซนติเมตร หลอดดอกยาว 1.50 เซนติเมตร ขอบกลีบจักหรือเว้า ก้านช่อดอกมีใบประดับเล็กๆ 1 คู่  ดอกมีกลิ่นหอมแรง หลุดร่วงง่าย จะเริ่มบานในช่วงเย็นแล้วร่วงในช่วงเช้า กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ สีเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกัน ผล เป็นผลแบนรูปไข่กลับ ปลายมีติ่งแหลม เมื่อแห้งจะแตกเป็นสองซีก ในแต่ละซีกจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ออกดอกตลอดปี

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ดอก

 

ดอกบาน และ ดอกตูม

 

ดอก

 

ผล

 

ผล

 

สรรพคุณ:

         ตำรายาไทย ต้น รสขมเย็นหวานฝาด แก้ปวดศีรษะ แก้ปวดข้อ แก้ไข้ เปลือก รสขมเย็น ใช้เปลือกต้นชั้นใน ต้มดื่มแก้ปวดศีรษะ ใบ รสขม บำรุงน้ำดี ขับน้ำดี แก้ไข้เพื่อดี แก้ไข้ แก้ปวดข้อ ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำคั้นเอาแต่น้ำ 1 ถ้วยแก้ว แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง เป็นยาขมเจริญอาหาร ถ้ารับประทานมากจะเป็นยาระบาย ดอก รสขมหวาน บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร แก้ตานขโมย แก้ปวดข้อ แก้ไข้ แก้ไข้ไม่รู้สติ แก้ไข้ผอมเหลือง แก้ตาแดง แก้ลมวิงเวียน แก้พิษทั้งปวง แก้โลหิตตีขึ้น  ใช้ทำน้ำหอม ก้านดอกสีส้ม นำมาคั้นน้ำได้สีเหลืองเข้ม ใช้ย้อมผ้าได้ ราก รสขมหวานฝาด แก้ท้องผูก แก้ลมวิงเวียน แก้ไอ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงเส้นผมให้ดกดำ แก้ผมหงอก เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงผิวหนังให้สดชื่น แก้ลมและดี แก้ไอ ต้นและราก รสหวานและฝาด ต้มหรือฝนรับประทานแก้ไอ สำหรับสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ๆ

 

องค์ประกอบทางเคมี:

      ดอก พบสารกลุ่มไดเทอร์ปีน ได้แก่ nyctanthin สารกลุ่มไกลโคไซด์ ได้แก่ irridoid glycosides arbortristoside C, 6 beta-hydroxy loganin, 6-O-trans-acetyl-7-O-cinnamoyl-6 beta-hydroxyloganin, nyctanthoside, isoarborside C สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ quercetin, kaemferol, apigenin, anthocyanin น้ำมันหอมระเหยจากดอกพบ สาร อัลฟา-pinene, p-cymene

      เมล็ด พบสารเทอร์ปีน ได้แก่ triterpenes-3,4-secotriterpene acid, nyctanthic acid สารกลุ่มไกลโคไซด์ ได้แก่ irridoid glycosides arbortristosides A, B, C, D และ E

     ใบ พบสารกลุ่มไกลโคไซด์ ได้แก่ irridoid glycosides-arborsides A, B, และ C, 6 beta-hydroxyloganin, desrhamnosylverbacoside, 6,7-di-O-benzoylnycthanoside,  6-O-trans-cinnamoyl-6 beta-hydroxyloganin, 7-O-trans-cinnamoyl-6 beta-hydroxyloganin สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ nicotiflorin (Gulshan, et al., 2015)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

       การทดสอบสารสกัดคลอโรฟอร์มจากใบ และดอกกรรณิการ์ และสารสกัดจากใบด้วย ethanol 50% พบว่าสามารถเพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ SOD (superoxide dismutase ) และเอนไซม์ catalase ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และลดระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ SGPT (serum glutamate pyruvate transaminase;  Alanine aminotransferase [ALT]) และ SGOT (serum glutamic-oxaloacetic transaminase; Aspartate aminotransferase [AST]) ในเลือด ลดระดับโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ได้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้สารสกัด ethanol จากเปลือกต้นกรรณิการ์แสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทดสอบในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin-nicotinamide พบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นสามารถลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้ขึ้นกับขนาดยาที่ได้รับ (Gulshan, et al., 2015)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       จากการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลายวิธีได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl), hydroxyl, superoxide radicals และ H2O2 scavenging assays พบว่า ส่วนสกัด acetone ที่ละลาย จากสารสกัด ethyl acetate ของใบกรรณิการ์สด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ของ liposomes ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ Fe2+ และยับยั้งการทำลาย DNA จากรังสีแกมมาได้ ทั้งนี้เนื่องจากสารสกัดมี phenolics และ flavonoids เป็นส่วนประกอบ จึงทำให้มีความสามารถในการเป็นตัวรีดิวซ์ที่แรง 

      ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH ของสารสกัดจากใบกรรณิการ์แห้งพบว่า สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH ได้แก่ สารสกัด butanol, ethyl acetate, สารมาตรฐาน butylated hydroxytoluene (BHT)และ สารสกัด petroleum ether มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้ง เท่ากับ 97.42% , 94.61%, 84.63% และ 82.04% ตามลำดับ

     สารสกัดน้ำจากกลีบเลี้ยงของดอกกรรณิการ์ออกฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดีกว่าสารสกัดจากดอก และกลีบดอก การประเมินฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของดอกแห้งและดอกสดโดยใช้หลายวิธี ได้แก่ lipid peroxidation assay, reducing activity และ H2O2 scavenging assay และการทดสอบทั้งในระบบที่ใช้เอนไซม์และไม่ใช้เอนไซม์ พบว่าการสกัดดอกแห้งด้วย methanol มีองค์ประกอบของสารกลุ่ม phenolics สูง และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่แรง ในขณะที่สารสกัดดอกแห้งด้วยน้ำ ออกฤทธิ์ดีในระบบการทดสอบที่ใช้เอนไซม์ และสารสกัดเอทานอลจากลำต้นยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีในหลายการทดสอบ โดยสรุปสารสกัดจากต้นกรรณิการ์พบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทั้งจากส่วนของใบ ลำต้น และดอก (Gulshan, et al., 2015)

ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง

       การทดสอบฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ของสารสกัดส่วนที่ละลายน้ำจากการสกัดใบด้วยแอลกอฮอล์ เมื่อป้อนให้หนูขาว ในขนาด 4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในหนูแต่ละกลุ่ม พบว่า มีฤทธิ์ทำให้สงบ (sedative effect) อย่างมีนัยสำคัญ และมีผลเพิ่มเวลานอนของหนูที่ได้รับยานอนหลับ phenobarbitone อย่างมีนัยสำคัญ และจากการค้นหาฤทธิ์อื่นๆ ได้แก่ การนอนหลับ, ฤทธิ์ทำให้สงบ, ฤทธิ์ชาเฉพาะที่, ฤทธิ์ลดอุณหภูมิร่างกาย และฤทธิ์กันชัก พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์เด่นในการทำให้สงบ ตามด้วยฤทธิ์ลดอุณหภูมิของร่างกาย (Gulshan, et al., 2015)

 

การศึกษาทางคลินิก:

ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย

การศึกษาฤทธิ์ต้านมาลาเรียในผู้ป่วยโรคมาลาเรียจำนวน 120 คน โดยใช้ใบสดขนาดกลางจำนวน 5 ใบ มาบดจนมีลักษณะคล้ายแป้งเปียก (fresh paste) รับประทานวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 7-10 วัน พบว่า ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น 92 คน (76.7%) ภายใน 7 วัน อีก 20 คน มีอาการดีขึ้นภายใน 10 วัน มีเพียง 8 คน ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และผู้ป่วย สามารถทนต่อยาได้ดี และไม่มีรายงานการพบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง นอกจากนี้พบว่าสารสกัด methanol และสารสกัด chloroform จากใบ สามารถกำจัดตัวอ่อนยุงก้นปล่องที่เป็นสาเหตุของไข้มาลาเรียได้ โดยสามารถฆ่าตัวอ่อนของลูกน้ำยุงก้นปล่องได้ โดยมีค่า LC50 เท่ากับ 244.4 และ 747.7 ppm ตามลำดับ (Gulshan, et al., 2015)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

          สารสกัด ethanol จากใบ เมื่อป้อนให้หนูแรท พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง คือ 16 กรัมต่อกิโลกรัม เมื่อให้ในขนาด กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบสัตว์ทดลองตาย และเมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากใบในขนาด 1, 2 และ กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ในแต่ละกลุ่ม เป็นเวลา 6 วันต่อเนื่องกัน พบว่าทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และเกิดแผลในกระเพาะอาหารหนูแรท ขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ได้รับ และทำให้หนูถีบจักรถ่ายเหลวเนื่องจากออกฤทธิ์เป็นยาถ่าย (purgative effect) (Jain and Pandey, 2016)

 

 

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Gulshan B, KA S, Parul G. A Comprehensive review on Nyctanthes arbortristis. Int J Drug Dev & Res. 2015;7(1):183-193.

2. Jain PK and Pandey A. The wonder of Ayurvedic medicine – Nyctanthes arbortristis. International Journal of Herbal Medicine. 2016; 4(4): 9-17.

 

  

 


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting