ชื่อสมุนไพร | ส้มกบ |
ชื่ออื่นๆ | ผักแว่น ส้มกบ ผักแว่นเมืองจีน (กลาง) สังส้ม (แพร่) ส้มดิน หญ้าตานทราย ส้มสังก๋า (เหนือ) ส้มสามตา ส้มสามง่า เกล็ดหอยจีน (กรุงเทพฯ) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Oxalis corniculata L. |
ชื่อพ้อง | O. albicans Kunth, O. bradei R. Knuth, O. foliosa Blatt., O. grenadensis Urb., O. herpestica Schltdl., O. langloisii (Small) Fedde, O. lupulina Kunth, O. meridensis Pittier, O. minima Steud., O. nematodes Spreng., O. parvifolia DC., O. pilosiuscula Kunth, O. procumbens Steud. ex A. Rich., O. pubescens Stokes, O. radicosa A. Rich., O. repens Thunb., O. simulans Baker, O. steudeliana Kunth, O. taiwanensis (Masam.) Masam., O. trinidadensis R. Knuth, O. villosa M.Bieb. Acetosella bakeriana Kuntze, A. corniculata (L.) Kuntze, A. fontana (Bunge) Kuntze, A. herpestica (Schltdl.) Kuntze, A. stricta (L.) Kuntze, A. villosa (Progel) Kuntze Xanthoxalis albicans (Kunth) Small, X. corniculata (L.) Small, X. filiformis (Kunth) Holub , X. langloisii Small, X. parvifolia (DC.) Holub, X. repens (Thunb.) Moldenke, X. trinidadensis |
ชื่อวงศ์ | Oxalidaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชล้มลุกอายุหลายปี เป็นไม้เถาขนาดเล็กเลื้อยไปตามพื้นดิน มีรากออกตามข้อ ลำต้นยาว 5-20 เซนติเมตร ลำต้นเล็กสีแดง ฉ่ำน้ำ ไม่แตกกิ่งก้าน ชอบขึ้นตามที่ลุ่มต่ำชื้นแฉะ ใบ เป็นใบประกอบมี 3 ใบย่อย ออกที่ปลายยอด แบบเรียงสลับ ใบย่อยทั้งสามออกแบบสมมาตร ใบย่อยรูปหัวใจกลับ กว้าง 5-18 มิลลิเมตร ยาว 4-20 มิลลิเมตร โคนใบสอบ ปลายใบเว้า ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 4-10 เซนติเมตร หูใบมีขนาดเล็ก รูปสามเหลี่ยมมุมฉากถึงรูปคล้ายติ่งหู ดอกเล็กสีเหลืองสด ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อซี่ร่มเล็ก 1-5 ดอก มีดอกไม่มาก ออกที่ซอกใบหรือปลายยอด ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร ใบประดับรูปใบหอกแกมเส้นตรงขนาด 2-4 × 1 มิลลิเมตร กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองสด รูปไข่กลับแกมขอบขนาน กว้าง 2-6 มิลลิเมตร ยาว 4-10 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปหอกแกมขอบขนาน ขนาด 3.5-5 × 1.2-2 มิลลิเมตร มีขนครุยที่ขอบกลีบ โดยเฉพาะที่ปลายกลีบ ก้านดอกย่อยยาว 4-15 มิลลิเมตร มีขนแข็งเอนหนาแน่น ผล เป็นผลแห้งแบบแคปซูล แก่แล้วแตกออกได้ตามแนว ผลรูปทรงกระบอกแคบ มีสันตามยาวผล 5 สัน ปลายผลแหลม ปกคลุมด้วยขน กว้าง 2-4 มิลลิเมตร ยาว 10-25 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ขั้วผล เมล็ดรูปไข่ แบน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ขนาด 1-1.5 × 0.8-1 มิลลิเมตร สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลแดง มี 5-11 เมล็ดต่อช่อง พบขึ้นได้ทั่วไปตามที่โล่ง มักขึ้นเป็นวัชพืช โดยเฉพาะบริเวณที่ชื้น หรือมีน้ำขังตื้นๆ ตามข้างทาง ทุ่งหญ้าหรือในสวน จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,500 เมตร ออกดอกและติดผลช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม
ลักษณะวิสัย
ใบ
ดอก และ ใบ
ดอก
ผล
ผล
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใบ เป็นยาเย็นดับพิษ มีรสเปรี้ยว เป็นยาธาตุ เจริญอาหาร ใช้ทาภายนอก เพื่อขจัดตาปลา หูด และเนื้อปูดชนิดอื่นๆ โขลกกับสุราใช้กากปิดแก้ปวดฝี แก้บวม ชุบสำลีอมข้างแก้ม แก้ฝีในคอ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ไข้ เป็นยาถอนพิษทั่วไป น้ำคั้นจากใบ แก้เจ็บคอ การกินใบมากทำให้คลื่นไส้ได้ ทั้งต้น รสเย็น เปรี้ยวเค็มหวานเล็กน้อย ดับพิษร้อนใน แก้ฝีในคอ แก้อาเจียนเป็นเลือด ตำพอกเท้าแก้ปวด ถอนพิษทำให้เย็น ตำอมแก้ฝีในคอ แก้ช้ำใน ฟกช้ำ แก้ปวดท้อง แก้หวัดร้อน แก้ปวดเมื่อยรูมาติก แก้อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด แก้เคล็ดขัดยอก เจ็บคอ ปวดฟัน ใช้หยอดตาแก้เจ็บตาระคายเคือง ตำกับต้นกะเม็งทาแก้ปากนกกระจอก
ในอินโดนีเซียใช้ ใบ ผสมหัวหอมและเกลือ รับประทานแก้ปวดท้อง
ในออสเตรเลียพืชนี้ทำให้แกะตาย โดยมีอาการตัวสั่น และเดินไม่ตรงทาง เนื่องจากแคลเซียในเลือดลดลง
องค์ประกอบทางเคมี
ใบพบสาร tartaric acid, citric acid, acid potassium oxalate, วิตามินซี, carotene