ชื่อสมุนไพร | ยางนา |
ชื่ออื่นๆ | ยางขาว ยางแม่น้ำ ยางหยวก (เหนือ) ยางกุง (เลย) ยางควาย (หนองคาย) ยางตัง (ชุมพร) ยางใต้ ยางเนิน (ภาคตะวันออก) กาตีล ขะยาง จะเตียล จ้อง ชันนา ทองหลัก ยาง เยียง ร่าลอย เห่ง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Dipterocarpus alatus Roxb.ex. G.Don |
ชื่อพ้อง | Dipterocarpus gonopterus Turcz., Dipterocarpus incanus Roxb., Dipterocarpus philippinensis |
ชื่อวงศ์ | Dipterocarpaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้น สูงได้ถึง 50 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีออกเทาอ่อน เกลี้ยง หลุดลอกออกเป็นชิ้นกลมๆ โคนต้นมักเป็นพูพอน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขน และมีรอยแผลใบเห็นชัด ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 6-14 เซนติเมตร ยาว 12.5-25 เซนติเมตร ใบมีขนปกคลุม ใบด้านท้องใบมีขนรูปดาวสั้นๆ เนื้อใบหนาและเหนียว ย่นเป็นลอน โคนใบมนกว้าง ปลายใบสอบทู่ๆ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบอ่อนมีขนสีเทา ใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ก้านใบยาว 3-4 เซนติเมตร มีขนประปราย ใบมีหูใบขนาดใหญ่ ดอกออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆแบบช่อกระจะ ตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง ดอกขนาด 4 เซนติเมตร สีชมพูอ่อน ช่อละ 4-5 ดอก ดอกขนาดใหญ่เรียงตัวหลวมๆ เป็นช่อห้อยยาวถึง 12 เซนติเมตร ก้านช่อมีขน กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปขอบขนาน ส่วนปลายกลีบมนและบิดเวียน โคนกลีบชิดกัน ชั้นกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยมีครีบตามยาว 5 ครีบ ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีแฉกยาว 2 แฉก และสั้น 3 แฉก มีขนสั้นๆสีน้ำตาลปกคลุม เกสรเพศผู้มากกว่า 25 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ปลายอับเรณูมีรยางค์รูปเส้นด้าย รังไข่มีขน ก้านเกสรตัวเมียอ้วน และมีร่อง ผลเป็นผลแห้งรูปกระสวย มีหลอดกลีบเลี้ยงหุ้มจนมิด ยาว 2-2.5 เซนติเมตร มีปีกขนาดใหญ่ 2 อัน ที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง สีแดงอมชมพู กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 11-15 เซนติเมตร เมื่อสุกสีน้ำตาล เส้นปีกตามยาวมี 3 เส้น ปีกสั้น 3 ปีก ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนกลางผล มีครีบตามยาว 5 ครีบ เส้นผ่านศูนย์กลางผล 2.2-2.8 เซนติเมตร มี 1 เมล็ดต่อผล เมล็ดมีขนสั้นนุ่ม ปลายมีติ่งแหลม มักขึ้นในป่าดิบแล้ง ใกล้ลำธาร ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 50-400 เมตร ออกดอกราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน ติดผลเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม
ลักษณะวิสัย
ลำต้น
โพรงที่ชาวบ้านเจาะลำต้น เพื่อเผาเอาน้ำมันยาง
โพรงที่ชาวบ้านเจาะลำต้น เพื่อเผาเอาน้ำมันยาง
ใบ
ใบ
ใบอ่อน และ หูใบ
ดอก
ดอก
ดอก
ดอก
ผล
ผล
ผล
ผล
ผล
สรรพคุณ
ตำรายาไทย น้ำต้มเปลือก กินแก้ตับอักเสบ บำรุงร่างกาย ฟอกเลือด บำรุงโลหิต และใช้ทาถูนวด (ขณะร้อนๆ) แก้ปวดตามข้อ ต้นมีน้ำมันยาง รสร้อนเมาขื่น มีสรรพคุณห้ามหนองและสมานแผล ใช้ทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน แก้โรคหนองใน ใช้ยาเครื่องจักสาน ทาไม้ อุดเรือรั่ว และผสมขี้เลื่อยจุดไฟ หรือทำไต้ น้ำมันยางผสมกับเมล็ดกุยช่าย (Allium tuberosum Roxb.) คั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด ใช้อุดฟันแก้ฟันผุ น้ำมันยาง 1 ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์กิน 2 ส่วน กินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้มุตกิดระดูขาว จิบเป็นยาขับเสมหะ
องค์ประกอบทางเคมี
น้ำมันยางเป็นของเหลวข้น มีกลิ่นเฉพาะ ได้จากการเจาะโพรงเข้าไปในต้นแล้วเอาไฟลน น้ำยางจะไหลลงมาขังในแอ่งที่เจาะไว้ น้ำมันยางที่ได้ เรียกว่า “ Gurjun Balsam” หรือ “ Gurjun oil ” เมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ามันระเหยง่ายร้อยละ 70 มีองค์ประกอบเป็น alpha-gurjunene และ β-gurjunene
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ข้อมูลเครื่องยา (ชันย้อย) : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/