ชื่อสมุนไพร | โมกมัน |
ชื่ออื่นๆ | มูก มูกเกื้อ โมก |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Wrightia pubescens R. Br. |
ชื่อพ้อง | Wrightia calycina A.DC., Wrightia kwangtungensis Tsiang, Wrightia spanogheana |
ชื่อวงศ์ | Apocynaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 15 เมตร กิ่งอ่อนเกลี้ยงหรือมีขนประปราย มีรูอากาศมาก เปลือกสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน เปลือกด้านในมีน้ำยางขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี กว้าง 3-4 ซม. ยาว 8-10 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ผิวด้านบนมีขนเฉพาะที่เส้นกลางใบหรือมีขนทั่วไป ด้านล่างมีขนที่เส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบ ถึงมีขนทั่วไป เส้นแขนงใบ ข้างละ 8-12 เส้น ก้านใบ ยาว 3-4 มม. มีขนสั้นนุ่มประปราย ช่อดอก แบบช่อกระจุกออกที่ปลายกิ่ง ยาว 3-6 ซม. ดอกสีขาวหรือสีชมพู รูปกรวย ก้านช่อดอกและก้านดอกย่อยมีขนสั้นนุ่มประปรายถึงหนาแน่น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ กว้าง 2-3 มม. ยาว 2.5-5 มม.ปลายมนถึงกลม มีขนสั้นนุ่มประปรายถึงหนาแน่น กลีบดอก 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน เป็นหลอดยาว 4-5 มม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปรี รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับ กว้าง 4-6 มม. ยาว 0.8-1.2 ซม. ปลายมน ปลายหลอดกลีบดอกด้านนอก มีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยงถึงมีขนละเอียด กระบังรอบที่ติดตรงข้ามกลีบดอกยาว 3.5-5 มม. ติดแนบเกือบตลอดความยาว ปลายจักซี่ฟัน กระบังรอบที่ติดสลับกับกลีบดอก ยาว 1.5-3 มม. รูปแถบ ปลายแยกเป็น 2 แฉก เกสรเพศผู้ติดบนหลอดกลีบดอก โผล่พ้นปากหลอด อับเรณูรูปหัวลูกศร มีขนสั้นนุ่มที่ด้านนอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ คาร์เพลเชื่อม 2 อัน ผลแบบผลแตกแนวเดียว เป็นฝักคู่เชื่อมติดกัน รูปร่างเกือบตรง ห้อยลง กว้าง 1.2-1.5 ซม. ยาว 6.5-30 ซม. ผิวฝักเกลี้ยง ไม่มีรูอากาศ เมล็ดรูปแถบกว้าง 1.5-2.5 มม. ยาว 1.2-1.5 ซม. มีกระจุกขนที่ปลายด้านหนึ่ง กระจุกขน ยาว 2-4 มม. พบตามป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 280 เมตร ออกดอกราวเดือนเมษายนถึงสิงหาคม ติดผลราวเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม
ลักษณะวิสัย
ลำต้น
ใบ
ดอก และ ใบ
ดอกตูม
ดอก
ดอก
ผล
ผล
ผลแก่แตก และเมล็ด
ผลแก่แตก และ เมล็ด
สรรพคุณ
ตำรายาไทย เปลือกต้น รสขมร้อน ฝาดเมา ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ ทำให้ประจำเดือนปกติ แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้โรคไต ฆ่าเชื้อรำมะนาด เชื้อคุดทะราด แก้บิดมูกเลือด ใบ รสเย็น เป็นยาขับน้ำเหลืองเสีย แก้ตับพิการ แก้ท้องมาน ดอก รสจืด เป็นยาระบาย แก้พรรดึก(ท้องผูก) ผล รสเมา แก้ฟันผุ ฆ่าเชื้อรำมะนาด ราก รสร้อน รักษางูกัด แก้ลมที่เกิดเรื้อรัง เนื้อไม้หรือแก่น รสร้อนขม เป็นยาขับโลหิต กระพี้ บำรุงถุงน้ำดี น้ำยาง รสเมาเบื่อ แก้บิด ใช้แก้ท้องร่วง แก้พิษงู แก้พิษแมลงกัดต่อย
หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีใช้ รากและเนื้อไม้ ต้มน้ำดื่ม แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด
ประเทศจีนใช้สารสกัดจากรากและใบ รักษาวัณโรคแรกเริ่มที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ และอาการปวดข้อจากโรคข้อรูมาติก เปลือกให้เส้นใยใช้ทำกระดาษ และใช้แทนเส้นใยจากฝ้าย
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/