โมกเครือ

ชื่อสมุนไพร

โมกเครือ

ชื่ออื่นๆ

เครือไส้ตัน (นครราชสีมา หนองคาย) เดื่อเครือ เดื่อดิน เดื่อเถา เดื่อไม้ โมกเครือ (ภาคเหนือ) เดือยดิน (ประจวบคีรีขันธ์) เดือยดิบ (กระบี่) มะเดื่อดิน (ทั่วไป) มะเดื่อเถา (ราชบุรี ภาคเหนือ) ย่านเดือยบิด (สุราษฎร์ธานี) พิษ (ภาคกลาง) ย่านเดือยบิด ไส้ตัน

ชื่อวิทยาศาสตร์

Aganosma marginata (Roxb.) G.Don

ชื่อพ้อง

Amphineurion marginatum (Roxb.) D.J.Middleton, A. acuminatum (G.Don) Pichon, A. velutinum (A.DC.) Pichon, Aganosma acuminata G.Don, A. euloba Miq., A. macrocarpa A.DC., A. velutina A.DC., Chonemorpha cristata (Roth) G.Don, C dichotoma G.Don, Echites apoxys Voigt, E. cristatus Roth, E. marginatus Roxb., E. procumbens Blanco, Holarrhena procumbens (Blanco) Merr., Ichnocarpus acuminatus (G.Don) Fern.-Vill., I. macrocarpus (A.DC.) Fern.-Vill., I. velutinus

ชื่อวงศ์

Apocynaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้เถาเนื้อแข็งขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้น สูง 5-12 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย เลื้อยพันต้นไม้อื่น ไม่มีมือเกาะ เถาอ่อนสีน้ำตาลแดง เถาแก่สีเทา ตามลำต้นมีช่องอากาศกระจายทั่วไป ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวขุ่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 6.5-8.5 เซนติเมตร ก้านใบเรียวเล็ก ยาว 2.5 มิลลิเมตร เส้นใบชัดเจน เชื่อมปิดที่ขอบใบ ใบรูปขอบขนาน หรือรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่น เส้นใบ 7-15 คู่ เส้นขอบในนูนเด่นชัด ก้านใบยาว 0.4-1.1 ซม. เกลี้ยง ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง แผ่นใบเป็นคลื่น สีเขียวเข้มเป็นมันวาว ด้านหลังใบเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านท้องใบมีขนสั้นๆ ใบแก่เกลี้ยงสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อกระจะที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายกลีบแยก ดอกย่อยสีขาวเกลี้ยง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงเวียนกัน ดอกตูมกลีบออกบิดไปทางเดียวกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปรีแกมรูปหอก สีเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้มี 5 อัน ก้านเกสรติดกับอับเรณูด้านฐาน บริเวณโคนก้านมีกระจุกขน เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ห้อง แยกกัน  ผลเป็นฝักคู่ เรียวยาว ทรงกลม ปลายแหลม กว้าง 0.5-1.2 ซม. ยาว 30-50 เซนติเมตร เกลี้ยง เมื่อแห้งแตกตามยาวตะเข็บเดียว เมล็ดจำนวนมากสีน้ำตาล แต่ละผลมี 35-62 เมล็ด เมล็ดรูปขอบขนาน กว้าง 0.7-1.2 ซม. ยาว 1.6-4.7 ซม. มีขนสีขาวเป็นพู่ติดอยู่ที่ปลายเมล็ด ยาว 2.2-5.3 ซม. ปลิวตามลม ออกดอกเดือนมีนาคมถึงเมษายน ติดผลเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พบตามป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ชายป่าดงดิบและป่าดิบแล้ง ริมสระน้ำ หนองบึง ความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง 800 เมตร

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น (เถา)

 

ยอดอ่อน

 

ใบ

 

ดอก และ ใบ

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล


สรรพคุณ
              ตำรายาไทย เถา มีรสเฝื่อนฝาด ใช้ทาฝี แก้เมื่อยขบ แก้ผดผื่นคัน  นำมาผสมกับผลมะตูมอ่อน เถาสิงโต และว่านมหากาฬ ต้มน้ำดื่มรักษาโรคเบาหวาน เข้ายารักษาประดง แก้พิษภายใน ราก ต้มดื่มแก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ไตและตับพิการ บำรุงกำลังตอนฟื้นไข้ ช่วยเจริญอาหาร เป็นยาระบาย ขับระดู หรือผสมกับแก่นลั่นทม ต้มน้ำดื่ม เป็นยาระบาย  ยอด ใช้แก้ท้องเสีย ใบ แก้เมื่อยขบ เข้ายาทารักษาฝี และริดสีดวงทวาร
             ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ตกขาว ถ่ายเป็นมูกเลือด เถา เข้ากับหัวข้าวเย็น ต้มน้ำดื่ม สำหรับสตรีอยู่ไฟหลังคลอดบุตร ยอดอ่อน ใบอ่อน นำมาแกงหรือลวกจิ้มน้ำพริก ใบสด ใช้รับประทานเป็นผักเครื่องเคียงกับอาหาร เช่น ลาบ ฯลฯ มีรสฝาดเล็กน้อย ผลอ่อน นำมาแกงและผัด
             ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอำนาจเจริญ ใช้ เถา ต้มน้ำดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ เป็นยาแก้โรคกระเพาะอาหาร ยอดใช้แกงอ่อม ยอดตำกับมดแดงรับประทานแก้ปวดท้องบิด

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting