เครือประสงค์

ชื่อสมุนไพร

เครือประสงค์

ชื่ออื่นๆ

หยั่งสมุทรน้อย ตำยายฮากหอม จุกโรหินี นวยนั่ง นอยนั่ง เถาไพสง

ชื่อวิทยาศาสตร์

Streptocaulon juventas (Lour.) Merr.

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Asclepiadaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  

             ไม้เถา เลื้อยพันเกาะต้นไม้อื่น ลำต้นขนาดเล็ก สูง 1-7 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดง ตามกิ่งก้านและปลายยอดมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มีน้ำยางมากสีขาวข้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือมนและเป็นติ่งแหลม โคนมนหรือรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบด้านล่างมีขนเหลือบนวล นุ่มและหนาแน่น แผ่นใบด้านบนมีขนค่อนข้างสากกระจายทั่วไป เส้นใบ 14-25 คู่ ก้านใบยาว 0.7-1.2 ซม. มีขนค่อนข้างสาก ยาวและหนาแน่น ดอกเล็กสีม่วง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 2-4 ซม. ก้านช่อดอกยาว 0.6-7.0 ซม. ดอกย่อยจำนวนมาก 18-55 ดอก ก้านดอกย่อยยาว 3-4 มม. มีขนค่อนข้างสากหนาแน่น ใบประดับอย่างละ 2 อัน รองรับดอกและช่อดอก รูปไข่หรือคล้ายสามเหลี่ยม ยาว 1-2 มม. โคนตัด ปลายแหลม ขอบเรียบ มีขนยาวหนาแน่น กลีบดอกมักมีขอบกลีบสีเขียวแกมเหลือง รยางค์รูปมงกุฎ 5 อัน หลอดกลีบรูปจานแบน ยาว 0.5 มม. หรือน้อยกว่า มีเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1.5 มม. ปลายแยกแฉกแหลมหรือค่อนข้างมน รูปสามเหลี่ยม กว้าง 2.0-2.5 มม. ยาว 3-4 มม. ขอบเรียบ เกลี้ยง ด้านนอกสีเขียว ส่วนด้านในสีแดง มักหลุดร่วงง่ายพร้อมกับเกสรเพศผู้และเพศเมีย เกสรเพศผู้ อับเรณูขนาด 0.5 มม. มีเดือยเล็กๆ ยื่นออกมา คล้ายเป็นเส้นยาว 2.0-2.5 มม. เกลี้ยง สีขาวอมเหลืองอ่อน เกสรเพศเมีย รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ขนาด 1 มม. มี 70-100 ออวุล เกลี้ยง มีเยื่อบางๆ เชื่อมเกสรเพศเมีย เกสรเพศผู้และกลีบดอกให้ติดกัน กลีบเลี้ยง หลอดกลีบรูปจานแบน กว้าง 1 มม. ยาว 1.5-2.5 มม. ปลายแยกแฉกแหลม รูปไข่ยาว 1 มม. สีเขียว ขอบหยักมนหรือหยักซี่ฟันห่างๆ มีขนยาวและสั้น กระจายหนาแน่นปะปนกัน มีต่อม 5 อัน เรียงระหว่างรอยต่อของกลีบเลี้ยงกับกลีบดอก รูปสามเหลี่ยมหรือคล้ายทรงกระบอก ขนาด 0.5 มม. หรือน้อยกว่า ขอบเรียบ เกลี้ยง สีขาวอมเหลืองอ่อน ผล เป็นฝักคู่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมขอบขนาน ขนาดกว้าง 5-10 มิลลิเมตร ยาว 7-13 เซนติเมตร ออกเป็นคู่ สีเขียวลายแดง มีขนเหลือบนวลทั้งยาวและสั้นผสมกัน แตกเมื่อแห้ง แต่ละผลมี 30-90 เมล็ด ก้านผลยาว 4-8 มม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เมล็ด รูปรี รูปไข่กลับ หรือค่อนข้างเบี้ยว กว้าง 0.3-0.4 ซม. ยาว 1.0-1.2 ซม. โคนมน อาจพบโคนเบี้ยว ปลายตัด มีขนปุยยาว  2.5-5.5 ซม.แบบเส้นไหมสีขาว พบกระจายทั่วไปในป่าเต็งรัง อาจพบในป่าดิบแล้งได้บ้าง ออกดอกราวเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ติดผลราวเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ช่อดอก

 

ดอก

 

ผล

 

สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย  ใช้  ทั้งต้น ปรุงเป็นยาขับน้ำคาวปลาและโลหิตเสียในสตรี ราก รสสุขุม แก้ไข้ แก้ลมปลายไข้
              ยาพื้นบ้าน  ใช้  ต้นหรือราก ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม แก้หอบหืดอย่างแรง
             ชาวเขาเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยง  ใช้  ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting