พิกุล

ชื่อสมุนไพร

พิกุล

ชื่ออื่นๆ

กุน (ภาคใต้), แก้ว (ภาคเหนือ), ซางดง (ลำปาง), พิกุลเขา, พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุลป่า (สตูล) ตันหยง มะเมา

ชื่อวิทยาศาสตร์

Mimusops elengi L.

ชื่อพ้อง

Imbricaria perroudii Montrouz., Kaukenia elengi (L.) Kuntze, K. javensis (Burck) Kuntze, K. timorensis (Burck) Kuntze, Magnolia xerophila P.Parm., Manilkara parvifolia (R.Br.) Dubard, Mimusops javensis Burck, M. latericia Elmer, M. lucida Poir., M. parvifolia R.Br., M. timorensis

ชื่อวงศ์

Sapotaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
            ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-25 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมรูปเจดีย์หรือกลมทึบ ใบดกออกหนาแน่น เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามแนวยาว ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว กิ่งอ่อนและตามีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงสลับกันห่างๆ ใบรูปไข่ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ใบกว้าง 2-6.5 เซนติเมตร ยาว 5-15 เซนติเมตร ก้านใบยาว 4-6 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม เป็นติ่งสั้นๆ ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวสด เรียบเป็นมัน หูใบรูปเรียวแคบ ยาว 3-5 มม. ร่วงง่าย ดอกออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุก 2-6 ดอก ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอม ก้านดอกย่อยยาว 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียง 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล รูปใบหอก ปลายแหลม ยาว 7-8 มม. ติดทน กลีบดอกสั้นกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย กลีบดอก 8 กลีบ โคนเชื่อมกันเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.8-1.5 เซนติเมตร กลีบดอกแต่ละกลีบจะมีส่วนยื่นออกมาด้านหลัง 2 ชิ้น ซึ่งส่วนที่ยื่นออกมาแต่ละชิ้นนี้จะมีลักษณะ ขนาดและสีคล้ายคลึงกันกับกลีบดอกมาก ทำให้ดูคล้ายกลีบดอกมีทั้งสิ้น 24 กลีบ เรียง 2 ชั้น ชั้นนอกมี 8 กลีบ ชั้นในมี 16 กลีบ กลีบดอกสีขาวนวล มีกลิ่นหอมเย็น กลิ่นยังคงอยู่แม้ตากแห้งแล้ว ดอกร่วงง่าย เมื่อใกล้โรยเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล เกสรเพศผู้สมบูรณ์มี 8 อัน อับเรณูรูปใบหอก ยาวกว่าก้านชูอับเรณู และเกสรเพศผู้เป็นหมันมี 8 อัน มีขน รังไข่มี 8 ช่อง ผลสดแบบผลมีเนื้อ รูปไข่ ปลายแหลมสีเขียว กว้างราว 1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-3 เซนติเมตร ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลอ่อนสีเขียว มีขนสั้นนุ่ม ผลสุกสีเหลืองถึงสีส้ม มีรสหวานเล็กน้อย รับประทานได้ มีเมล็ดเดียว เมล็ดแบนรี เปลือกแข็ง สีน้ำตาลเข้มหรือดำเป็นมัน ออกดอกติดผลตลอดปี

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ดอก

 

ดอกตูม

 

ดอก

 

ดอก

 

ผลอ่อน

 

ผลแก่ และ ผลสุก

 

ผลสุก

 

ผลสุก

 

ผล และ เมล็ด


สรรพคุณ:   
              ตำรายาไทย ดอก มีกลิ่นหอมเย็น ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง เข้ายาหอม ยานัตถุ์ แก้ลม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ แก้ปวดหัว แก้เจ็บคอ แก้ร้อนใน ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ดอกพิกุลตามสรรพคุณยาไทย จัดเข้าเครื่องยาพิกัดเกสรทั้ง 5 หรือใช้ผสมกับดอกไม้อื่น ที่มีกลิ่นหอมเพื่อทำบุหงา ผลดิบและเปลือก ฝาดสมาน แก้ไข้ แก้ท้องเสีย เปลือกต้น รสฝาด ใช้ปรุงเป็นยาแก้เหงือกอักเสบ ใบ รสเบื่อฝาด แก้กามโรค แก้หืด ฆ่าพยาธิ เมล็ด ช่วยขับปัสสาวะ รักษาท้องผูก ราก มีรสขมเฝื่อน เข้ายาบำรุงโลหิต แก้เสมหะ แก้ลม แก่น มีรสขมเฝื่อน เข้ายาบำรุงโลหิต ยาแก้ไข้ ขอนดอก เป็นเครื่องยาไทย อาจได้จากต้นพิกุลหรือตะแบกต้นแก่ๆ มีเชื้อราเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ แต่โบราณว่าขอนดอกที่ได้จากต้นพิกุลจะมีคุณภาพดีกว่า ขอนดอกมีกลิ่นหอม รสจืด มีสรรพคุณบำรุงตับ ปอด และหัวใจ บำรุงทารกในครรภ์ (ครรภรักษา) ทำให้หัวใจชุ่มชื่น
             ตำรายาพื้นบ้านอีสาน ใบ ฆ่าเชื้อกามโรค เปลือก รักษาโรคฟัน กระพี้ แก้เกลื้อน แก่น เป็นยาบำรุงโลหิต รากและดอก ปรุงเป็นยาแก้ลม ขับเสมหะที่เกิดจากลม


องค์ประกอบทางเคมี:
           เปลือกต้น พบสารกลุ่มไตรเทอร์ปีน ได้แก่ Taraxerone, taraxerol, betulinic acid, ursolic acid,  mimusopfarnanol, beta amyrin, lupeol น้ำมันระเหยง่าย ได้แก่ thymol, cadinol, taumuurolol, hexadecanoic acid, diisobutyl phthalate, octadecadienoic acid สารกลุ่มกรดแกลลิค ได้แก่ phenyl propyl gallate
            ผลและเมล็ดพบ quercitol, ursolic acid, dihydro quercetin, quercetin, สารกลุ่มไตรเทอร์ปีน ได้แก่ mimusops acid, mimusopsic acid, mimusopane เมล็ดพบสารไตรเทอร์ปีนซาโปนินได้แก่  Mi-saponin A, 16-alpha-hydroxy Mi-saponin, mimusopside A and B  และสารอื่นๆได้แก่ taxifolin, alpha-spinasterol glucoside

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
      ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ 

       การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระศึกษาในหลอดทดลอง ศึกษาผลการยับยั้งอนุมูลอิสระ 2 ชนิด ด้วยวิธีทางเคมี คืออนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระทั้ง 2 ชนิดได้ โดยมีค่าการยับยั้ง IC50 เท่ากับ 10.25 และ 13.5 μg/ml ตามลำดับ (Gadamsetty, et al., 2013)
     ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

      การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล ในหนูแรท สายพันธุ์วิสตาร์ โดยใช้คาราจีแนนเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูบวม พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดขนาด 200 และ 300 mg/kg หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีดคาราจีแนนที่บริเวณอุ้งเท้าหนู พบว่าสามารถลดการอักเสบได้ 33.03% (p<0.01) และ 32.2 % (p<0.01) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน indomethacin ในขนาด 10 mg/kg ลดการอักเสบได้ 33.2% ที่เวลา 12 ชั่วโมง หลังฉีดคาราจีแนน (Gadamsetty, et al., 2013)
      ฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้

     การศึกษาฤทธิ์แก้ปวด และลดไข้ของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล ในหนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ การทดสอบฤทธิ์แก้ปวดใช้วิธี tail immersion model โดยนำหางหนูจุ่มลงในน้ำรัอน บันทึกระยะเวลาที่หนูกระดกหางหนี การทดสอบฤทธิ์ลดไข้ใช้วิธีการเหนี่ยวนำให้หนูเป็นไข้ด้วย Brewer’s yeast และทดสอบฤทธิ์สารสกัดในการลดอุณหภูมิที่บริเวณทวารหนักของหนูที่เวลาต่างๆ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดใบพิกุลด้วยเมทานอล มีฤทธิ์แก้ปวด และลดไข้ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ขนาดยา 200 mg/kg (Sehgal, et al., 2011)
     ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง

     การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งปากมดลูก และการเหนี่ยวนำขบวนการ apoptosis ของเซลล์ โดยใช้สารสกัดเมทานอลจากเปลือกและใบของพิกุล ทดสอบในหลอดทดลองกับเซลล์มะเร็งปากมดลูกชนิด HPV16 positive human cervical cancer cell line (SiHa) ที่แยกได้จากมนุษย์ ใช้การทดสอบด้วยวิธี MTT (3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2; 5-diphenyltetrazolium bromide) assay ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดจากเปลือกและใบ สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 35.08 ± 2.92 และ 67.46 ± 4.21 μg/ml ตามลำดับ และสามารถเหนี่ยวนำให้เกิด apoptosis ซึ่งเป็นขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย จาก 0.24% เพิ่มเป็น 60% และ 69% ตามลำดับ (Ganesh, et al., 2014)

การศึกษาทางพิษวิทยา:           

     การศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดเปลือกพิกุลด้วย ethylacetate, ethanol, methanol และน้ำ ในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ แบ่งหนูออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว กลุ่มควบคุมได้รับ normal saline (2ml/kg) กลุ่มอื่นๆ ที่เหลือ ได้รับสารสกัดพิกุลเพียงครั้งเดียวขนาด 50, 100, 200, 400, 800, 1000, 2000 และ 4000 mg/kg ตามลำดับ ติดตามผลการทดลองตั้งแต่ชั่วโมงที่หนึ่งถึงสี่ และติดตามต่อจนครบ 14 วัน พบว่าไม่เกิดพิษใดๆ หนูทดลองมีพฤติกรรมปกติ น้ำหนักไม่เปลี่ยนแปลง และไม่พบการตายของหนู (Katedeshmukh, et al., 2010)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Gadamsetty G, Maru S, Sarada NC. Antioxidant and anti-inflammatory activities of the methanolic leaf extract of traditionally used medicinal plant Mimusops elengi L. J. Pharm. Sci. & Res. 2013;5(6):125–130.

2. Ganesh G, Abhishek T, Saurabh M, Sarada NC. Cytotoxic and apoptosis induction potential of Mimusops elengi L. in human cervical cancer (SiHa) cell line. Journal of King Saud University – Science. 2014; 26:333–337.

3. Katedeshmukh RG, Shete RV, Otari KV, Bagade MY, Pattewar A. Acute toxicity and diuretic activity of Mimusops elengi extracts. International Journal of Pharma and Bio Sciences. 2010;1(3):1-6.

4. Sehgal S, GuptaV, Gupta R , Saraf SA. Analgesic and antipyretic activity of Mimusops elengi L. (bakul) leaves. Pharmacology online. 2011;3:1-6.

 

ข้อมูลเครื่องยา : www.thaicrudedrug.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง :  www.thaiherbarium.com

ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting