ชื่อสมุนไพร | พลองเหมือด |
ชื่ออื่นๆ | พลองดำ (ประจวบคีรีขันธ์) เหมียด (สุรินทร์) เหมือดแอ่ (มหาสารคาม) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Memecylon edule Roxb. |
ชื่อพ้อง | Memecylon edule var. scutellatum (Lour.) Triana, Memecylon scutellatum |
ชื่อวงศ์ | Melastomataceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 12 เมตร เปลือกสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นร่องลึก และเห็นชัดเจนบริเวณโคนลำต้น กิ่งอ่อนแบน หรือเป็นสี่เหลี่ยมมีร่องตามยาว 2 ร่อง กิ่งแก่กลม ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 2.5-6 ซม. ปลายทู่หรือแหลม โคนมนหรือสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นกลางใบเป็นร่อง ทางด้านบนนูน ทางด้านล่างเส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ก้านใบ ยาว 4-5 มม. เป็นร่องทางด้านบน ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตามซอกใบ หรือตามข้อที่ใบร่วงไปแล้ว ช่อยาว 1.5-2.5 ซม. ดอกในช่อ 2-8 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.8-1 ซม. ก้านช่อดอก ยาว 1-5 มม. ก้านดอกย่อยยาว 1.5-2 มม. ใบประดับขนาดเล็กมาก ฐานรองดอกหนารูปถ้วยสีชมพู ยาว 2-4 มม. เกลี้ยง ปลายตัดหรือแยก กลีบเลี้ยง 4 แฉก เล็ก ๆ กลีบดอก 4 กลีบ หนา สีขาวอมม่วงหรือสีน้ำเงินเข้ม รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้างและยาว ประมาณ 3 มม. ปลายแหลม เกสรเพศผู้ 8 อัน ก้านชูอับเรณูสีม่วงอ่อน แกนอับเรณูหนา อับเรณูรูปจันทร์เสี้ยว มีต่อมตรงกลาง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี 1 ช่อง มี 2 ออวุล หรือมากกว่า ก้านเกสรเพศเมียสีม่วงอ่อน ยอดเกสร เพศเมียขนาดเล็ก ผลสดแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-7 มม. สีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกสีม่วงถึงดำ พบตามป่าเต็งรัง ชายป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ 700 เมตร ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
ลักษณะวิสัย
ใบ
ดอกตูม
ดอก
ดอก
ดอก
ดอก
ผลอ่อน
ผลแก่ และ ผลสุก
สรรพคุณ
ตำรายาไทยใช้ เปลือก รักษารอยฟกช้ำ เปลือกต้นและแก่น เผาไฟจะให้น้ำยาง บรรเทาอาการปวดฟัน ทำให้ฟันแข็งแรง ใบ ต้มรักษาโรคโกโนเรีย ต้นและใบ ต้มน้ำดื่ม เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด รากหรือลำต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคกระเพาะอาหาร ลำต้นนำมาผสมกับแก่นพลับพลา ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นสบู่ขาว แก่นจำปา แก่นโมกหลวง ต้มน้ำดื่มแก้หืด ราก ผสมกับสมุนไพรอื่นต้มน้ำดื่ม แก้ประดง (อาการโรคผิวหนัง มีเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ร่วมด้วย) ผลสุกและใบอ่อน รับประทานได้ ผลสุกกินเป็นผลไม้ มีรสหวาน ยอดนำไปกินเป็นผัก รสฝาดหวาน ใบ ใช้เป็นสีย้อม ให้สีเหลือง
ยาพื้นบ้านจังหวัดอำนาจเจริญ ใช้ น้ำยาง ทาฟันทำให้ฟันไม่ผุง่าย (โดยนำกิ่งขนาดนิ้วมือ ยาว 1 คืบ เอาไฟลนตรงกลางจะได้น้ำยางออกมา) ใบแก่ นำไปคลุกรวมกับพริก แล้วนำไปตากแห้ง ทำให้พริกสีสดและไม่มีแมลงมากัดกิน ใบอ่อน ยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสด
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/