ปอขี้ตุ่น

ชื่อสมุนไพร

ปอขี้ตุ่น

ชื่ออื่นๆ

ขี้อ้น เข้ากี่น้อย ปอขี้ไก่ ปอมัดโป ยำแย่ หญ้า หางอ้น ไม้หมัด ปอเต่าไห้ ป่าเหี้ยวหมอง ป่าช้าหมอง

ชื่อวิทยาศาสตร์

Helicteres angustifolia L.

ชื่อพ้อง

Helicteres obtusa Wall. ex Kurz, H. parviflora Ridl., H. salicifolia C. Presl, Oudemansia integerrima

ชื่อวงศ์

Sterculiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูงได้ ถึง 3 เมตร ลำต้นและกิ่งมีขนสีน้ำตาลรูปดาวขึ้นปกคลุมหนาแน่น ใบ เดี่ยวเรียงเวียน รูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 2-5 ซม. ยาว 6-10 ซม. ปลายมน แหลม หรือเรียวแหลม โคนมนหรือกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบนมีขนรูปดาวประปราย มีมากบริเวณเส้นกลางใบ ผิวด้านล่างมีขนรูปดาวหนาแน่น เส้นจากโคนใบ 3-5 เส้น เป็นร่องทางด้านบน เส้นใบแบบร่างแหชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบ ยาว 6-8 มม. มีขน หูใบรูปแถบ กว้างประมาณ 0.5 มม. ยาวประมาณ 4 มม. ดอกออกเป็นกระจุกสั้น ตามซอกใบ ดอกสมบูรณ์เพศ ยาว 1-2 ซม. ดอกย่อยอาจมีได้ถึง 8 ดอก ก้านดอก มีตั้งแต่สั้นมาก จนยาวได้ ถึง 5 มม. ใบประดับขนาดเล็ก รูปแถบ ยาวประมาณ 1.5 มม. กลีบเลี้ยง ยาว 5-8 มม. โคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ไม่เท่ากัน ปลายหลอด กว้าง 2.5-3 มม. มีขนสั้นทั้งสองด้าน กลีบดอกสีชมพูอมม่วงหรือขาว มี 5 กลีบ แยกกัน รูปแถบกึ่งรูปช้อน ขนาดไม่เท่ากัน ความยาวกลีบ 7-8 มม. ปลายกลม หรือตัด โคนกลีบสอบเป็นก้าน มีติ่ง 2 ติ่ง ผิวกลีบมีขน กลีบดอก 3 กลีบ ตั้งตรงและมีกระจุกขนบริเวณกลางกลีบ อีกสองกลีบ งอบริเวณกลางกลีบ และไม่มีขน เกสรเพศผู้ และเพศเมียมี ก้านชูยาว 5-6 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน โคนเชื่อมกันเป็นหลอด หุ้มเกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์ 5 อัน ไว้ภายใน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ อยู่ภายในหลอด ก้านชูอับเรณูมีขนสั้นนุ่ม หนาแน่น มี 5 ช่อง มีขน แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ผล แบบผลแห้งแตก รูปไข่ แกมรูปทรงกระบอก ตรง กว้าง 1.2-1.5 ซม. ยาว 2-3 ซม. แบ่งเป็นพู 5 พู ตามยาว มีขนฟูปกคลุมหนาแน่นที่ผล เมล็ด รูปไข่ หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เมื่อแห้งมีสีดำ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง เขาหินปูน ความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-900 เมตร ออกดอก และเป็นผล ช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

 

กิ่ง และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ผล

 

 

ผล

 

 

ผล และ เมล็ด


สรรพคุณ    
              ตำรายาพื้นบ้านอีสาน ราก ทุบกับเกลือ อมแก้ปวดฟัน รากใช้รักษาอาการปัสสาวะหยด ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่มแก้กษัยเส้น(อาการเสียดท้องบริเวณหัวหน่าว ปัสสาวะสีแดงเหลืองเป็นตะกอน) ต้มน้ำอาบรักษาแผลเบาหวาน รักษาพิษงู ใบ รสเฝื่อนขม ตำพอกหรือทา แก้คางทูม สมานบาดแผล ทั้งต้น รสเฝื่อนขม ต้มน้ำดื่มแก้ปวดเกร็งท้อง แก้หวัดแดด แก้อาหารเป็นพิษ แก้ปวดเมื่อย แก้ฝี ขับเสมหะ สตรีมีครรภ์ไม่ควรกินเพราะอาจทำให้แท้งได้ เปลือก แก้ไข้จับสั่น ฝาดสมาน ให้เส้นใย  ราก รสเฝื่อนขม ต้มดื่ม แก้หวัดแดด แก้ร้อนใน แก้บิดเรื้อรัง ผิวลำต้น ขูดออกผสมกับเปลือกยางบงใช้ทำธูปหอม

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting