ชื่อสมุนไพร | บาหยา |
ชื่ออื่นๆ | อ่อมแซบ ย่าหยา ผักกูดเน่า อังกาบ บุษบาฮาวาย |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Asystasia gangetica (L.) T. Anderson |
ชื่อพ้อง | Asystasia acuminata Klotzsch, A. bojeriana Nees, A. calycina Nees, A. comorensis var. humilis Nees, A. coromandeliana Nees, A. intrusa (Forssk.) Blume, A. plumbaginea Nees, A. quarterna Nees, A. violacea Dalzell, Dyschoriste biloba Hochst., Justicia gangetica |
ชื่อวงศ์ | Acanthaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มล้มลุก ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ตั้งตรงหรือรอเลื้อย มีขน สูงถึง 1 เมตร ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ยาว 3-4.5 เซนติเมตร กว้าง 2.4-3.5 เซนติเมตร ใบรูปไข่ ปลายแหลม โคนใบเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ผิวใบมัน เส้นกลางใบมีขน ก้านใบยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม ผิวใบด้านหลังใบมีซิสโทลิท (cystolith) หรือผลึกของแคลเซี่ยมคาร์บอเนตที่ผิวใบสะสะมอยู่มาก ดอกออกเป็นช่อกระจะ ออกที่ซอกใบและปลายยอด โดยดอกจะติดอยู่บนแกนช่อดอก และทยอยบานจากโคนช่อขึ้นไปตามปลายยอด ช่อดอกยาว 16 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 2-3 มิลลิเมตร ดอกรูปกรวย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ขนาดเท่ากัน ผิวด้านนอกมีขน ด้านในเรียบ ดอกสีขาว สีเหลือง หรือสีม่วงอ่อน กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดยาว โคนหลอดกว้าง 3 มิลลิเมตร ปลายหลอดกว้าง 1 เซนติเมตร กลีบรูปกึ่งกลมแกมรูปไข่กลับ ขนาด 0.7-1.2 × 0.8-1 เซนติเมตร กลีบกลางมีปากล่างสีม่วง หรือสีออกม่วงเข้มอมน้ำตาล กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ มีขน วงกลีบยาว 7 มิลลิเมตร แบ่งเป็นพู รูปหอกแกมรูปเส้นตรง ขนาด 5-7 × 1-1.2 มิลลิเมตร ด้านนอกมีต่อมขน ที่ขอบมีขนอ่อนเล็กๆ ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ขนาด 5 มิลลิเมตร มี 2 แผ่น มีขน ใบประดับย่อย รูปหอกแกมรูปเส้นตรง ขนาด 1-2.5 มิลลิเมตร มีขน เกสรเพศผู้มี 4 อัน สีขาว เป็นอิสระ ก้านชูอับเรณูโค้งเข้าหากัน ก้านเกลี้ยง โคนเชื่อมติดบนหลอดกลีบดอก แบ่งเป็นสองคู่ คู่ยาว ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร คู่สั้น ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร อับเรณูขนาด 3 × 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ รูปรี ขนาด 3.5 มิลลิเมตร มีขน ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 1.8 เซนติเมตร มีขนคล้ายกำมะหยี่ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม 2 พู ผลแบบแคปซูล ขนาด 1.3×2 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก มีขนปกคลุม ผลแก่แตกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ด 3-4 เมล็ด เมล็ดรูปไต แบน สีน้ำตาล ขนาด 3-5 × 0.5-3 มิลลิเมตร พบขึ้นตามที่รกร้าง ริมน้ำ ชายคลอง ทั่วไป ออกดอกราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม ติดผลราวเดือนธันวาคมถึงมีนาคม
ลักษณะวิสัย
ใบ
ดอก และ ใบ
ดอก
ดอก
ดอก (สีม่วง)
ดอก (สีขาว)
ผลอ่อน และ ผลแก่
ผลแก่
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใบ แก้ปวดบวม แก้ปวดตามข้อ ถ่ายพยาธิ และเป็นพืชอาหาร ใช้กินเป็นผัก
ชนเผ่าทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย ทั้งต้น ใช้รักษาโรคข้อรูมาติซึม ราก ใช้ภายนอก แก้ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ใบ รักษาเบาหวาน
ประเทศแอฟริกาใต้ใช้ ทั้งต้น กินเป็นผัก น้ำสกัดจากต้นใช้ขับพยาธิ แก้อาการบวม รักษาโรคข้อรูมาติซึม โรคโกโนเรีย รักษาโรคหู
ประเทศไนจีเรียใช้ ใบ เป็นยาเฉพาะที่ รักษาหอบหืด
องค์ประกอบทางเคมี
ดอกพบไบฟลาโวนไกลโคไซด์ ได้แก่ apigenin 7-O-glucosyl (3'→6"), luteolin 7"-O-glucoside ส่วนเหนือดิน พบ asysgangoside, 5,11-epoxymegastigmane glucoside, salidroside, benzyl beta-D-glucopyranoside, (6S,9R)-roseoside, ajugol, apigenin 7-O-neohesperidoside
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
สารสกัดเฮกเซน เอทิลอะซิเตต และเมทานอลจากทั้งต้น มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมลบ และแกรมบวก และเชื้อรา หลายชนิด
สารสกัดน้ำ และเมทานอลจากลำต้นและใบ มีฤทธิ์ลดปวด และต้านการอักเสบในหนูทดลอง
สารสกัดเอทานอลจากใบ มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด ในหนูทดลอง
สารสกัดเมทานอลจากใบ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง
สารสกัดเฮกเซน เอทิลอะซิเตต และเมทานอลจากใบ มีฤทธิ์ลดสารฮีสตามีนจากโรคหอบหืดจากการทดสอบด้วยชุดทดสอบแบบ in vitro
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/