กำแพงเก้าชั้น

ชื่อสมุนไพร

กำแพงเก้าชั้น

ชื่ออื่นๆ

ตากวง ตากวาง ตะก้อง ขอบด้วงเถา ขอบกระด้ง กระดอเย็น

ชื่อวิทยาศาสตร์

Salacia verrucosa Wight.

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Celastraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาขนาดใหญ่ พาดพันไปตามต้นไม้ใหญ่ ยาวประมาณ 5 เมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลเทา มีรูอากาศตามผิวเปลือก เปลือกด้านในสีแดง ที่ผิวกิ่งค่อนข้างขรุขระ และมีรูอากาศมาก กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุม เนื้อไม้สีแดงอ่อน มีน้ำยางสีแดง มีวงปีสีแดงเข้ม ซ้อนกันถี่ๆ คล้ายกำแพงที่ถูกล้อมไว้ และมีจำนวนชั้นมาก จึงได้ชื่อว่ากำแพงเก้าชั้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ เรียงตรงข้าม หรือเกือบตรงข้าม รูปใบหอก  กว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบเล็กลึก ก้านใบเล็ก เรียวแข็งแรง มันเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง หลังใบผิวมัน มีหูใบ ดอกเดี่ยวออกรวมกันเป็นกลุ่มออกมาจากปุ่มนูนที่ซอกใบ หรือบนกิ่งที่เคยมีรอยใบติดอยู่ แต่ละกลุ่มมีดอกจำนวนมาก ประมาณ 30-40 ดอกในแต่ละช่อ ดอกสีเขียวอมเหลือง มองเห็นดอกอยู่ตรงข้ามกันสองกลุ่มตามข้อของใบ ก้านดอกสีเขียวอ่อนจำนวนมาก ยาวน้อยกว่า 0.5 เซนติเมตร ก้านดอกสั้นกว่าก้านใบ  กลีบดอกรูปร่างกลม ปลายกลมมน ฐานกลีบกว้าง มี 5 กลีบ สีเหลืองปนเขียว จานฐานดอกนูนขึ้นเป็นรูปทรงกลมแบน เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดบนขอบจานฐานดอก เรียงแยกกันเป็นวง แต่ละช่องของรังไข่ มีออวุล 2 อัน วางซ้อนกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ปลายมนกลม สีเขียว ผลสดรูปทรงกลม กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร ผิวหยาบ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีส้มแดง มีเมล็ดแข็ง 3-4 เมล็ด เนื้อผลสุก สีน้ำตาลอ่อนใส รสหวาน รับประทานได้ พบตามป่าดิบ ป่าเต็งรัง และป่าโปร่งทั่วไป ขยายพันธุ์ใช้เมล็ด พบที่ระดังความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500 เมตร ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ติดผลราวเดือนสิงหาคมถึงกันยายน

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น และ ดอก

 

 

ใบ และ ดอกตูม

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ผล

 

 

ผลสุก

 

 

ผล

 

 

ผล และ เมล็ด

 

สรรพคุณ    
              ตำรายาไทยนิยมใช้เป็นยาร่วมกับตาไก้ (กำแพงเจ็ดชั้น) หรือใช้แทนกันได้ เนื้อไม้  รสฝาดเมา เป็นยาถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ระบายลมร้าย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม เป็นยาระบาย บำรุงเอ็น บำรุงเส้น บำรุงตับไต บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง แก้โลหิตและน้ำเหลืองพิการ แก้ระดูขาว แก้กระษัยไตพิการ แก้ปวดเมื่อย  แก้ปวดหลังปวดเอว ราก ผสมกับต้นตาไก้ (กำแพงเจ็ดชั้น) รากค้อนตีหมา รากอีล่ำ (กำลังทรพี) ต้มรับประทาน แก้ไข้สูง
             ประเทศลาว ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

 

องค์ประกอบทางเคมี
            ลำต้นพบสารกลุ่มเทอร์ปีนอยด์ กลุ่ม1,3-diketofriedelane triterpene คือ 21 alpha-hydroxyfriedelane-1,3-dione, friedelane-1,3-dione, 26-hydroxyfriedelane-1,3-dione และ 30-hydroxyfriedelane-1,3-dione, สารในกลุ่ม friedelane triterpene ที่พบคือ friedelin, kokoonol, friedelane-1,3-dione,  26-hydroxyfriedelane-1,3-dione สารในกลุ่ม oleanane triterpene ที่พบคือ 3β, 22 alpha-dihydroxyolean-12-en-29-oic acid

 

ข้อมูลเครื่องยา : www.thaicrudedrug.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting