ชื่อสมุนไพร | เฉียงพร้านางแอ |
ชื่ออื่นๆ | สีฟันนางแอ (เหนือ), นกข่อ, ส้มป้อง (เชียงใหม่), บงคด (พร), โองนั่ง (อุตรดิตถ์), แก็ก, วงคด, องคต (ลำปาง), แคแห้ง, ต่อไส้, สันพร้านางแอ (กลาง), ร่มคมขวาน (กรุงเทพมหานคร), ขิงพร้า (ตราด, ประจวบคีรีขันธ์), บงมัง (ปราจีนบุรี, อุตรดิตถ์), ม่วงมัง, หมักมัง (ปราจีนบุรี), สีฟัน (ใต้), เขียงพร้านางแอ (ชุมพร) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Carallia brachiata (Lour.) Merr. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Rhizophoraceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 25-30 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นตั้งตรง เรือนยอดทรงพุ่มรูปกรวยกว้างทึบ เปลือกสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบ มีรูอากาศมาก หรืออาจพบเปลือกต้นหนาแตกเป็นร่องลึกตามยาว อาจพบลักษณะคล้ายรากค้ำจุนแบบ prop root เป็นเส้นยาว หรือออกเป็นกระจุกตามลำต้น หรือส่วนโคนต้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปวงรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-7 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร หลังใบสีเขียวเข้ม เป็นมันหนา ท้องใบสีอ่อนกว่า และมีจุดสีดำกระจาย ปลายใบมนมีติ่งเล็ก ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น มีหูใบหุ้มยอดอ่อน เมื่อร่วงจะเห็นรอยแผล บริเวณข้อพองเล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยง หนาและเหนียว ก้านใบยาว 0.4-1 เซนติเมตร ดอกช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง แตกแขนงเป็น 4 กิ่ง ดอกย่อยจำนวนมากขนาดเล็ก มักเรียงตัวแน่นเป็นช่อกลม ไม่มีก้านดอกย่อย กลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกขนาดเล็ก รูปร่างเป็นแผ่นกลม สีเขียวอมเหลือง เกสรเพศผู้มี 10-16 อัน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง รูปร่างเกือบเป็นแผ่นตรง ผลสดแบบมีเนื้อ รูปทรงกลม ขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุก เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงด้านบน คล้ายมงกุฎ ผิวผลเป็นมัน มีเนื้อบางสีเขียวห่อหุ้ม ผลแก่สีส้มปนแดง เมล็ดรูปไตสีน้ำตาลเข้มหรือดำ มีเยื่อหนาสีส้ม รับประทานได้ ออกดอกและติดผล ราวเดือนเมษายนถึงสิงหาคม พบตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง
ลักษณะวิสัย
โคนต้น
ลำต้น
ใบ
ดอก
ผล
ผลสุก
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ลำต้น ฝนน้ำกินแก้ไข้ ต้มน้ำดื่มบำรุงร่างกาย เป็นยาเจริญอาหารสำหรับสตรีหลังคลอด ผสมลำต้นแคด เปลือกต้นตับเต่าต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ผิดสำแดง (กินอาหารแสลงไข้ ทำให้โรคกำเริบ อาจมีอาการท้องเสีย) เปลือกต้น ต้มน้ำอาบรักษาไข้ตัวร้อน แก่น ช่วยขับลม ระบายความร้อน แก่น ใช้ทำเครื่องจักสาน
ตำรายาไทยใช้ เปลือกต้น รสฝาดเย็น แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเสมหะ และโลหิต ปิดธาตุ สมานแผล แก้บิด แก้พิษผิดสำแดง ต้น แก้ไข้ บำรุงร่างกาย และช่วยเจริญอาหาร
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
สารสกัดแอลกอฮอล์จากส่วนเหนือดิน มีฤทธิ์แก้แพ้ และลดการบีบตัวของลำไส้เล็กน้อยในสัตว์ทดลอง และไม่มีพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/