ชื่อสมุนไพร | โคคลาน |
ชื่ออื่นๆ | มะปอบเครือ (เหนือ), กุระเปี้ยะ (ปัตตานี),โพคาน (ชัยนาท), แนวน้ำ (ประจวบคีรีขันธ์), เยี่ยวแมว (ใต้), เยี่ยวแมวเถา (นราธิวาส), มะกายเครือ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Mallotus repandus (Willd.) Mull. Arg. |
ชื่อพ้อง | Adisca timoriana Span., Croton repandus Willd., C. rhombifolius Willd., C. volubilis Llanos, Helwingia populifolia Spreng., Mallotus chrysocarpus Pamp., M. contubernalis Hance, M. scabrifolius (A.Juss.) Müll.Arg., M. scandens (Span.) Müll.Arg., Mappa scandens (Span.) Pancher ex Baill., Rottlera cordifolia Benth., R. dicocca Roxb., R. dioica Baill., R. laccifera Voigt, R. repanda (Willd.) Scheff., R. rhombifolia (Willd.) Thwaites, R. scabrifolia A.Juss., R. scandens Span., R. trinervis Zipp. ex Span., R. viscida Blume, Trewia nudifolia |
ชื่อวงศ์ | Euphorbiaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มรอเลื้อย เนื้อแข็ง สูง 3-6 เมตร ตามกิ่งก้านและช่อดอกมีขนนุ่มรูปดาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปไข่กว้าง กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร ฐานใบกว้างกลมปิด ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ หลังใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสั้นนุ่มสีเหลือง รูปดาว หนาแน่น หูใบรูปสามเหลี่ยม ขนาด 1 มิลลิเมตร ก้านใบยาว 1.5-6 เซนติเมตร มองเห็นเส้นใบชัดเจน 3 เส้น ที่ฐานใบ ดอกช่อกระจุก ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยหลายดอก สีขาวแกมเหลือง แยกเพศอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้ออกที่ปลายยอด ยาว 5-15 เซนติเมตร มักแตกแขนง ใบประดับรูปลิ่มแคบ ขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ดอกเพศผู้ออกรวมเป็นกระจุก 2-5 ดอก ก้านชูดอกย่อยขนาด 2-4 มิลลิเมตร วงกลีบเลี้ยงแยกเป็น 3-4 พู รูปขอบขนาน ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม เกสรเพศผู้ 40-75 อัน ช่อดอกเพศเมียยาว 5-8 เซนติเมตร ใบประดับรูปหอก ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 4-5 อัน รูปหอก ขนาด 2-3 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม รังไข่มี 2 ห้อง สีเหลืองเข้ม มีขนนุ่ม ก้านชูยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนยาวนุ่ม ผลแห้งแตกแบบแคปซูลมี 2 ห้อง รูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเหลือง มีขนนุ่ม ก้านผลยาว 8-12 มิลลิเมตร เมื่อแก่แตกตรงกลางพู เมล็ดกึ่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร สีดำ พบตามป่าที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-1,000 เมตร ออกดอกราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ติดผลราวเดือนมิถุนายนถึงกันยายน
ลักษณะวิสัย
ดอก และ ใบ
เถา
เถา
เถา
ใบ
ช่อดอกตูม
ช่อดอก
ช่อดอก
สรรพคุณ
ตำรายาไทย เถา รสขมเบื่อเย็น ปรุงเป็นยารับประทาน แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้เส้นเอ็นตึงแข็ง ปวดหลัง ปวดเอว แก้ไตพิการ ปัสสาวะพิการ บำรุงโลหิต
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ลำต้น จำนวน 100 กรัม ผสมทั้งต้นทองพันชั่ง และโด่ไม่รู้ล้มทั้งต้น ชนิดละหนึ่งหยิบมือ ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย ตำรายาพื้นบ้าน อ.กุดชุม จ.ยโสธร ชื่อยาตำรับ ”ยาโคคลาน” ประกอบด้วย เถาโคคลาน 2 ส่วน ทองพันชั่ง โด่ไม่รู้ล้ม และมะตูม อย่างละ 1 ส่วน เตรียมเป็นยาต้มหรือยาเม็ด แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย และปวดกระดูก
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
การทดลองในหลอดทดลอง พบว่าต้านเชื้อเริมที่ริมฝีปาก ส่วนสารสกัดน้ำจากลำต้น ลดการอักเสบและป้องกันการเกิดพิษต่อตับ และการเกิดแผลที่กระเพาะอาหาร สารสกัดน้ำจากรากและลำต้น ลดการอักเสบและป้องกันการเกิดมะเร็งโดยการจับอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในสัตว์ทดลอง
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/