ชื่อสมุนไพร | กระดังงาไทย |
ชื่ออื่นๆ | กระดังงาใบใหญ่ (กลาง), สะบันงา, สะบันงาต้น (เหนือ) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Cananga odorata (Lam.) Hook. f. & Thomson |
ชื่อพ้อง | Cananga mitrastigma (F.Muell.) Domin, C. odoratum (Lam.) Baill. ex King, C. scortechinii King, Canangium mitrastigma (F.Muell.) Domin, C. odoratum (Lam.) Baill. ex King, C. scortechinii King , Fitzgeraldia mitrastigma F.Muell., Unona cananga Spreng., U. leptopetala DC., U. odorata (Lam.) Dunal, U. odoratissima Blanco, U. ossea Blanco, Uvaria axillaris Roxb., U. cananga Banks, U. odorata Lam., U. ossea (Blanco) Blanco, U. trifoliata |
ชื่อวงศ์ | Annonaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 15-20 เมตร เรือนยอดทรงพุ่มแน่น แตกกิ่งก้านสาขามาก แผ่ออกจากต้นมักลู่ลง ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นสีเทาเกลี้ยงหรือสีเงิน พบรอยแผลใบขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป ส่วนที่ยังอ่อนอยู่มีขนปกคลุม ใบดกหนาทึบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อนบาง นิ่ม ออกแบบเรียงสลับในลักษณะห้อยลง รูปขอบขนาน กว้าง 4-9 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนมนกลมหรือเบี้ยว ขอบใบเป็นคลื่น ผิวใบเรียบบาง นิ่ม สีเขียวอ่อน ใบอ่อนมีขนทั้งสองด้าน ใบแก่มักมีขนมากตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบ 5-9 คู่ เป็นร่องส่วนบนของใบ และนูนเด่นชัดด้านล่างของใบ เส้นกลางใบเห็นชัดเจน ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อขนาดใหญ่บนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกแยกแขนง ช่อหนึ่งมี 3-6 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 4-6 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีขน ก้านดอกยาว 2-4 เซนติเมตร ดอกย่อยสีเหลืองอมเขียวหรือสีเหลือง มีกลิ่นหอมมาก กลีบยาวอ่อน มี 6 กลีบ กลีบดอกห้อยลง กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกรูปแคบยาว ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย (เป็นคลื่นน้อยกว่ากระดังงาสงขลา) กลีบดอกกว้าง 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาว 5-8.5 เซนติเมตร กลีบชั้นในสั้นและแคบกว่าเล็กน้อย โคนกลีบดอกจะซ้อนทแยงอยู่ใต้รังไข่ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวราว 0.5 เซนติเมตร มีขนปกคลุม ปลายกลีบกระดกขึ้น รังไข่จำนวนมาก เกสรตัวผู้มีจำนวนมากเบียดกันเป็นตุ้มแป้นทรงกลมตรงกึ่งกลางดอก ผลเป็นผลกลุ่ม มีจำนวน 4-12 ผล แต่ละผลเป็นรูปไข่ กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ก้านช่อผลยาว 2-2.5 เซนติเมตร ก้านผลยาว 1.3-2 เซนติเมตร ผลมีสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ เมล็ดรูปไข่แบน สีน้ำตาลอ่อน มี 2-12 เมล็ด ออกดอกออกผลตลอดปี ขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือกิ่งตอน
ลักษณะวิสัย
ลักษณะวิสัย
ใบ
ลำต้น
ดอก และ ดอกติดผล
ดอก
ดอก และ ดอกติดผล
ผล
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ดอก รสหอมสุขุม แก้ลมวิงเวียน ใช้ปรุงยาหอม จัดอยู่ในเกสรทั้งเจ็ด ชูกำลัง ทำให้หัวใจชุ่มชื่น บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย กระหายน้ำ แก้ไข้ ดอกแห้งผสมกับดอกไม้หอมอื่นๆสำหรับทำบุหงา เกสร แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้โรคตา ช่วยเจริญอาหาร น้ำมันหอม ใช้ปรุงน้ำหอมชั้นสูงที่มีราคาแพง ใช้ปรุงขนม น้ำอบและอาหาร คนโบราณใช้ดอกทอดกับน้ำมันมะพร้าวทำน้ำมันใส่ผม หรือนำดอกแก่จัดสด นำมารมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียนเพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตก และส่งกลิ่นหอมออกมา แล้วนำไปเสียบไม้ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้งตอนเช้า นำน้ำไปเป็นน้ำกระสายยา หรือนำไปคั้นกะทิหรือทำน้ำเชื่อมปรุงขนมต่างๆ ใบ รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้คัน ขับปัสสาวะ ราก คุมกำเนิด เปลือกต้น รสฝาดเฝื่อน ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ท้องเสีย ใช้รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เนื้อไม้ รสขมเฝื่อน ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ
องค์ประกอบทางเคมี
ดอกมีน้ำมันระเหยง่าย ประกอบด้วย ester ของกรด formic, acetic, valeric, benzoic และ salicylic acid, pinene, linalool, benzyl alcohol, geraniol, safrol, cadinene, methyl isoeugenol, caryophyllene oxide, bergamotene, anethole, spathulenol
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ ไล่แมลง ฆ่าเซลล์มะเร็ง เป็นเครื่องหอมแก้อาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ความดันโลหิตสูง ปัญหาระบบทางเดินอาหาร ใช้สงบประสาท ลดไข้
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/