ชื่อสมุนไพร | พญามุตติ |
ชื่ออื่นๆ | หญ้าจามหลวง (เชียงใหม่) กาดน้ำ กาดนา |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Grangea maderaspatana (L.) Poir. |
ชื่อพ้อง | Artemisia maderaspatana L., Cotula anthemoides Lour., C. maderaspatana (L.) Willd., C. sphaeranthus Link, Grangea adansonii Cass., G. aegyptiaca (Juss. ex Jacq.) DC., G. glandulosa Fayed, G. hispida Humbert, G. sphaeranthus (Link) K.Koch, G. strigosa Gand., Tanacetum aegyptiacum |
ชื่อวงศ์ | Compositae (Asteraceae) |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกฤดูเดียว สูง 10-30 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมากที่โคนต้น ชูยอดตั้งขึ้นหรือเลื้อยแผ่ ที่ผิวมีขนนุ่มสีขาวปกคลุมทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกกลับถึงรูปไข่กลับ กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 2-8 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบ มีส่วนเนื้อใบแผ่เป็นปีก ขอบใบเว้าลึกเป็นแฉกๆไม่เป็นระเบียบ มีขนนุ่มทั้งสองด้าน เนื้อใบอวบ ฐานใบสอบเรียว ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม ดอกเดี่ยว ดอกย่อยกระจุกแน่น ออกเดี่ยว ๆ ที่ปลายยอด รูปกลม ส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก 10-15 มิลลิเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ดอกตัวเมียเรียงเป็นชั้นวงนอก มีจำนวนมาก กลีบดอก สีเหลืองอ่อน เชื่อมกันเป็นหลอดยาว 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกเล็กน้อย มี 2 แฉก แต่ละแฉกยาว 0.1-0.3 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย รังไข่รูปรี สีเขียว ยาว 3-3.5 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกขนต่อม ก้านชูเกสรยาว 1.8-2.2 มิลลิเมตร ยอดเกสรปลายแยกเป็นสองแฉก แต่ละแฉกยาว 0.1-0.3 มิลลิเมตร ดอกสมบูรณ์เพศเรียงเป็นชั้นวงใน กลีบดอกสีขาวแกมเหลืองสด ปลายแยกเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกยาว 0.1-0.3 มิลลิเมตร มีเฉพาะดอกรูปหลอด กลีบเชื่อมกันเป็นหลอดที่ฐาน ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีขนต่อม เกสรเพศผู้มี 5 อัน ติดกัน สีเหลืองอ่อนแกมเทา ก้านชูเกสรเป็นแท่งยาว 0.2-0.3 มิลลิเมตร ติดบริเวณฐานของหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปกระสวยยาว 0.1-0.2 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย มีรังไข่รูปรี ยาว 3.5-4 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีขนต่อม ก้านชูเกสรเพศเมีย 1 อัน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายยอดเกสรแยกเป็นแฉก 2 อัน แต่ละแฉก ยาว 0.1-0.2 มิลลิเมตร ผิวมีขนต่อม มีชั้นใบประดับ สีเขียวปนสีขาว รูปใบหอก หนาแข็ง วงใบประดับมี 3 ชั้น ผิวด้านนอกมีขนประปราย วงนอกสุดรูปสามเหลี่ยมยาว 2.5-3 มิลลิเมตร กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร วงที่สองรูปสามเหลี่ยมยาว 3-3.5 มิลลิเมตร กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร วงในสุดรูปหอก ยาว 4-4.5 มิลลิเมตร กว้าง 1-1.5 มิลลิเมตร ผลแห้ง เมล็ดล่อน เมล็ดยาวราว 2 มิลลิเมตร รูปทรงกระบอกกลม ออกดอกราวเดือนมกราคมถึงเมษายน
ลักษณะวิสัย
ดอก และ ใบ
ดอก และ ใบ
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ทั้งต้น ตำพอกแก้ปวดบวม ทั้งต้นและราก นำมาตำ ทาแก้โรคอีสุกอีใส
ตำรายาไทยใช้ ใบ รสร้อน แก้ไอ ฆ่าเชื้อโรค ชำระบาดแผล คั้นเอาน้ำหยอดแก้เจ็บหู ทั้งต้น รสร้อน บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ แก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ท้องร่วง ช่วยระงับประสาท ขับระดู ตำพอกแก้ปวดบวม
ประเทศอินเดียใช้ ใบ รักษาอาการปวดท้อง เป็นยาระบาย ทำยาป้ายลิ้นสำหรับขับระดู และแก้ฮีสทีเรีย
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
สารสกัดแอลกอฮอล์จากทั้งต้น มีฤทธิ์ต้านเชื้อบิด ลดการบีบตัวของลำไส้ ลดความดันโลหิต กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในสัตว์ทดลอง มีการทดลองในสตรีมีครรภ์พบว่ากระตุ้นการบีบตัวของมดลูก อาจทำให้แท้งได้ การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดแอลกอฮอล์จากทั้งต้น มีความเป็นพิษปานกลาง (LD50 = 681 มก./กก.)