ชื่อสมุนไพร | เครือปลาสงแดง |
ชื่ออื่นๆ | เครือเจ็น (เชียงใหม่), เครือซุด, เครือซุดแดง, ชัยสง(เลย), เครืออีโม้, เต่าไห้ (ตราด), เถาโก (ประจวบคีรีขันธ์), เถายอดแดง (อ่างทอง), เถาวัลย์แดง, หัวขวาน (ชลบุรี), ปอเต่าไห้ (จันทบุรี), หุนน้ำ (สระบุรี) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Ichnocarpus frutescens (L.) W.T.Aiton |
ชื่อพ้อง | Aganosma affinis (Roem. & Schult.) G.Don, Apocynum crassifolium Salisb., A. frutescens L. , Beluttakaka malabarica (Lam.) Kuntze, Carruthersia daronensis Elmer, Chonemorpha bantamensis G.Don, C. malabarica (Lam.) G.Don, Echites affinis Roem. & Schult., E. bantamensis Blume, E. ferrugineus Thunb., E. frutescens (L.) Roxb., E. malabaricus Lam., E. trichonemus Zipp. ex Span, Gardenia volubilis Lour., Ichnocarpus affinis (Roem. & Schult.) K.Schum., I. bantamensis (Blume) Miq., I. dasycalyx Miq., I. leptodictyus F.Muell., I. microcalyx Pit., I. moluccanus Miq., I. ovatifolius A.DC., I. oxypetalus Pit., I. sogerensis Wernham ex S.Moore , I. volubilis (Lour.) Merr., Micrechites sinensis Markgr., Periploca palvallii Dennst., Quirivelia bantamensis (Blume) F.N.Williams, Q. frutescens (L.) M.R.Almeida & S.M.Almeida, Q. zeylanica Poir., Springia indica Van Heurck & Müll.Arg., Tabernaemontana parviflora Poir., Thyrsanthus parviflorus |
ชื่อวงศ์ | Apocynaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ยาว 2-8 เมตร แตกกิ่งก้านมาก กิ่งอ่อนมีขนสั้นๆ เถาสีน้ำตาลแดง เถาอ่อนมีขนสีน้ำตาล ทุกส่วนมีน้ำยางขาว ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบหนา เรียบ สีเขียวเข้ม มีขนตามเส้นใบ ใบรูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 2.5-4.5 ซม. ยาว 7-11 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงมน ขอบใบเรียบ หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนประปรายที่เส้นใบ เส้นใบหลัก 5-7 คู่ ก้านใบยาว 0.8-1.2 ซม. อาจพบขนหรือไม่มี ดอกช่อแยกแขนง มีกลิ่นหอมเย็นอ่อนๆ ดอกมีขนาดเล็ก ออกที่ซอกใบ และปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมาก 11-80 ดอก ก้านดอกย่อยยาว 2-3 มม. มีขนสั้นหนานุ่ม ก้านช่อดอกยาว 0.3-4.2 ซม. มีขนสั้นหนานุ่ม กลีบดอกสีขาว หรือสีเหลืองนวล กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด หลอดกลีบรูปถ้วย กว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 2.0-2.5 มม. ปลายแยก 5 กลีบ ปลายแฉกมน รูปไข่ กว้าง 1.5-2.0 มม. ยาว 2.0-2.5 มม. โดยด้านข้างของส่วนปลายกลีบจะยื่นยาวคล้ายหาง 2-3 มม. ขอบเป็นคลื่น มีขนอุยที่โคนแฉกด้านในและขนสั้นนุ่มตามขอบ ส่วนด้านนอกเกลี้ยง ทำให้มองเห็นขอบกลีบเป็นฝอยละเอียด กลีบดอกเรียงบิดเวียนขวา ใบประดับ 2 อัน รองรับช่อดอกย่อย รูปไข่ กว้าง 0.5 มม. ยาว 1.0-1.5 มม. ขอบเรียบ พบขนสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วผิวด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบเลี้ยง หลอดกลีบรูปถ้วยสั้นๆ กว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 1.5 มม. ปลายแยกแฉกแหลม รูปไข่หรือคล้ายสามเหลี่ยม สีเขียว มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นสีน้ำตาลแดง เกสรเพศผู้สีเหลือง ผิวเกลี้ยง อับเรณูยาว 1 มม. ติดที่ฐาน โคนมน ปลายเรียวแหลม ซึ่งแตะล้อมรอบ ก้านและยอดเกสรเพศเมีย ก้านชูอับเรณูยาว 2-3 มม. อยู่สูงจากโคนหลอดดอกประมาณ 1 มม. เกสรเพศเมีย รังไข่เหนือวงกลีบ เกิดจาก 2 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมี 15-35 ออวุล รังไข่มีขนสั้นนุ่มและใสที่ผิวด้านบน โคนเชื่อมกัน ปลายแยก ก้านเกสรเพศเมียยาว 1 มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียยาว 1 มม. เกลี้ยง สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน จานฐานดอก 5 อัน แยกกัน รูปไข่หรือคล้ายขวด ยาว 0.5-1.0 มม. โคนเชื่อมแตะรังไข่ ปลายมนหรือกลม เกลี้ยง สีขาวหรือขาวอมเหลือง ผลเป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอก ปลายแหลม กว้าง 1.6-5 มิลลิเมตร ยาว 3-10.5 เซนติเมตร เมื่อฝักแห้งแตกตะเข็บเดียว เมล็ดสีน้ำตาล มีกระจุกขนสีขาวคล้ายเส้นไหมติดอยู่ที่ปลายเมล็ด ออกดอกราวเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม พบกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณผสม พื้นที่โล่ง ป่าดงดิบ ป่าโปร่ง ป่าพรุ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 850 เมตร
ลักษณะวิสัย
ใบ
ดอก
ดอก
ดอก
ผล
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ราก ผสมรากมะเฟืองเปรี้ยว รากตะโกนา และรากตีนนก ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย
ตำรับยาอายุรเวทของอินเดียใช้ ทั้งต้น แก้อาการเลือดออกที่เหงือก, อาการชัก, ไอ, แก้อาการเพ้อคลั่ง, แก้บิด, ลิ้นอักเสบ, ปัสสาวะเป็นเลือด, แก้หัด, ตาบอดกลางคืน, บรรเทาปวดจากแมลงกัด, แก้ม้ามโต, แก้วัณโรค, แก้เนื้องอกในช่องท้อง
ประเทศบังคลาเทศใช้ ราก เป็นยาเย็น ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้อาหารไม่ย่อย แก้โรคผิวหนัง เบาหวาน นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ใบ แก้ปวดศีรษะ แก้บาดแผล ป้องกันฟันผุ ใบและลำต้น เป็นยาต้ม แก้ไข้ แก้หิด
องค์ประกอบทางเคมี
ลำต้นพบสาร amyrin, lupeol, friedelin, epi-friedelinol, beta-sitosterol
ใบพบสารฟลาโวน apigenin, luteolin สารไกลโคฟลาโวน vitexin, isovitexin สารอื่นๆเช่น proanthocyanidin, phenolic acids, vanillic, syringic, synapic acid, protocatechuic acid, ursolic acid acetate, kaemferol, kaemferol-3-galactoside (trifolin)
รากพบ beta-sitosterol ดอกพบ quercetin, quercetin-3-O-beta-D-glucopyranoside