ชื่อสมุนไพร | คันทรง |
ชื่ออื่นๆ | ก้านเถิง, ผักก้านถึง (เหนือ), ก้านตรง (สุรินทร์), กะทรง (ใต้) คันทรง คันชุง (กลาง) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Colubrina asiatica (L.) Brongn. |
ชื่อพ้อง | Ceanothus asiaticus L., C. capsularis G.Forst., Colubrina capsularis G. Forst., Pomaderris capsularis (G. Forst.) G. Don, Rhamnus acuminata Colebr. ex Roxb., R. asiatica (L.) Lam. ex Poir. , R. splendens Blume, Sageretia splendens (Blume) G. Don, Tubanthera katapa |
ชื่อวงศ์ | Rhamnaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มขนาดกลางกึ่งเลื้อย ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมากตั้งแต่โคนต้น เปลือกต้นสีเขียวเข้มเป็นมัน สูง 1-9 เมตร เปลือกลำต้นมีรอยแตกเป็นร่องตื้นๆ ถี่ๆ และตามลำต้นมีตาที่ทิ้งใบเป็นตุ่มห่างๆ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ รูปไข่กว้าง หรือรูปหัวใจ กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 5-9 เซนติเมตร ก้านใบยาว 1-1.6 เซนติเมตร มีขน โคนใบตัดและหยักเว้าคล้ายรูปหัวใจตื้น ปลายใบแหลม ขอบใบหยักมนแกมฟันเลื่อยละเอียด แผ่นใบบาง หลังใบเรียบ ท้องใบมีขนที่เส้นใบ ผิวใบมันเงาทั้งสองด้าน มีเส้นใบ 3 เส้น ออกจากโคนใบ เส้นใบข้าง 3-4 เส้น ออกจากเส้นกลางใบ หูใบขนาดเล็ก ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร ดอกช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ ช่อดอกยาว 1 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาว 2-3 มิลลิเมตร ดอกย่อยประกอบด้วยดอกสมบูรณ์เพศ 2-3 ดอก และดอกตัวผู้หลายดอก เกสรตัวผู้มี 5 อัน กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาวเท่ากับเกสรเพศผู้ ประมาณ 1 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศผู้ติดอยู่ ปลายกลีบดอกแหลม โคนกลีบดอกติดกันที่ฐานดอก จานรองสีเหลืองส้ม รังไข่มี 2-3 ห้อง หลอมรวมกับจานรอง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม สีเขียวสด ผลสด รูปทรงกลม คล้ายหม้อดิน ผิวเรียบเป็นมัน สีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-9 มิลลิเมตร ที่ขั้วผลมีวงกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่ ปลายผลเว้าเข้า แบ่งเป็น 3 พู ก้านผลยาว 4-6 มิลลิเมตร เมล็ด ขนาดเล็ก แบน ขนาด 5-6 x 4-5 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเทา มี 3 เมล็ด พบมากตามชายทะเล หรือชายหาดหินปูน หรือในป่าละเมาะตามที่รกร้าง ใบอ่อน ยอดอ่อน นำมาต้มให้สุก เป็นผักจิ้ม หรือใส่แกง ออกดอกราวเดือนมิถุนายน ถึงกันยายน ติดผลราวเดือนกันยายน ถึงธันวาคม
ลักษณะวิสัย
ลำต้น
ใบ
ดอก
ผล
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ราก ฝนกับน้ำมะพร้าว กินแก้บวม ตานขโมย (โรคพยาธิในเด็กอายุ 5-13 ปี มีอาการซูบผอม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องเสีย)
ตำรายาไทยใช้ ราก รสฝาดเฝื่อน แก้อาการบวม น้ำเหลืองเสีย กินแก้ร้อนในกระหายน้ำ ใบและเปลือกต้น รสฝาดเฝื่อน ต้มน้ำอาบแก้เม็ดผื่นคัน แก้บวมทั้งตัว เนื่องจากโรคไตหรือโรคหัวใจพิการ น้ำเหลืองเสีย และเหน็บชา ใบ ปรุงยาต้มทาบรรเทาอาการระคายเคืองที่ผิว และรักษาโรคผิวหนังบางชนิด ผล ทำให้แท้ง ใช้เบื่อปลา
ประเทศมาเลเซียใช้ ต้น ต้มกินบรรเทาอาการโรคกระเพาะอาหาร ใบ มีรสขม ช่วยเจริญอาหาร ยาต้มจากใบ ทาแก้อาการแพ้ ผื่นคัน โรคผิวหนังอักเสบ ฝี ผล ทำให้แท้งบุตร น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคข้อรูมาติก แก้อาการชา แก้ปวดตามตัว และศีรษะ แก้ไข้ บรรเทาปวด
ชาวฮาวายใช้ ใบ แทนสบู่ และ ผล ใช้เบื่อปลา
องค์ประกอบทางเคมี
พบสารกลุ่มซาโปนิน colubrine, colubrinoside มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน, สารแลคโตน ebelin สารกลุ่มฟลานอยด์ เช่น kaempferol-3-O-rutinoside, rutin
ข้อควรระวัง ทั้งผลและใบ มีสารซาโปนิน การบริโภคมากเกินไปทำให้เกิดอันตรายได้ และทำให้ง่วงนอน ผล ทำให้แท้งบุตรได้ ในสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานทั้งใบและผล