ชื่อสมุนไพร | มะแว้งต้น |
ชื่ออื่นๆ | มะแคว้ง มะแคว้งขม มะแคว้งคม มะแคว้งดำ (เหนือ) หมากแข้งขม หมากแข้ง(อีสาน) แว้งคม (สุราษฎร์ธานี, สงขลา) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Solanum indicum L |
ชื่อพ้อง | Solanum indicum var. maroanum Bitte, Solanum indicum var. lividum (Link) Bitter, Solanum anguivi Lam., Solanum lividum |
ชื่อวงศ์ | Solanaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มขนาดเล็ก อายุ 2-5 ปี สูงประมาณ 1 เมตร ลำต้นมีขนาดเล็ก กลม เนื้อแข็ง สีเขียวอมเทา แตกกิ่งก้าน ทั้งต้นมีขนนุ่มสีเทาปกคลุม และมีหนามแหลม ขึ้นกระจายอยู่ทั่วต้น เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปรี ขอบใบหยักเว้ามน มีคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาว มีหนาม ใบแผ่กว้าง ใบยาว 5-10 เซนติเมตร กว้าง 4-6 เซนติเมตร ปลายใบแหลมเล็กน้อย โคนใบมน ขอบใบเว้าเข้าหาเส้นกลางใบ ก้านใบ หลังใบ และท้องใบมีขนสั้นๆปกคลุม โดยท้องใบจะมีขนหนาแน่นกว่าหลังใบ และมีหนามสั้นๆ ดอกออกเป็นกระจุกที่ง่ามใบหรือปลายกิ่ง มี 3-6 ดอก ดอกมีสีม่วงอ่อน กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลือง 5 อัน เชื่อมติดกันกับโคนกลีบดอก ปลายกลีบดอกแยกออกเป็น 5 แฉก คล้ายรูปดาว ปลายแหลม ก้านดอกมีหนามเป็นตุ่มเล็กๆ ยาว 5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก แหลม ด้านนอกมีขน ผลรูปกลม ผิวเรียบเกลี้ยงมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียวหรือขาว ไม่มีลาย ผลสุกมีสีแดงส้ม หรือสีเหลืองอมส้ม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนาดเท่ากับมะแว้งเครือ แต่มีสีเขียวมากกว่า และรสขมจัดกว่า ภายในผลมีเมล็ด รูปกลมแบน สีน้ำตาลอ่อน ขนาดเล็ก จำนวนมาก ผลอ่อนใช้กินเป็นผักสดได้ อาจนำไปลวกหรือเผาจิ้มน้ำพริก
ลักษณะวิสัย
ดอก และ ใบ
ดอก และ ใบ
ดอก ใบ และ ผล
ผล
ผล
ผล
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ผลและราก รสขมเปรี้ยว เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้ปวดฟัน แก้ไซนัส ขับลม แก้ปวดหัว ปวดบวมอักเสบ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ปวดกระเพาะ แก้ฟกช้ำดำเขียว และใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงน้ำดี และช่วยเจริญอาหาร ผลสุกและผลดิบ รสขมขื่นเปรี้ยว แก้โรคเบาหวาน ละลายก้อนนิ่ว แก้ไข้สารพัดพิษ ช่วยเจริญอาหาร แก้กินผิดสำแดง ลดน้ำตาลในเลือดได้บ้าง แก้ไอ ขับเสมหะ ขับลม แก้ไข้เพื่อเสมหะในคอ แก้น้ำลายเหนียว ขับปัสสาวะ บำรุงน้ำดี ราก รสขมขื่นเปรี้ยว ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว เป็นยาแก้ไอ ขับลม แก้คัน ขับปัสสาวะ แก้ไข้สันนิบาต รักษามะเร็งเพลิง บำรุงธาตุ รักษาวัณโรค ใบ บำรุงธาตุ แก้วัณโรค แก้ไอ เนื้อไม้ แก้แน่น แก้จุกเสียด ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับพยาธิ
วิธีใช้ ตำรายาไทยใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ใช้ ผลแห้งและสด ประมาณ 5-10 ผล ตำให้แหลก คั้นเอาแต่น้ำ ผสมเกลือเล็กน้อย รับประทาน
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ข้อมูลตำรับยาประสะมะแว้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/