ชื่อสมุนไพร | สะบ้ามอญ |
ชื่ออื่นๆ | มะนิม หมากงิม สะบ้า สะบ้าช้าง มะบ้า มะบ้าหลวง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Entada rheedii Spreng. |
ชื่อพ้อง | Adenanthera gogo Blanco, Entada gogo (Blanco) I.M.Johnst., E. monostachya DC., E. pursaetha DC., E. pusaetha DC. [Spelling variant], E. rheedei Spreng. [Spelling variant], E. scheffleri Ridl., Mimosa entada |
ชื่อวงศ์ | Leguminosae - Mimosoidaea |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น สูง 10-20 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นมักคดงอหรือบิดเป็นเกลียว เปลือกนอกเรียบสีน้ำตาลแก่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงตรงข้าม ใบย่อย 3-4 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ กว้าง 1.3-3.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-7 เซนติเมตร ปลายใบแหลมถึงทู่เล็กน้อย และมักมีติ่งแหลม ก้านใบยาว 4.0-7.6 ซม. มีขนเล็กน้อยกระจายทั่วไป แผ่นใบเกลี้ยง อาจพบขนโค้งงอเล็กน้อยที่โคนใบและเส้นกลางใบ เส้นใบ 7-11 คู่ ดอกแบบช่อกระจะ สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ออกที่ซอกใบ ยาว 18-23 ซม. ก้านช่อดอกยาว 6.5-9.2 ซม. เกลี้ยง ดอกย่อยขนาดเล็ก 195-237 ดอก ก้านดอกสั้นมาก ยาวประมาณ 0.5 มม. เกลี้ยง ใบประดับ 1 อัน รูปแถบหรือคล้ายท้องเรือ ยาว 1-2 มม. โคนตัด ปลายแหลม ขอบเรียบ สีเขียว มีขนเล็กน้อย กลีบรองดอกรูปถ้วย ปากกว้าง หลอดกลีบ กว้างไม่เกิน 0.5 มม. ยาว 1 มม. ปลายแยกแฉกแหลมตื้น เกลี้ยง สีเขียว กลีบดอก 5 กลีบ แยกกัน รูปรีแคบถึงรูปหอก กว้าง 0.5-1.0 มม. ยาว 2.5-3.0 มม. โคนตัดและแตะกับกลีบเลี้ยงและเกสรเพศผู้ เกสรเพศผู้ 10 อัน อับเรณู 2 พู ยาวประมาณ 0.5 มม. สีเหลือง ก้านชูอับเรณูเชื่อมกันที่โคนเล็กน้อย ประมาณ 1.0 มม.ปลายแยกกันยาว 6-9 มม. สีขาวหรือสีขาวอมเหลือง รังไข่เกลี้ยง รูปไข่ ขนาด 0.5 มม. อาจพบถึง 1 มม. ก้านรังไข่สั้นมาก ก้านและยอดเกสรเพศเมียยาว 0.5 มม. สีขาวหรือสีขาวอมเหลือง มักหลุดร่วงง่าย ผล เป็นฝักรูปขอบขนานตรง หรือคดงอและบิดไปมา กว้าง 7-15 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 2 เมตร เปลือกผลแข็งเป็นเนื้อไม้ แต่ละผลมี 13-15 เมล็ด แต่ละข้อมี 1 เมล็ด เมื่อแก่ข้อจะหักเป็นท่อนๆ เมล็ดสีน้ำตาล ถึงแดงคล้ำ รูปกึ่งกลม แบน แข็ง ผิวมันเรียบ กว้าง 4.3-4.6 ซม. ยาว 4.8-5.2 ซม. หนา 1.9-2.1 ซม. เนื้อในเมล็ดสีขาวนวล มักขึ้นพันไม้อื่นตามริมลำธารบริเวณป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงได้ถึง 900 เมตร ออกดอกช่วงเดือน มีนาคมถึงพฤษภาคม ติดผลราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม และเป็นผลขนาดใหญ่ ราวเดือนกันยายน
ลักษณะวิสัย
เถา และ ใบ
เถา และ ใบ
ใบ และ เถา
ดอก ใบ และ เถา
ผล เถา และ ใบ
เถา อายุ 400 ปี
เถา อายุ 400 ปี
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสาน ใช้ เมล็ด หรือราก ฝนเหล้า ทาและฝนน้ำ แก้โรคผิวหนัง และแผลเรื้อรัง ทั้งต้น ผสมในลูกประคบ แก้ปวดข้อ ปวดเมื่อย
ตำรายาไทย เนื้อในเมล็ดดิบ รสเบื่อเมา แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน แก้โรคเรื้อน แก้กลากเกลื้อน คุดทะราด มะเร็ง ฆ่าเชื้อโรคผิวหนัง เข้ายาแก้ไข้พิษเซื่องซึม แก้หืด เมล็ดในสุมให้ไหม้เกรียมปรุงเป็นยารับประทานแก้พิษไข้ตัวร้อน แก้ไข้ที่มีพิษจัดและเซื่องซึม เถา รสเมา ตำพอกผมหรือผิวหนัง ฆ่าพยาธิผิวหนัง
ประเทศฟิลิปปินส์ ใช้ เปลือกต้น ต้มและนำน้ำมาสระผมกันรังแค ใช้น้ำจากเปลือกต้นทาแก้คันและโรคผิวหนังที่เป็นสะเก็ด เปลือกใช้เบื่อปลาได้
องค์ประกอบทางเคมี
เปลือกและลำต้น มีสาร saponin ซึ่งมีโครงสร้างส่วน sapogenin เป็นสาร oleanolic acid เมล็ดมี triterpenoid entagenic acid
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/