ปอบิด

ชื่อสมุนไพร

ปอบิด

ชื่ออื่นๆ

ขี้อ้นใหญ่ ปอทับ(เชียงใหม่) มะบิด(เหนือ) ลูกบิด ชะมด (กลาง) ปอลิงไช ซ้อ

ชื่อวิทยาศาสตร์

Helicteres isora L.

ชื่อพ้อง

Helicteres grewiaefolia DC., Helicteres roxburghii G. Don, Isora grewiaefolia (DC.) Schott & Endl., Ixora versicolor

ชื่อวงศ์

Malvaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
              ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นกอตั้งแต่โคนต้น ทุกส่วนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม กิ่งอ่อนมีขนรูปดาวหนาแน่น มีช่องอากาศ เปลือกลำต้นเรียบ มียางเหนียว ใบเดี่ยว เรียงเวียนรูปไข่ กว้าง 5.5-7.5 ซม. ยาว 8.5-15 ซม. ปลายใบเป็นแฉก ไม่เป็นระเบียบ 3-5 แฉก แฉกกลางสุดยาวคล้ายหาง โคนใบกลมหรือรูปหัวใจ ขอบหยักคล้ายฟันปลา แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนสากคาย ด้านล่างมีขนรูปดาว หรือขนสั้นหนานุ่ม เส้นโคนใบ 3-5 เส้น เส้นใบย่อย แบบขั้นบันไดชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบ ยาว 0.5-2 ซม. มีขน หูใบรูปแถบ ยาว 3-7 มม. ช่อดอก แบบช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ มี 5-8 ดอก ก้านช่อดอกสั้น ก้านดอก ยาว 3-5 มม. มีขน ใบประดับและใบประดับย่อย รูปแถบ ยาว 3-5 มม. กลีบเลี้ยงมีสีเหลืองอมเขียวอ่อน ยาว 1-2 ซม. เบี้ยว ติดทน มีขนรูปดาวถึงขนสั้นหนานุ่ม โคนกลีบเชื่อมกันเป็นหลอด ยาว 2-2.5 ซม. ปลายแยกเป็นแฉก ไม่เท่ากัน 5 แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว 5-9 มม. กลีบดอกสีแดงอมส้ม มี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปหอกกลับ ยาว 2.5-3 ซม. โค้งพับลง กลีบคู่บนมีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ปลายกลีบมน เกสรเพศผู้และเพศเมีย มีก้านชูยื่นยาว โผล่พ้นกลีบดอกออกมามาก เกสรเพศผู้สีเหลือง 10 อัน โคนเชื่อมกันเป็นหลอด รูปถ้วย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ อยู่ภายในหลอด ก้านชูอับเรณู มีขนหนาแน่น มี 5 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก เกสรตัวเมีย 5 อัน ผล แบบผลแห้งแตก สีน้ำตาลเข้ม มีขนปกคลุม ผลรูปทรงกระบอก ผิวไม่เรียบ สากมือ กว้าง 7-10 มม. ยาว 3-6 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่มีสีน้ำตาลหรือดำ ผลเป็นฝักกลมยาวบิดเป็นเกลียวเหมือนเกลียวเชือก หลังผลแตก ฝักจะอ้าออกเห็นเมล็ดรูปกึ่งสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด สีน้ำตาล ยาว 2-2.5 มม. เกลี้ยง พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ชายป่าดิบ ที่รกร้าง ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-400 เมตร ออกดอกและเป็นผลตลอดทั้งปี เปลือกลำต้นและกิ่ง ให้เส้นใยใช้ทำเชือก กระสอบ กระดาษ ในสมัยก่อนในชวาใช้ทำกระสอบ ในอินเดีย ใช้ทำกระดาษ ต้นปลูกเป็นไม้ประดับ กิ่งและใบ ใช้เป็นอาหารสัตว์

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ใบ และ ดอก

 

 

ใบ และ ดอก

 

 

ดอก

 

 

ผล

 

ผล


สรรพคุณ
               ตำรายาไทย เปลือกต้น ราก และผล รสขม ฝาดเล็กน้อย เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อม้าม ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้กระเพาะอาหาร หรือลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือเป็นแผล แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ไข้หวัดตัวร้อน ขับเสมหะ ขับลม แก้บิด ปวดเบ่ง เปลือกต้น ราก รสฝาดเฝื่อน บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง แก้บิด ขับเสมหะ ผล รสฝาด แก้ปวดท้อง แก้กระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบเรื้อรัง แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ ขับลม ขับเสมหะ แก้เสมหะพิการ แก้บิด แก้ท้องเสีย ปวดเบ่ง ตำพอกแก้เคล็ด ขัด บวม ใช้ภายในหรือภายนอก แก้โรคทางลำไส้ โดยเฉพาะในเด็ก แก้บิด ผล เปลือก ฝาดสมานให้เส้นเอ็น ทั้งต้น  แก้กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
             ในมาเลเซีย และตอนใต้ของไทย ใช้ ผลแห้ง  เป็นยาบำรุง โดยเฉพาะหลังคลอดบุตร

             ประเทศจีน ใช้ ราก รักษาอาการไตอักเสบเรื้อรัง แผลในกระเพาะอาหาร

 

องค์ประกอบทางเคมี  ผลพบสารฟลาโวนอยด์ isoscutellarein 4'-methyl ether 8-o-β-D-glucuronide,  isoscutellarein 4'-methyl ether 8-o-β-D-glucuronide 2'', 4''-disulfide,  isoscutellarein 4'-methyl ether 8-o-β-D-glucuronide 6''-n-butylester

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting