เครือหมาน้อย

ชื่อสมุนไพร

เครือหมาน้อย

ชื่ออื่นๆ

กรุงเขมา (กลาง นครศรีธรรมราช) หมอน้อย (อุบลราชธานี)ก้นปิด (ตะวันตกเฉียงใต้) ขงเขมา พระพาย (ภาคกลาง) เปล้าเลือด (แม่ฮ่องสอน) สีฟัน (เพชรบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Cissampelos pareira L. var. hirsuta (Buch. ex DC.) Forman.

ชื่อพ้อง

Cissampelos poilanei

ชื่อวงศ์

Menispermaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้เถาเลื้อย เนื้อไม้แข็ง มีขนนุ่มสั้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ไม่มีมือเกาะ มีรากสะสมอาหารใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยว มีหลายรูป เช่น รูปหัวใจ รูปกลม รูปไต หรือรูปไข่กว้าง ก้นใบปิด ออกแบบสลับ กว้าง 4.5-12 เซนติเมตร ยาว 4.5-11 เซนติเมตร ปลายใบส่วนมากมนหรือเรียวแหลม โคนใบกลมตัด หรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ เนื้อบางคล้ายกระดาษ มีขนนุ่มสั้นกระจาย ทั้งหลังใบ และท้องใบ ใบเมื่อยังอ่อนจะมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน และตามขอบใบ แต่จะร่วงไปเมื่อใบแก่ เส้นใบออกจากโคนใบรูปฝ่ามือ ก้านใบยาว 2-9 เซนติเมตร ขนนุ่มสั้น หรือเกือบเกลี้ยง ติดที่โคนใบห่างจากขอบใบขึ้นมา 1-18 มิลลิเมตร ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งหนาม ดอกออกเป็นช่อกระจุกสีขาว ขนาดเล็กประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร ดอกแยกเพศ และอยู่ต่างต้นกัน เรียงแบบช่อเชิงหลั่น มีขนาดเล็ก แต่ละช่อกระจุกมีก้านช่อดอกยาว 2-4 เซนติเมตร มีขนนุ่มสั้น ออกกระจุกเดี่ยวๆหรือ 2-3 กระจุกในหนึ่งช่อ ช่อดอกเพศผู้ ออกตามง่ามใบ ก้านช่อกระจุกแตกแขนง ยืดยาว ประกอบด้วยกระจุกดอกอยู่ตามง่ามใบประดับ ใบประดับรูปกลม และขยายใหญ่ขึ้น ดอกเพศผู้ สีเขียวหรือสีเหลือง มีก้านดอกย่อยยาว 1-2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1.25-1.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนยาวห่าง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน อับเรณูยาว 0.75 มิลลิเมตร ช่อดอกเพศเมีย เป็นช่อคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ทรงแคบ ยาวถึง 18 เซนติเมตร ประกอบด้วยช่อดอกที่เป็นกระจุกติดแบบคล้ายเป็นช่อกระจะ แต่ละกระจุกอยู่ในง่ามของใบประดับ ใบประดับรูปกลม เมื่อขยายใหญ่ขึ้นยาวถึง 1.5 เซนติเมตร มีขนประปรายหรือขนยาวนุ่ม ดอกเพศเมีย มีก้านดอกย่อยยาว 1-1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 1 กลีบ รูปไข่กลับกว้าง ยาว 1.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 1 กลีบ รูปไข่กลับกว้าง ยาว 0.75 มิลลิเมตร โคนสอบแคบไม่มีเกสรเพศผู้ปลอม เกสรเพศเมียมี 1 อัน ขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร มีขนยาวห่าง ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 พู กางออก ผลสด มีก้านอวบใหญ่ ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร สีส้ม ผลทรงกลมรีอยู่ตรงปลาย เมื่อสุกสีน้ำตาลแดง เมล็ดโค้งงอรูปพระจันทร์ครึ่งซีก ผิวขรุขระ มีรอยแผลเป็นของก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม ผนังผลชั้นในรูปไข่กลับ ยาว 5 มิลลิเมตร ด้านบนมีสันขวาง 9-11 สัน เรียงเป็น 2 แถว ชัดเจน ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดหรือเหง้า พบในป่าดิบ ป่าผลัดใบ และป่าไผ่ ตามริมแม่น้ำลำธาร ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงธันวาคม เถาและใบคั้นเอาน้ำเมื่อผสมกับเครื่องปรุงอาหาร จะมีลักษณะเป็นวุ้น รับประทานเป็นอาหาร

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ช่อดอก

 

ผล

 

สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ส่วนเหนือดิน เป็นยาแก้ร้อนใน แก้โรคตับ ราก มีกลิ่นหอม รสสุขุม ใช้แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีล้น ดีซ่าน เป็นยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย แก้ไข้มาลาเรีย ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ยาอายุวัฒนะ ยาช่วยย่อย แก้ท้องร่วง บวมน้ำ แก้ไอ ขัดเบา กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และใช้ในรายถูกงูกัด เป็นยาลดไข้ แก้ปวดท้อง โรคหนองใน ราก รสหอมเย็นสุขุม แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีซ่าน เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง แก้ลม โลหิต กำเดา แก้โรคตา ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ใช้เคี้ยว แก้ปวดท้อง และโรคบิด ระบายนิ่ว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไอเจ็บหน้าอก เป็นยาขับเหงื่อ ยาขับระดู ยาบำรุง ยาสงบประสาท ยาขับน้ำเหลืองเสีย ยาสมาน รากและใบ พอกเป็นยาเฉพาะที่ แก้โรคผิวหนัง หิด ลำต้น ดับพิษไข้ทุกชนิด บำรุงโลหิตสตรี เป็นยาพอกแก้ตาอักเสบ เนื้อไม้ แก้โรคปอด และโรคโลหิตจาง ใบ แก้ร้อนใน พอกแผล ฝี แก้แผลมะเร็ง แก้หืด ใช้ทาภายนอกแก้หิด

องค์ประกอบทางเคมี    
              ราก พบแอลคาลอยด์ปริมาณสูง เช่น hyatine, hyatinine, sepurine, beburine, cissampeline, pelosine นอกจากนี้ยังพบ quercitol, sterol  แอลคาลอยด์ hyatine มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและลดความดันโลหิต (ฤทธิ์เทียบเท่ากับ d-tubercurarine ที่ได้จากยางน่อง)  cissampeline แสดงฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ ใบมีสารพวกเพคติน เมื่อขยำใบกับน้ำ เมื่อทิ้งไว้จะแข็งตัวเป็นวุ้น

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting