โด่ไม่รู้ล้ม

ชื่อสมุนไพร

โด่ไม่รู้ล้ม

ชื่ออื่นๆ

ขี้ไฟนกคุ่ม คิงไฟนกคุ่ม เคยโบ้ ตะชี โกวะ หญ้าไก่นกคุ่ม หญ้าปลาบ หญ้าไฟนกคุ่ม หญ้าสามสิบสองหาบ หนาดผา หนาดมีแคลน

ชื่อวิทยาศาสตร์

Elephantopus scaber var. scaber L.

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Asteraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             พืชล้มลุก ลำต้นสั้น กลม ชี้ตรง สูง 10-30 เซนติเมตร ตามผิวลำต้น และใบมีขนสีขาวตรงละเอียด ห่าง สาก ทอดขนานกับผิวใบ ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว อยู่บริเวณเหนือเหง้า ติดเป็นวงกลมเรียงสลับชิดกัน คล้ายแบบกระจุกกุหลาบซ้อนที่โคนต้น ใบรูปหอกกลับ หรือรูปไข่แกมใบหอกกลับ แผ่นใบยาว 8-20 เซนติเมตร กว้าง 3-5 เซนติเมตร ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบ ผายกว้าง แล้วสอบแหลมทู่ๆ ส่วนโคนใบสอบแคบจนถึงก้านใบ ผิวใบมีขนสากทั้งสองด้าน ท้องใบมีขนมากกว่าหลังใบ ขนตรงห่างสีขาว และขนต่อม ห่าง ขอบใบหยักมน หรือจักฟันเลื่อยห่างๆ เส้นแขนงใบมี 12-15 คู่ ใบมักแผ่ราบไปกับพื้นดิน เนื้อใบหนาสาก ก้านใบยาว 0.5-2 เซนติเมตร หรือไม่มีก้านใบ ดอกช่อแทงออกจากกลางต้น ช่อดอกรูปขอบขนาน มี 4 ดอกย่อย ยาว 8-10 มิลลิเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร ดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกรูปหลอดสีม่วง หลอดกลีบดอกยาว 3-3.5 มิลลิเมตร เกลี้ยง ปลายกลีบดอกยาว 1.5-2 มิลลิเมตร ไม่มีขน เกสรเพศผู้สีเหลือง มีอับเรณูยาว 2.2-2.3 มิลลิเมตร ปลายแหลม ฐานเป็นติ่งแหลม ก้านชูอับเรณูยาว 1.5-1.7 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมีก้านเกสรยาว 7-8 มิลลิเมตร ยอดเกสรยาว 0.5-0.6 มิลลิเมตร มีขนที่ปลายยอดและสิ้นสุดที่รอยแยก แต่ละช่อย่อยมาอยู่รวมกันเป็นช่อกระจุกกลมที่ปลายก้านดอก บริเวณโคนกระจุกดอกมีใบประดับแข็งรูปสามเหลี่ยม แนบอยู่ 3 ใบ ยาว 1-2 เซนติเมตร กว้าง 0.5-1.5 เซนติเมตร ขอบเรียบ ปลายเรียวแหลม ผิวใบทั้งสองด้านมีขนตรงสีขาว ออกที่ปลายยอดแบบช่อแยกแขนง ก้านช่อดอกยาวถึง 8 เซนติเมตรมีขนสากๆทั่วไป ฐานรองดอก แบน เกลี้ยง เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-0.7 มิลลิเมตร วงใบประดับรูปขอบขนาน มี 2 ชั้น สูง 7-10 มิลลิเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร  ใบประดับรูปใบหอก ผิวด้านนอกมีขนตรง และที่ขอบมีขนครุย ชั้นนอกรูปใบหอก ยาว 4-6 มิลลิเมตร กว้าง 0.5-1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ชั้นที่ 2 รูปขอบขนานยาว 8-10 มิลลิเมตร กว้าง 1-2 มิลลิเมตร ปลายแหลม แพปพัส สีขาวเป็นเส้นตรงแข็งมี 5 เส้น เรียง 1 ชั้น ยาว 5-6 มิลลิเมตร ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก ผลเล็กเรียว รูปกรวยแคบ ผิวด้านนอกมีขนหนาแน่น ยาว 2.5-3 มิลลิเมตร กว้าง 0.4-0.5มิลลิเมตร ไม่มีสัน พบขึ้นตามป่าโปร่งที่ดินค่อนข้างเป็นทรายทั่วๆไปในป่าเต็งรัง ป่าดิบ และป่าสนเขาทุกภาคของประเทศไทย และประเทศเขตร้อนทั่วโลก ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม-มกราคม

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ดอก

 

ผล

 

สรรพคุณ    
             หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ไอ บำรุงกำลัง บำรุงสมรรถภาพทางเพศ  ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไข้ ราก ต้มน้ำดื่ม หรือดองเหล้าดื่ม เข้ากับยากำลังเสือโคร่ง ม้ากระทืบโรงบำรุงร่างกายแก้ปวดเมื่อย ราก ลำต้น ใบ และผล ต้มน้ำดื่ม แก้โรคกระเพาะอาหาร แก้ไอ
             หมอยาพื้นบ้าน  ใช้ ทั้งต้น รสกร่อยขื่น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น ขับน้ำเหลืองเสีย แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้ไอ แก้วัณโรค บำรุงหัวใจ ขับเหงื่อ ขับระดู ขับพยาธิตัวกลม แก้ปัสสาวะพิการ บำรุงความกำหนัด แก้กระษัย ขับไส้เดือน แก้กามโรค แก้บวมน้ำ แก้นิ่ว แก้ไข้หวัด แก้เจ็บคอ แก้ตาแดง แก้ดีซ่าน แก้เลือดกำเดาออกง่าย แก้ฝี แก้แผลมีหนอง แก้แผลงู แก้แมลงมีพิษกัดต่อย แก้อักเสบ แก้แผลในกระเพาะอาหาร แก้แผลเปื่อยในปาก แก้เหน็บชา ราก รสกร่อยขื่น ขับปัสสาวะ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้หวัด แก้ไอเรื้อรัง แก้ท้องเสีย แก้บิด ขับพยาธิ ขับระดู บีบมดลูก ต้มเอาน้ำอมแก้ปวดฟัน แก้ฝี แผลมีหนอง บวมอักเสบทั้งหลาย เป็นยาคุมสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับไส้เดือน รักษาโรคบุรุษ ต้มดื่มแก้อาเจียน ใบ รสกร่อยขื่น รักษาบาดแผล แก้โรคผิวหนัง (ใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ เคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ทาแผล แก้โรคผิวหนังผื่นคัน) แก้ไข้ ขับปัสสาวะ แก้อ่อนเพลีย รักษากามโรค รักษาโรคบุรุษ เป็นยาคุมสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับไส้เดือน แก้ไอ ทำให้เกิดความกำหนัด รากและใบ รสกร่อยขื่น ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง แก้โรคแผลในกระเพาะอาหาร แก้บิด แก้กามโรคในสตรี ใช้สดหรือแห้งประมาณ 2 กำมือ ต้มดื่ม ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง แก้กระเพาะอาหารเป็นแผล ต้มอาบหลังคลอด  ไม่ระบุส่วนที่ใช้ บำรุงกำลัง ชูกำลัง ตัดกษัย บำรุงกษัยไม่ให้เกิด แก้ปัสสาวะพิการ บำรุงความกำหนัด ขับปัสสาวะ แก้ไข้จับสั่น แก้ไอ แก้ไข้ ขับพยาธิไส้เดือน แก้กามโรค แก้โรคหลอดลมอักเสบ แก้ปวดบวม แก้ตับอักเสบ แก้บิด รักษาตัวบวม รักษาไตอักเสบ

วิธีใช้
1.แก้เลือดกำเดา     ใช้ต้นสด 30-60 กรัม (หรือต้นแห้ง หนัก 10-15 กรัม)  ต้มกับเนื้อหมูพอประมาณ กินติดต่อกันนาน 4-5 วัน
2.แก้ดีซ่าน ใช้ต้นสด 120-240 กรัม ต้มกับเนื้อหมูพอประมาณ กินติดต่อกันนาน 4-5 วัน
3.แก้ท้องมาน  ใช้ต้นสด 60 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม เช้า-เย็น หรือตุ๋นกับเนื้อหมูรับประทาน
4.แก้ขัดเบา  ใช้ต้นสด15-30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม
5.แก้นิ่ว  ใช้ต้นสด 90 กรัม ต้มกับเนื้อหมู 120 กรัม เติมน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ต้มเคี่ยว กรองเอาแต่น้ำ แบ่งไว้ดื่ม 4 ครั้ง
6.แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้เจ็บคอ ใช้ต้นแห้ง 6 กรัม แช่ในน้ำร้อน 300 ซีซี (ประมาณขวดแม่โขง) นาน 30 นาที รินเอาน้ำดื่ม หรือจะบดเป็นผงปั้นเม็ดไว้รับประทานก็ได้
7.แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ  ใช้ต้นสด 30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม
8.แก้ฝีบวมหรือฝีเป็นหนอง  ใช้ต้นสด ตำผสมเกลือเล็กน้อย ละลายน้ำส้มสายชูพอข้นๆ พอก
9.แก้ฝีฝักบัว  ใช้ต้นสด 25 กรัม ใส่น้ำ 1 ขวด และเหล้า 1 ขวด ต้มดื่ม และใช้ต้นสดต้มกับน้ำ เอาน้ำล้างหัวฝีที่แตก

องค์ประกอบทางเคมี
            Crepiside E, cynaropicrin deacyl; cyanaropicrin-3-β-D-glucopyranoside deacyl; dotriacontan-1-ol; elephantopin, 11-13-dihydro-deoxy; elephantopin, 11-13-dihydro; elephantopin deoxy; elephantopin, iso-deoxy; friedelanol, epi; friedelinol, epi; lupeol; stigmasterol; stigmasterol 3-O- β-D-glucoside; triacontan-1-ol; zaluzanin C, gluco; scabertopin

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
             ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้อไวรัส ต้านความเป็นพิษต่อตับ ลดไข้ ลดการอักเสบ ลดความดันโลหิตและยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก กระตุ้นมดลูก ยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase, glutamate-oxaloacetate-transaminase และ glutamate-pyruvate-transaminase
             ตำรับยาสมุนไพรของไต้หวัน ชื่อ “Teng-khia-U” ประกอบด้วย Elephantopus scaber, Elephantopus mollis และ Pseudoelephantopus spicatus ที่สกัดด้วยน้ำ มีฤทธิ์ปกป้องตับจากการทำลายด้วยสารเคมี β-D-galactosamine และ acetaminophen โดยทำให้ระดับ sGOT และ sGPT ลดลง นอกจากนี้ตำรับดังกล่าวยังมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบโดยใช้การทดสอบด้วย carrageenan ในการเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนู
            การศึกษาผลของโด่ไม่รู้ล้มในหนูเพศผู้ต่อความกำหนัด คุณภาพน้ำอสุจิ อวัยวะเพศเสริม ขนาดและกล้ามเนื้อลึงค์ และสัดส่วนเพศลูก พบว่าสมุนไพรโด่ไม่รู้ล้ม เพิ่มการเกิด libido เปลี่ยนแปลงค่า osmolality และจำนวนอสุจิของน้ำอสุจิ ลดเปอร์เซ็นต์อสุจิเคลื่อนไหว เพิ่มน้ำหนักอวัยวะเพศเสริม และเพิ่มสัดส่วนเพศลูก เพศเมีย/เพศผู้

การทดสอบความเป็นพิษ
           น้ำต้ม หรือสารสกัด 50% เอทานอลจากพืชทั้งต้น ไม่มีพิษ เมื่อให้หนูถีบจักรกินแม้จะให้ในขนาดสูงถึง 6.0 กรัม/กิโลกรัม และพบว่าขนาดของสารสกัดทั้งสองชนิดที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50 มีค่ามากกว่า 2 กรัม/กิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้อง
           สารสกัดรากและใบที่หมักกับเหล้าโรง 40 ดีกรี เมื่อนำมาป้อนหนูทดลองในขนาดความเข้มข้น 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เพียงครั้งเดียว แล้วเก็บผลในวันที่ 14 ผลการทดสอบพบว่าหนูไม่แสดงอาการผิดปกติ ส่วนการทดสอบความเป็นพิษแบบระยะสั้น พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสําคัญของน้ำหนักตัว น้ำหนักตับ ไต ม้าม หัวใจ adrenal cortex และอัณฑะ รวมทั้งระดับเอนไซม์ BUN creatinine AST และ ALT ของหนูทุกกลุ่ม

 

ข้อมูลเครื่องยา :           phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting