ส้มลม

ชื่อสมุนไพร

ส้มลม

ชื่ออื่นๆ

เครือส้มลม (อุบลราชธานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Aganonerion polymorphum Pierre ex Spire

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Apocynaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้เถา เลื้อย ไม่มีมือเกาะ ลำต้นเรียบกลม ขนาดเล็กมีสีเขียว มีน้ำยางขาว กิ่งอ่อนมีขนละเอียด กิ่งแก่มีช่องอากาศกระจาย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปใบหอกหรือรูปวงรี กว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 4-9 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือแหลมติ่งหรือกลม โคนใบป้าน รูปหัวใจ หรือรูปกลม ขอบใบเรียบ รูปขอบใบขนาน  แผ่นใบเรียบเป็นมันวาวสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านบนไม่มีขน ผิวใบด้านล่างมีขน ใบที่ยังอ่อนมีรสเปรี้ยว แผ่นใบค่อนข้างบาง มักมีปื้นหรือจุดสีแดงกระจาย มีขนสั้นนุ่มตามซอกเส้นแขนงใบด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ 3-6 เส้น ก้านใบยาว 0.5-3.2 เซนติเมตร ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง แบบช่อเชิงหลั่น ช่อดอกยาว 3-9 เซนติเมตร มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ทรงกลม ปลายแหลม ความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ประมาณ 20-30 ดอก กลีบดอกสีชมพู หรือสีบานเย็น มี 5 กลีบ โคนเชื่อมเป็นหลอดสีเขียวแกมขาว ปลายแยกกัน บิดเวียนขวา รูปค่อนข้างกลม กลีบดอกส่วนมากมีสีชมพูอมแดง ปากหลอดมีสีอ่อน หลอดกลีบยาว 3.5-5 มิลลิเมตร กลีบยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ปากหลอดกลีบมีขนสั้นนุ่ม ก้านดอกยาว 1-3 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ยาว 3-4 มิลลิเมตร มีอับเรณูคล้ายหัวลูกศร เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ห้อง แยกกัน มีขน รังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร รวมยอดเกสร ฐานรองดอกมี 5 พู ใบประดับขนาดเล็กรูปไข่แคบๆ ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงสีเขียวเข้มปนแดง มี 5 กลีบ แยกกัน ยาวได้ประมาณ 3.5 มิลลิเมตร ปลายกลีบแหลม รูปไข่ ขอบกลีบมีขนครุยสั้นๆ ผลเป็นฝักคู่ โคนฝักติดกัน ฝักกลม ปลายฝักแหลม ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร เกลี้ยง ฝักสดมีสีเขียว เมื่อแห้งมีสีน้ำตาลและแตกตามยาวเป็นตะเข็บเดียว เมล็ดมีจำนวนมาก เมล็ดเรียวยาว ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ขนกระจุกยาว 1.5-3 มม.สีน้ำตาล มีขนสีขาวเป็นพู่ติดอยู่ ลอยไปตามลมได้ พบตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม ถึงกรกฎาคม ใบ ดอก และผล มีรสเปรี้ยว รับประทานได้


 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ  และ  ผล

 

ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ผล

 

เมล็ด


สรรพคุณ    
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  ราก ต้มน้ำดื่ม แก้โรคกระเพาะ ช่วยขับลม เข้ายาแก้ตกขาว ทั้งต้น ต้มน้ำอาบ แก้คัน
              ยาพื้นบ้าน  ใช้  ราก ต้มน้ำดื่ม แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง หรือผสมกับต้นเล็บแมว ต้นตับเต่าโคก ต้นมะดูก ต้นเปล้าใหญ่หรือเปล้าน้อย ต้นมะเดื่ออุทุมพร ต้นกำจาย ต้นกำแพงเจ็ดชั้น และต้นกระเจียน ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย ลำต้น ต้มน้ำดื่มแก้ลมวิงเวียน

              ตำรายาไทย ราก แก้ลม แก้ช้ำใน แก้ไข้ ขับเสมหะ และโลหิต

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting