ชื่อสมุนไพร | ลำดวน |
ชื่ออื่นๆ | หอมนวล (ภาคเหนือ) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Melodorum fruticosum Lour. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Annonaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร เปลือกสีเทา ผิวเรียบ ทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำ และแน่นทึบ ลำต้นตรง แตกกิ่งใบ จำนวนมาก เมื่อลำต้นแก่เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมดำ มีรอยแตกตามแนวยาวลำต้น กิ่งอ่อนมีสีเขียวสด ยอดอ่อนและใบอ่อนมีสีแดง ใบเดี่ยว เรียงแบบสลับ รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร มีสีเขียวเข้มเป็นมัน โคนใบและปลายใบแหลมหรือสอบ ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นกลางใบสีออกเหลืองนูนเด่นทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 0.5-0.7 เซนติเมตร ดอกเดี่ยว หรือช่อกระจุก 2-3 ดอก ออกตามซอกใบ หรือปลายกิ่ง สีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม รูปไข่ป้อมถึงรูปเกือบกลม โคนกลีบกว้าง ปลายกลีบแหลม กลีบดอก 6 กลีบ หนาแข็ง สีเขียวปนเหลือง มีขนนุ่ม แยกเป็น 2 วง ชั้นนอกมี 3 กลีบ แผ่แบน รูปสามเหลี่ยมมีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกวงใน โคนกลีบกว้าง ปลายกลีบแหลม กว้างราว 1 เซนติเมตร ยาวราว 1.2 เซนติเมตร กลีบดอกชั้นในงุ้มเข้าหากันเป็นรูปโดม ขนาดเล็กกว่า แต่หนาและโค้งกว่า กว้างราว 0.6 เซนติเมตร ยาวราว 0.9 เซนติเมตร ดอกบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้มีขนาดเล็ก เกสรเพศผู้และรังไข่มีจำนวนมากอยู่บนฐานสั้นๆ รังไข่ ไม่มีขน กลีบเลี้ยง 3 กลีบ มีขนาดเล็ก รูปเกือบกลม ปลายกลีบมน เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ก้านดอกยาว 2.5 เซนติเมตร ผลกลุ่ม มีผลย่อย 15-20 ผล ก้านผลยาว ผลรูปทรงกลมรีสีเขียว ขนาด 6-8 มิลลิเมตร เมื่อแก่สีแดง และผลสุกมีสีน้ำเงินดำ ภายในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด ผลรับประทานได้มีรสหวานอมเปรี้ยว พบตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ติดผลราวเดือนมกราคมถึงมีนาคม
ลักษณะวิสัย
เปลือกต้น
ใบ และ ดอก
ดอก
ผลอ่อน
ผลสุก
สรรพคุณ
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ เนื้อไม้และดอกแห้ง ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงหัวใจ แก้ลม วิงเวียน บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้ไข้
ตำรายาไทย ดอก มีกลิ่นหอม รสเย็น จัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้ง 9 ใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอม ดอกแห้ง เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ลม แก้ไข้
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/