ลำโพง

ชื่อสมุนไพร

ลำโพง

ชื่ออื่นๆ

ลำโพงขาว มะเขือบ้า ลำโพงกาสลัก กาสลัก มะเขือบ้าดอกดำ

ชื่อวิทยาศาสตร์

Datura metel L. var. fastuosa (Bernh.) Danert.

ชื่อพ้อง

Datura fastuosa

ชื่อวงศ์

Solanaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วง ใบเดี่ยว รูปไข่ ออกเรียงสลับ กว้าง 8-15 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบมีจักห่างๆ ใบเรียบ โคนใบไม่เท่ากัน ดอกโต รูปปากแตรหรือลำโพง ออกดอกเดี่ยว ตามซอกใบ กลีบดอกสีม่วงโคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน กลีบซ้อนกัน 2-3 ชั้น ดอกยาวประมาณ 3.5-5.5 นิ้ว กลีบเลี้ยงสีเขียว ติดกันเป็นหลอด ยาวครึ่งหนึ่งของความยาวดอก ผลรูปทรงค่อนข้างกลม ขนาดประมาณ 1.1.5 นิ้ว ผิวเป็นขนคล้ายหนามเป็นตุ่ม เนื้ออ่อนเป็นตุ่มๆรอบ ขั้วเป็นแผ่นกลมหนาริมคม ผลสีเขียวอมม่วง พอผลแห้งแตกออกได้ เมล็ดมีจำนวนมาก เมล็ดกลมแบนเหมือนเมล็ดมะเขือ  ลำโพงชนิดนี้เรียกว่า "ลำโพงกาสลัก" ลำต้นสีม่วงดำมัน ใบสีเขียวเข้ม ดอกสีม่วงดำ เป็นชั้นๆ มีจาก 2-7 ชั้น ในการทำยา นิยมใช้ลำโพงกาสลัก ดอกสีม่วงดำ ยิ่งซ้อนมากชั้นยิ่งมีฤทธิ์แรง
ส่วนลำโพงขาว จะมีลำต้นและใบสีเขียวอมเหลือง ดอกสีขาว มีชั้นเดียว ผลสีเขียว ผิวมีหนามยาว
 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ  และ  ดอก

 

ดอก

 

ผล

 

ผล

 

ผลแห้ง  และ  เมล็ด


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย  ใช้ ใบ รสขมเมาเบื่อ ตำพอกฝี ทำให้ยุบ แก้สะอึกในไข้พิษไข้กาฬ ยาพอกแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้แผลเรื้อรัง แก้พิษสัตว์กัดต่อย แก้พิษฝี แก้ปวดแสบบวมที่แผล แก้ปวดบวม อักเสบ ใช้ทาแก้อักเสบเต้านม มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ แก้อาการปวดเกร็งท้อง และขยายหลอดลม แก้หอบหืด มีฤทธิ์กดสมอง แก้อาเจียนจากเมารถเมาเรือ แต่มีอาการข้างเคียงคือ ปากคอแห้ง ใบและยอด มีอัลคาลอยด์ ที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ แก้อาการปวดท้องเกร็ง และขยายหลอดลม ดอก รสเมาเบื่อ ตากแห้งผสมยาเส้นสูบ แก้หอบหืด โพรงจมูกอักเสบ แก้ริดสีดวงจมูก มีสารแก้การตีบตัวของหลอดลม เมล็ด รสเมาเบื่อ คั่วให้หมดน้ำมัน ปรุงยาแก้ไข้พิษ ไข้กระสับกระส่าย น้ำมันจากเมล็ด รสเมาเบื่อ ปรุงยาใส่แผล แก้กลากเกลื้อน ผื่นคัน หิดเหา เมล็ดทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย ขัดยอก โดยนำเมล็ด 30 กรัม ทุบพอแหลก แล้วแช่กับน้ำมันพืช ทาตรงบริเวณที่ปวดเมื่อย หรือขัดยอก จะช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ต้องแช่เอาไว้ประมาณ 7 วัน จึงจะนำมาใช้ได้ และใช้ใส่ฟันที่เป็นรู ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ราก รสเมาเบื่อหวาน ฝนทาพิษร้อน ดับพิษฝี แก้ปวดบวมแก้อักเสบ สุมเป็นถ่านปรุงยารับประทาน แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้เซื่องซึม เปลือกผล รสเมาเบื่อ แก้มะเร็ง คุดทะราด แก้กระษัย แก้ริดสีดวง ทุกส่วน มีฤทธิ์เป็นยาเสพติดระงับปวด แก้อาการเกร็ง ทั้งต้น เป็นยาระงับปวด แก้อาการเกร็ง น้ำคั้นจากต้นเมื่อหยอดตาจะทำให้ม่านตาขยาย

ข้อควรระวัง    
             ผลและเมล็ดเป็นพิษ มีสารอัลคาลอยด์ hyoscine, hyoscyamine  ถ้ากินเข้าไปทำให้เกิดอาการเริ่มต้นคือสายตาพร่ามัว ปากแห้ง กระหายน้ำมาก ม่านตาขยายและปรับสายตาไม่ได้ทำให้ตาไม่สู้แสง  ผิวหนังร้อนแดงและมีผื่นแดงตามใบหน้า  คอและหน้าอก ไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ ความรู้สึกสับสน การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ ถ้าได้รับมาก วิกลจริต เพ้อคลั่ง เคลิ้มฝัน มีอาการทางจิตและประสาท ตื่นเต้น ตาแข็ง หายใจไม่สะดวก พูดไม่ออก หายใจช้าลง ตัวเขียว เมื่อแก้พิษหายแล้ว จะมีอาการวิกลจริตติดอยู่ตลอดไป รักษาไม่ค่อยหาย

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง :  www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting